เมื่อสงครามการค้ารอบใหม่ปะทุ "ไทย" อาจดึงดูดยักษ์ใหญ่ผู้ผลิต EV

13 พ.ค. 2567 | 05:00 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ค. 2567 | 05:11 น.

สหรัฐฯ เตรียมประกาศเก็บภาษีรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่จากจีน ขณะที่ Tesla และผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ กำลังดิ้นรนเพื่อกระตุ้นความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากตลาดในยุโรปและสหรัฐฯ ชะลอตัว และจีนเพิ่มการผลิตรุ่น EV ราคาประหยัด ทำให้ "ไทย" อยู่ในจุดที่ดึงดูดผู้ผลิต EV

KEY

POINTS

  • สหรัฐฯ มุ่งมั่นจะจำกัดความสามารถของจีน โดยเตรียมแผนขึ้นภาษี สินค้าอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของจีน รถยนต์ไฟฟ้านำเข้าจากจากจีนต้องเสียภาษีเพิ่ม 4 เท่า 
  • Tesla เเละผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น ดิ้นรนเพื่อกระตุ้นความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากตลาดในยุโรปและสหรัฐฯ ชะลอตัว เเละจีนเพิ่ม EV ราคาประหยัด
  •  "ไทย" ซึ่งเป็น "มหานครแห่งยานยนต์ไฟฟ้า" ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถูกจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์สีเขียวได้รับความสนใจเเละเติบโตรวดเร็ว

รัฐบาลสหรัฐฯ มุ่งมั่นจะจำกัดความสามารถของจีน โดยรายงานระบุว่า ได้มีการเตรียมแผนขึ้นภาษี สินค้าอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของจีนที่คาดว่าจะมีการประกาศต้นสัปดาห์นี้ ซึ่งจะทำให้ รถยนต์ไฟฟ้านำเข้าจากจากจีน ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น 4 เท่า รวมทั้ง แบตเตอรี่ และอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ จะถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเช่นกัน

เนื่องจากถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อ อุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ ด้วยผลิตภัณฑ์พลังงานหมุนเวียน รวมถึงอุปทานรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้สหรัฐฯ จะอัดฉีดเงินช่วยเหลือเพื่อสนับสนุน EV ในประเทศ แต่ตลาด EV ในสหรัฐฯ ก็ไม่สามารถทำราคาได้ถูกเท่าจีน โดยมีรุ่นที่ราคาต่ำเพียง 10,000 ดอลลาร์ อย่าง BYD Seagull รถยนต์ไฟฟ้าแฮทช์แบ็กขนาดเล็กที่ผลิตโดยจีน มีราคาเริ่มต้นเพียง 69,800 หยวน (หรือน้อยกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ) และมีรายงานว่าได้สร้างผลกำไรให้กับผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนที่มีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ 

ผู้ที่มาก่อนกาลอย่าง Tesla ที่ดำเนินงานหลักในจีน ซึ่งคล้ายกับ Apple ในบางด้าน ทั้งคู่กำลังสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับคู่แข่งในท้องถิ่นและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ อีลอน มัสก์ ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างมากในการปลดล็อกขอบเขตการเติบโตใหม่ ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับความท้าทายจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น เช่นกันกับผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ ก็กำลังดิ้นรนเพื่อกระตุ้นความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากตลาดในยุโรปและสหรัฐฯ ชะลอตัว และจีนเพิ่มการผลิตรุ่น EV ราคาประหยัด

สำนักข่าว CNBC รายงานว่า ยักษ์ใหญ่ด้าน EV อย่างเทสลา ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับศักยภาพของเอเชียนอกเหนือจากจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาด EV ที่ร้อนแรงที่สุด จากความสนใจที่รู้จักกันดีใน "อินเดีย" แล้ว Tesla ยังจับตาดู "ไทย" ซึ่งเป็น "มหานครแห่งยานยนต์ไฟฟ้า" ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างใกล้ชิด ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์สีเขียวกำลังได้รับความสนใจ

รายงานระบุว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้โน้มน้าวการเจรจากับ Tesla ขณะที่ อีลอน มัสก์ สำรวจสถานที่สำหรับโรงงานขนาดใหญ่แห่งถัดไป ซึ่งประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณามา 2-3 ปีแล้วเช่นเดียวกับในอินเดีย ซึ่งมัสก์มีกำหนดจะไปเยี่ยมชมครั้งล่าสุดก่อนที่จะยกเลิก และได้ไปเยือนจีนไม่นานหลังจากนั้น

 

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจมีศักยภาพเกี่ยวกับฐานลูกค้าขนาดใหญ่ให้กับ Tesla เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพายุโรปและสหรัฐฯ มากเกินไป และเป็นทางเลือกที่ชัดเจนสำหรับการผลิต นอกเหนือจากการดำเนินงานที่มีอยู่ในจีนและความสนใจในอินเดีย 

 เคร็ก เออร์วิน (Craig Irwin) นักวิเคราะห์ของ Roth Capital ระบุว่า ประเทศไทยซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม "ดีทรอยต์แห่งเอเชีย" มาหลายปีแล้ว เนื่องจากมีบุคลากรที่มีทักษะและประสบความสำเร็จในการดึงดูดบริษัทรถยนต์นานาชาติจำนวนมาก สามารถช่วย Tesla ลดการพึ่งพาจีนได้ ด้วยฐานการผลิตในประเทศไทย Tesla ยังสามารถให้บริการตลาดเอเชียและตลาดอื่นๆ ได้ด้วย 

โดยเฉพาะในประเด็นที่ฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ลดเครดิตภาษี EV ให้กับผู้บริโภคลงอย่างมาก โดยอิงจากการจัดหาของจีนในกระบวนการผลิต แม้ว่านักวิจารณ์บางคนจะกล่าวว่ากฎดังกล่าวไม่เข้มงวดเพียงพอก็ตาม ขณะที่รัฐบาลไทยเสนอเงินอุดหนุนและสิ่งจูงใจทางภาษีเพื่อขับเคลื่อนการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้และดึงดูดผู้ผลิตจากต่างประเทศ

แม้ว่ารถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทยอาจไม่เข้าเกณฑ์ได้รับเงินอุดหนุนจากพระราชบัญญัติลดเงินเฟ้อ แต่ก็มีโอกาสน้อยที่จะต้องเผชิญกับภาษีศุลกากรที่สูงลิ่วซึ่งเรียกเก็บจากยานพาหนะของจีนในสหรัฐฯ และตลาดหลายแห่งก็กังวลเกี่ยวกับภาษีศุลกากรที่อาจเพิ่มขึ้นมากกว่านี้หาก โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกอีกครั้ง 

สอดคล้องกับ สตีเวน ไดเออร์ อดีตผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการของ Ford ของบริษัทที่ปรึกษา AlixPartners ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านยานยนต์ กำลังแรงงาน และนโยบายที่มีอยู่ของประเทศไทย ล้วนสร้างศักยภาพให้กลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แต่สิ่งสำคัญคือผู้ผลิตรถยนต์มองเห็นตลาดผู้บริโภคเพียงพอกับความต้องการขายสินค้าของผู้ผลิตในท้องถิ่นซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง ภาษีศุลกากร และลดความเสี่ยงจากการแลกเปลี่ยนเงินตรา

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดรถยนต์ที่กำลังเติบโต และประเทศไทยก็เป็นผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอยู่แล้ว โดยมี โตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน ฟอร์ด จีเอ็ม และเมอร์เซเดส-เบนซ์ ให้ประเทศไทยเป็นสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคแล้ว

ที่มา