UN เผยต้องใช้เวลาอย่างน้อย 16 ปีและงบมหาศาล ในการบูรณะฟื้นฟูฉนวนกาซา

03 พ.ค. 2567 | 19:14 น.

รายงานของยูเอ็นระบุว่า ความเสียหายจากสงครามทำให้สภาพบ้านเมืองในเขตฉนวนกาซาที่ถูกกองทัพอิสราเอลถล่มมาเป็นเวลาเกือบ 7 เดือนแล้วนั้น ย่อยยับอย่างหนัก จนคาดว่า หากจะบูรณะฟื้นฟู ก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 16 ปี และงบ 4-5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ  

KEY

POINTS

  • สงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่ใกล้ครบ 7 เดือนในสัปดาห์หน้า ทำให้การพัฒนาในฉนวนกาซาถอยหลังไป 40 ปี บ้านเรือนเสียหาย 370,000 หลังคาเรือน 
  • งานด้านการบูรณะฟื้นฟูบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายในกาซา จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 16 ปี ใช้งบ 40,000-50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • หากสงครามยืดเยื้อ 9 เดือน หรือลากยาวถึงเดือนกรกฎาคม คนชั้นกลางในกาซาจำนวนมากจะกลายมาเป็นคนยากจน และคนยากจนจะเพิ่มสัดส่วนจาก 38.8% เป็น 60.7%

รายงานของสหประชาชาติ (UN) ที่เผยแพร่เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (2 พ.ค.) ชี้ให้เห็นว่า งานด้านการบูรณะฟื้นฟูบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายในเขตฉนวนกาซา น่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 16 ปี ซึ่งหมายถึงปีค.ศ. 2040 หรืออาจจะยาวนานกว่านั้น

ขณะนี้การโจมตีของกองทัพอิสราเอล ที่รู้จักกันในนาม กองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) ดำเนินมาเกือบ 7 เดือนเเล้วนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 และสร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ “ภาวะสงครามทำให้การพัฒนาในเขตฉนวนกาซาถอยหลังไป 40 ปี และการจะบูรณะฟื้นฟูทั้งเมืองขึ้นมาใหม่ต้องใช้งบประมาณอย่างน้อย 40,000 – 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ” อับดัลเลาะห์ อัล ดาร์ดารี (Abdallah Al Dardari) ผู้อำนวยการ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP (United Nations Development Programme) ประจำภาคพื้นรัฐอาหรับ กล่าวกับรอยเตอร์ พร้อมอธิบายว่า

การฟื้นฟูบูรณะฉนวนกาซาขั้นต้นระยะ 3 ปีแรก เพื่อให้ชาวปาเลสไตน์หลายแสนคนมีที่พำนักพักพิงชั่วคราวในพื้นที่เดิมที่พวกเขาเคยอยู่ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานสำหรับชุมชน จะต้องใช้งบประมาณระหว่าง 2,000-3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการฟื้นฟูบูรณะทั้งหมดจะต้องใช้งบระหว่าง 40,000 -50,000 ล้านดอลลาร์ (หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.47 – 1.84 ล้านล้านบาท)

งานด้านการบูรณะฟื้นฟูบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายในเขตฉนวนกาซา น่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 16 ปี (ภาพข่าว AFP)    

การระดมโจมตีฉนวนกาซาซึ่งกำลังจะครบรอบ 7 เดือนในวันอังคารที่ 7 พ.ค.นี้ ทางฝ่ายอิสราเอลอ้างว่าเพื่อถอนรากถอนโคนกลุ่มฮามาสซึ่งเป็นปาเลสไตน์ติดอาวุธที่มีอำนาจปกครองฉนวนกาซา และเพื่อช่วยเหลือตัวประกันที่ถูกกลุ่มฮามาสจับตัวไปตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2566

อิสราเอลระบุว่า กลุ่มฮามาสได้บุกเข้ามาในเขตแดนของอิสราเอลเมื่อเช้าตรู่วันที่ 7 ต.ค.ปีที่แล้ว และสังหารชาวอิสราเอลรวมทั้งชาวต่างชาติอย่างน้อย 1,200 คน จับไปเป็นตัวประกันอีกราว 250 คนซึ่งข้อมูลฝ่ายอิสราเอลเชื่อว่า มีตัวประกันเสียชีวิตแล้วมากกว่า 30 คน  

อย่างไรก็ตาม การโจมตีกลับของกองทัพอิสราเอลตั้งแต่นั้นมาจนถึงขณะนี้ ได้ปลิดชีวิตชาวปาเลสไตน์ในเขตฉนวนกาซาไปแล้วมากกว่า 34,000 คน รวมทั้งเด็กและสตรี บาดเจ็บอีกเกือบ 78,000 คน (ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขกาซาซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของฮามาส)

การโจมตีของกองทัพอิสราเอลได้ปลิดชีวิตชาวปาเลสไตน์ในเขตฉนวนกาซาไปแล้วมากกว่า 34,000 คน

เด็กน้อยในฉนวนกาซา ตกเป็นเหยื่อของสงครามไม่ต่างจากผู้ใหญ่

รายงานของ UNDP ระบุว่า กลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยอดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนั้นมีสัดส่วนคิดเป็นอย่างน้อย 5% ของประชากรทั้งหมดในฉนวนกาซาที่มีอยู่ราว 2.3 ล้านคน

ภาวะสงครามทำให้บ้านเรือนและอาคารต่างๆในฉนวนกาซาถูกถล่มทำลายไปแล้วราว 370,000 หลังคาเรือน ส่วนร้านค้าหรืออาคารพาณิชย์นั้นเสียหายไปราว 9%

“ในสมมุติฐานที่ดีที่สุดนั้น จะต้องใช้เวลา 16 ปี หรือจนถึงปีค.ศ. 2040 ในการสร้างบ้านเรือนที่ถูกทำลายไปขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่การซ่อมแซม” รายงานของ UNDP ระบุ

ทั้งนี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นทำให้การพัฒนาในเขตฉนวนกาซาต้องถอยหลังไปถึง 40 ปี ซึ่งหมายความว่า การศึกษาและการรู้หนังสือของประชากรในเขตฉนวนกาซาจะได้รับผลกระทบหนักมากแม้เมื่อความขัดแย้งได้ยุติลงแล้ว

ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสงคราม ทำให้การพัฒนาในเขตฉนวนกาซาต้องถอยหลังไปถึง 40 ปี

รายงานระบุว่า ผลกระทบจะยังคงอยู่เป็นระยะเวลานาน หากไม่มีการเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างรวดเร็ว เช่น การจัดสร้างโรงเรียนชั่วคราว สถานีอนามัยชั่วคราว หรือหน่วยงานช่วยเหลือประชาชนด้านสังคมและสุขภาพจิต และต้องรีบจัดหาสาธารณูปการพื้นฐาน เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า รวมทั้งบริการพื้นฐานด้านสุขอนามัยให้กับประชาชนด้วย

รายงานชี้ว่า ถึงแม้สงครามจะส่งผลกระทบต่อทุกคนในฉนวนกาซาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ คนชั้นกลาง ทั้งนี้ มีการประเมินว่าหากสงครามยังคงยืดเยื้อไปจนถึงเดือนกรกฎาคม คนชั้นกลางในกาซาจำนวนมากจะกลายมาเป็นคนยากจน และชาวปาเลสไตน์ที่จัดอยู่ในกลุ่มคนยากจนจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.32 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 60.7% ของจำนวนประชากรทั้งหมด จากเดิมที่มีสัดส่วนเพียง 38.8% เมื่อสิ้นปี 2566  

นับตั้งแต่ที่สงครามเปิดฉากขึ้น จีดีพีของปาเลสไตน์หดตัวลงมาแล้ว 25% หรือคิดเป็นมูลค่าเกือบ 7,000 ล้านดอลลาร์

ในแง่เศรษฐกิจนั้น UNDP ระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของปาเลสไตน์ได้รับผลกระทบเสียหายอย่างมากจากสงครามครั้งนี้ โดยจีดีพีหดตัวลงมาแล้ว 25% หรือคิดเป็นมูลค่าเกือบ 7,000 ล้านดอลลาร์ แต่ถ้าสงครามยืดเยื้อเป็นเวลา 9 เดือน หรือยังคงมีต่อไปจนถึงเดือนกรกฎาคมนี้ ก็เชื่อว่า จีดีพีจะลดลงได้มากถึง 29%