รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิชนักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด ได้ออกบทวิเคราะห์ “ดัชนีความเสี่ยงทุเรียนไทย ปี 2567 และประเมินทุเรียนไทยใน 5 ปีข้างหน้า” ใจความสำคัญระบุว่า หลายปีที่ผ่านมา ทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจหนึ่งเดียวที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างมาก ในปี 2566 ทุเรียนไทยมีมูลค่าส่งออก 1.4 แสนล้านบาท แซงหน้ามูลค่าการส่งออกยางพารา และมันสำปะหลัง แต่ยังเป็นรองมูลค่าการส่งออกข้าว โดยมูลค่าการส่งออกทุเรียนคิดเป็นสัดส่วน 25% ของมูลการค่าส่งออกรวมของพืชส่งออกหลัก 4 ชนิด (ข้าว ทุเรียน ยางพารา และมันสำปะหลัง)
อย่างไรก็ตามมูลค่าการส่งออกทุเรียนในปี 2567 ต้องลุ้นว่ายังสามารถรักษาระดับการส่งออกเหมือนในปี 2566 หรือไม่ เพราะมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน โดยในปี 2567 และในอีก 5 ปีข้างหน้า ทุเรียนไทยมีความเสี่ยงจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ การประสบปัญหาภัยแล้งของเกษตรกร ตามด้วยการส่งออกทุเรียนเวียดนามที่เพิ่มสูงขึ้น และต้นทุนการขนส่งไปประเทศจีนที่เพิ่มสูงขึ้น
ส่วนปัจจัยเสี่ยงด้านอื่น ๆ ได้แก่ ระหว่างปี 2556-2566 พื้นที่ปลูกและผลผลิตทุเรียนเพิ่มขึ้นสูงมาก โดยผลผลิตทุเรียนเพิ่มจาก 5 แสนตัน เป็น 1.4 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 180% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการขยายผลผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 1,500 % ในขณะที่พื้นที่ปลูกทั้งประเทศเพิ่มขึ้น 80%
สำหรับภัยแล้งหากไม่มีการแก้ไขหรือจัดการภัยแล้งอย่างเป็นรูปธรรม คาดในอีก 5 ปีข้างหน้า ผลผลิตทุเรียนไทยจะลดลง 53% (จากสวนทุเรียนที่ให้ผลผลิตแล้วและผลผลิตใหม่) ผลผลิตจะหายไป 6.4 แสนตัน สำหรับปี 2567 ภัยแล้งจะทำให้ผลผลิตทุเรียนลดลง 42% หรือผลผลิตลดลง 5.4 แสนตัน
ขณะเดียวกันช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตทุเรียนเวียดนามคู่แข่งสำคัญเพิ่มขึ้น 200% โดยปี 2566 เวียดนามมีผลผลิตทุเรียน 8 แสนตัน เพิ่มจาก 2.7 แสนตัน (ปี 2557) มีพื้นที่ปลูกเกือบ 7 แสนไร่ (6.8 แสนไร่) พื้นที่ปลูกทุเรียนเวียดนามสัดส่วน 90% ปลูกในจังหวัดสามเหลื่ยมปากแม่น้ำโขง (Mekong River Delta) จังหวัดที่ปลูกมากที่สุดคือจังหวัดดั๊กลัก (Dak Lak) คิดเป็น 21% ของผลผลิตทั้งหมด ตามด้วยจังหวัดเตียนซาง (Tien Giang) และเลิมด่ง (Lam Dong) เป็นต้น
สำหรับไตรมาสที่ 1/2567 เวียดนามส่งออกทุเรียนไปจีนเพิ่มขึ้น 105% อยู่ที่ 36,800 ตัน ขณะที่ไทยส่งออกในช่วงเวลาเดียวกัน 17,900 ตัน คาดทั้งปี 2567 เวียดนามสามารถส่งออกทุเรียนไปจีนอยู่ที่ 5 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้น 30% จากปีที่ผ่านมา ขณะที่ไทยคาดส่งออกอยู่ที่ 8 แสนตัน (ลดลงเกือบ 2 แสนตัน)
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ กล่าวอีกว่า ณ เวลานี้ต้นทุนการผลิตทุเรียนไทยสูงกว่าเวียดนาม 2 เท่า โดยปี 2566 ต้นทุนการผลิตทุเรียนเวียดนามอยู่ที่ 15 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) และจะเพิ่มขึ้นเป็น 19 บาท/กก.ในปี 2567 ขณะที่ต้นทุนการผลิตทุเรียนไทยเพิ่มขึ้น 10 บาท/กก.
ในอนาคต “ล้งทุเรียนไทย” จะปิดตัวเพิ่มขึ้น โดยระหว่างปี 2565 ถึง 2567 มีล้งจีนเพิ่มขึ้น 665 ราย ขณะที่ล้งไทยปิดตัวจาก 25 ราย เหลือ 10 ราย และในอนาคตคาดว่าล้งไทยจะปิดตัวเพิ่มขึ้น เหลือไม่เกิน 5 ราย
ทั้งนี้ในปี 2567 คาดในธุรกิจทุเรียนไทยจะมีเงินสะพัด 9.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 เท่ากับ 1.4 แสนล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 16.2% โดยภาคตะวันออกมีเงินสะพัดมากที่สุด รองลงมาคือภาคใต้ และภาคเหนือ ตามลำดับ ธุรกิจที่มีเงินสะพัดมากที่สุดคือ ธุรกิจล้ง
"ภัยแล้งเป็นปัญหาหลัก และปัญหาเร่งด่วนที่ประเทศไทยต้องรีบจัดการและแก้ไขโดยด่วนให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยต้องจัดการหาและบริหารน้ำให้กับเกษตรกรทุเรียนและสินค้าเกษตรอื่น ๆ ให้มีน้ำเพียงพอตลอดทั้งปีการผลิต ไม่อย่างนั้นจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการผลิต รายได้ของเกษตรกร และราคาสินค้าที่แพงขึ้น นอกจากนี้ต้องเน้นเรื่องคุณภาพ เพราะทุเรียนเวียดนามจะเป็นคู่แข่งสำคัญของทุเรียนในอนาคต คาดในอีก 3 ปีข้างหน้า ทุเรียนเวียดนามจะผลิตใกล้เคียงกับทุเรียนไทย ดังนั้นทุเรียนไทยต้องหันมาเน้นคุณภาพและมาตรฐานเข้าสู้"
ขณะเดียวกันนอกจากพึ่งพาตลาดจีนเป็นหลักแล้ว ต้องเร่งเจาะตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ตลาดอเมริกา อินเดีย ยุโรป ประเทศในเอเชียอื่น ๆ รวมถึงอาเซียน