"ปูติน"เยือนจีนสัปดาห์นี้ ย้ำมิตรไมตรี ขณะความสัมพันธ์ "จีน-สหรัฐ" ถดถอย

15 พ.ค. 2567 | 08:06 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2567 | 09:20 น.

ปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย มีกำหนดเยือนจีนอย่างเป็นทางการสัปดาห์นี้ ตามคำเชิญของสี จิ้นผิง ผู้นำจีน หลังจากที่ล่าสุดทั้งคู่เคยพบกันเมื่อปูตินเข้าร่วมงานประชุม "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ที่กรุงปักกิ่ง เดือนตุลาคมที่ผ่านมา

กระทรวงการต่างประเทศจีน เปิดเผยวานนี้ (14 พ.ค.) ว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย จะเยือนจีนอย่างเป็นทางการในสัปดาห์นี้ โดยปธน.ปูตินจะเยือนกรุงปักกิ่งในวันพฤหัสบดี (16 พ.ค.) และปฏิบัติภารกิจที่นั่นเป็นเวลา 2 วัน ตามคำเชิญของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

กระทรวงการต่างประเทศจีนระบุว่า นี่จะเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกของผู้นำรัสเซีย นับตั้งแต่ที่เขาได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อเป็นสมัยที่ 5 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และขณะเดียวกัน ก็เป็นการเดินทางเยือนจีนเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 6 เดือน

โดยครั้งล่าสุดก่อนหน้านี้ ปธน.ปูติน เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนตุลาคม 2566 เพื่อเข้าร่วมงานประชุม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ซึ่งเป็นแนวคิดยุทธศาสตร์ที่ริเริ่มโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และมีการเปิดตัวมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2013 เพื่อกระตุ้นการค้าและการลงทุนของจีน รวมทั้งของภูมิภาค ด้วยการพัฒนาปรับปรุงการเชื่อมต่อทางคมนาคมของจีนกับประเทศต่าง ๆ ของโลก

ไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่มอสโกจะส่งกองทัพรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 ปธน.สีและปธน.ปูติน ได้ลงนามในคำสัญญาประกาศความเป็น “หุ้นส่วนทวิภาคี” แบบ “ไร้ขีดจำกัด” และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รัฐบาลปักกิ่งก็กลายมาเป็นหุ้นส่วนทางการทูตและทางเศรษฐกิจที่มอสโกไว้ใจมากที่สุด ขณะที่ประเทศตะวันตกอื่น ๆ นำโดยสหรัฐอเมริกาและยุโรป ประกาศดำเนินมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจขั้นรุนแรงต่อรัสเซียเพื่อตอบโต้การที่รัสเซียส่งกองทัพเข้ารุกรานยูเครน

เมื่อครั้งที่เยือนกรุงปักกิ่งในเดือนตุลาคม 2566 นั้น ปธน.ปูตินยกย่องปธน. สี จิ้นผิง ของจีน ว่า เป็นผู้นำที่ได้รับการยอมรับในเวทีโลก และเป็นผู้นำโลกที่แท้จริง ซึ่งทั้งสองชาติมีความทรงจำที่ดีต่อกัน ทั้งยังระบุว่า แนวคิดและความริเริ่ม “หนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง" (BRI) ที่ปธน.สี จิ้นผิง นำเสนอ มีความสำคัญอย่างมาก ก่อนหน้านั้น ผู้นำทั้งสองเคยพบปะกันมาแล้วถึง 42 ครั้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดี ที่ตั้งอยู่บนอุดมการณ์-หลักการคล้ายๆกัน เข้าใจปัญหาซึ่งกันและกัน และความเป็นมิตรสหายที่พร้อมจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

สื่อระบุว่า เมื่อเจอกันครั้งนั้น สี จิ้นผิง จับมือสองมือกับปูติน แล้วบอกว่า "ยินดีต้อนรับเพื่อนเก่า" ขอยินดีต้อนรับสู่ประเทศจีน

ปัจจุบัน มูลค่าการค้าทวิภาคีจีน-รัสเซีย อยู่ที่ระดับ 240,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูล ณ ปี 2566) ขยายตัวในอัตราถึง 26.3% เมื่อเทียบกับปี 2565 

จีน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันอันดับต้นๆของโลก นำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงจำนวนมากจากรัสเซีย ซึ่งถูกคว่ำบาตรโดยชาติตะวันตกในช่วงเวลานี้ ขณะที่รัสเซียเอง ก็นำเข้าสินค้าหลากหลายชนิดจากจีนเพิ่มขึ้น รวมไปถึงรถยนต์และสมาร์ทโฟน

แนวโน้มดังกล่าว สวนทางกับการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาซึ่งลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2562 โดยในปีที่ผ่านมา (2566) การค้าทวิภาคีระหว่างจีน-สหรัฐมีมูลค่า 664,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 11.6% เมื่อเทียบกับปี 2565