KEY
POINTS
สำนักข่าวต่างประเทศรวมทั้งบลูมเบิร์กและรอยเตอร์รายงานว่า ทำเนียบขาว ได้ประกาศเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าจะปกป้อง อุตสาหกรรมแผงโซลาร์ภายในประเทศ จากการคุกคามของคู่แข่งอย่าง จีน ด้วยการจะ ยุติมาตรการยกเว้นภาษี การนำเข้าแผงโซลาร์ที่ผลิตโดยบริษัทจีนในต่างประเทศ ที่กำลังจะสิ้นอายุเร็วๆนี้ และจะช่วยผ่อนผันกฎระเบียบ ทำให้การขอสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในอเมริกา ทำได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ โฆษกทำเนียบขาวระบุว่า สหรัฐจะยกเลิกมาตรการยกเว้นภาษีนำเข้าแผงโซลาร์แบบสองหน้า (bifacial solar panels) หรือ แผงโซลาร์ที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งกลายเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ใช้ในโครงการแผงโซลาร์ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ยังส่งสัญญาณจะไม่ต่ออายุมาตรการงดเว้นภาษีแผงโซลาร์ที่ผลิตโดยบริษัทจีนในประเทศมาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม และไทย ที่ได้รับการงดเว้นภาษีให้เมื่อ 2 ปีก่อนตามคำขอของผู้พัฒนาโครงการแผงโซลาร์ของสหรัฐเอง ที่ยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนจากบริษัทเหล่านี้ เพื่อให้สามารถแข่งขันในด้านต้นทุนได้ แต่ในภายหลัง ทำเนียบขาวพบว่า บริษัทอเมริกันได้ขยายกิจการมากขึ้น และสินค้าเหล่านี้ถูกตีตลาดจากคู่แข่งอย่างจีนที่กดราคาต่ำกว่าต้นทุน
มาตรการดังกล่าวกำลังจะหมดอายุลงในเดือนมิถุนายนนี้ หากไม่มีการต่ออายุการยกเว้นภาษี นั่นก็หมายความว่า แผงโซลาร์เซลล์นำเข้าจากไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา อาจจะต้องเจอกำแพงภาษีสูงถึง 250%
สถิติชี้ว่า สหรัฐนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จากไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา คิดเป็นสัดส่วนราว 80% ของจำนวนนำเข้าทั้งหมด
และเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศ ด้านกระทรวงการคลังสหรัฐได้ออกกฎเกณฑ์ใหม่ในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้พัฒนาโครงการ "พลังงานสะอาด" ที่ใช้ชิ้นส่วนซึ่งผลิตในอเมริกาเอง โดยเสนอจะเพิ่มประโยชน์ทางภาษีในรูป tax credit ให้อีก 10% จากเดิมที่ให้ไว้ 30% ตามที่รัฐบาลจัดสรรให้ภายใต้กฎหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศภายใต้ชื่อกฎหมาย Inflation Reduction Act
มาตรการทั้งหมดทั้งมวลดังกล่าวมานี้ มีขึ้นในช่วงที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งผลักดันนโยบายเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติ รวมทั้งการลดการพึ่งพาสินค้าจากจีน กำลังเข้าสู่ช่วงของการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งใหญ่ในเดือนพฤศจิกายนนี้
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (15 พ.ค.) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ได้เปิดการสอบสวนข้อกล่าวหากรณีแผงโซลาร์ที่นำเข้าจาก 4 ประเทศอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม และไทย ฐานมีมาตรการอุดหนุนอย่างไม่เป็นธรรม และจำหน่ายในราคาต่ำกว่าต้นทุน จนกระทบกับความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการอเมริกันในธุรกิจเดียวกันนี้
รายงานข่าวระบุว่า เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์แผงพลังงานแสงอาทิตย์ในสหรัฐ อาทิ Convalt Energy Inc., First Solar Inc., Hanwha Qcells USA Inc. และ Mission Solar Energy LLC ได้ยื่นขอให้ทางการสหรัฐ ออกมาสอบสวนบริษัทชาติอาเซียนเหล่านี้ และว่าการใช้มาตรการทางภาษีเป็นสิ่งจำเป็นในการตอบโต้การปฏิบัติทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม จากคู่แข่งอย่างกัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม และไทย
การสอบสวนจะดำเนินการควบคู่กันไป โดยมีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเป็นผู้พิจารณาว่า มีการทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนราคาจากภาครัฐเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และหากพบว่า มีการกระทำดังกล่าวจริง จะต้องพิจารณาต่อไปว่า ส่วนต่างของการทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนจากรัฐมีจำนวนเท่าใด และอีกด้านหนึ่งทางคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (International Trade Commission – ITC) จะตัดสินว่ามีการคุกคามหรือผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศหรือไม่ ซึ่งทาง ITC เพิ่งหารือในประเด็นนี้เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
เมื่ออ้างอิงจากข้อมูลที่ค้นพบเบื้องต้น บริษัทผู้นำเข้าจะถูกบังคับให้ชดเชยเป็นตัวเงินกับสินค้านำเข้าที่ได้รับผลประทบ บนพื้นฐานของภาษีนำเข้าโดยประมาณ ภายในเวลา 4 เดือนนับจากนี้
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานทางเลือกและผู้ผลิตจากต่างประเทศหลายรายได้ออกมาคัดค้านการเปิดการสอบสวนดังกล่าว อาทิ NextEra Energy Inc. ที่ขอให้ทางกระทรวงพาณิชย์สหรัฐปฏิเสธคำร้องที่ยื่นขอมาอย่างไม่เหมาะสมนี้ ส่วน Canadian Solar Inc. ชี้ว่า บริษัทที่ยื่นคำร้องไม่ได้ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมอย่างเพียงพอ และ Illuminate USA LLC ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนจาก Invenergy LLC และ LONGi Green Energy Technology Co. ระบุว่าการสอบสวนมุ่งเป้าไปที่แผงโซลาร์ซิลิคอน ที่ปัจจุบัน ไม่ได้มีการผลิตในสหรัฐอีกแล้ว
ความห่วงกังวลของผู้ประกอบการเหล่านี้ก็คือ พวกเขายังต้องการใช้ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่ได้รับการยกเว้นภาษีจากประเทศในเอเชียเหล่านี้ มาช่วยในการขยายและพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดของสหรัฐเอง หากต้องจ่ายภาษีนำเข้าแพงขึ้น พวกเขาก็ต้องสำรองเงินไว้สำหรับต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้นมาก และอาจต้องมองหาแหล่งนำเข้าสำรองจากประเทศอื่นๆด้วย