พายุไซโคลนริมาล (Remal) เคลื่อนที่ขึ้นฝั่ง บังกลาเทศ และภาคตะวันออกของ อินเดีย เมื่อช่วงดึกวันอาทิตย์ที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิด กระแสลมแรง ที่พัดต้นไม้หักโค่น และ ฝนตกหนัก ตามพื้นที่ชายฝั่งของทั้งสองประเทศทำให้เกิด น้ำท่วม สร้างความเสียหายเป็นพื้นที่กว้าง ถนนหลายสายถูกน้ำท่วมตัดขาด ขณะที่ประชาชนมากกว่า 1 ล้านคนถูกสั่งอพยพสู่พื้นที่ปลอดภัยก่อนพายุลูกนี้พัดขึ้นฝั่ง อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวระบุว่า นับล้านครัวเรือนประสบปัญหาไม่มีไฟฟ้าใช้หลังจากความแรงของลมพายุพัดเสาไฟฟ้าโค่นล้ม
สำนักข่าว CNN รายงานอ้างอิงกรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย (IMD) ว่า พายุไซโคลนริมาล ได้เคลื่อนที่ขึ้นฝั่งบังกลาเทศโดยมีความเร็วลมสูงสุด 135 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ประมาณ 84 ไมล์ต่อชั่วโมง) กำลังลมอ่อนลงมาอยู่ที่ระดับ 115 กม.ต่อชม. (ราว 71 ไมล์/ชม.) เมื่อพายุพัดลึกเข้าฝั่ง คาดว่าพายุดังกล่าวจะทำให้เกิดฝนตกหนักปริมาณมากกว่า 89 มิลลิเมตร หรือราว 3.5 นิ้ว และก่อให้เกิดคลื่นในทะเลความสูง 2.5-3.7 เมตรบริเวณอ่าวเบงกอล
สำนักงานอุตุนิยมวิทยาระดับภูมิภาคในเมืองโกลกาตาในรัฐเบงกอลตะวันตกระบุว่า พายุไซโคลนริมาลเคลื่อนขึ้นฝั่งตั้งแต่เวลา 21.00 น.ของวันอาทิตย์ตามเวลาอินเดีย ซึ่งช้ากว่าไทย 1 ชั่วโมงครึ่ง และทำให้เกิดฝนตกหนักนานราว 5 ชั่วโมง
ตำรวจระบุว่า พบผู้เสียชีวิต 1 รายในเมืองโกลกาตา หลังจากถูกชิ้นส่วนคอนกรีตขนาดใหญ่ร่วงใส่ในช่วงที่พายุไซโคลนริมาลมีความรุนแรงที่สุด ขณะเดียวกันกระท่อมมุงหลังคาและบ้านดินในพื้นที่ชายฝั่งของทั้งสองประเทศต่างได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังรอตรวจสอบความเสียหายทั้งหมด
รายงานข่าว CNN ระบุว่า บังกลาเทศได้ยกระดับเตือนภัยของพายุเป็นระดับ10 ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดเมื่อวันอาทิตย์ (26 พ.ค.) พร้อมประกาศให้เรือทุกชนิดงดออกจากฝั่ง ทั้งนี้ มีประชากรอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุลูกนี้ราว 2 ล้านคน อย่างน้อย 5 แสนคนอาศัยในบ้านดินหรือบ้านที่สร้างจากวัสดุอื่นๆที่ไม่แข็งแรง เช่น ไม้ แผ่นพลาสติก หรือฟาง
ทั้งนี้ ในส่วนของบังกลาเทศมีการอพยพประชาชนแล้วราว 800,000 คนจากท่าเรือมองลาและจิตตะกอง รวมถึงเขตชายฝั่ง 9 แห่ง ไปยังค่ายพักพิงชั่วคราวตั้งแต่ช่วงบ่ายวันอาทิตย์ ขณะที่ ทางการอินเดียสั่งอพยพประชาชนไปค่ายพักพิงจำนวนประมาณ 110,000 คน นอกจากนี้ เที่ยวบินระหว่างประเทศและเที่ยวบินในประเทศกว่า 50 เที่ยวได้ถูกยกเลิกในเมืองโกลกาตาของอินเดีย เนื่องจากทางสนามบินมีการระงับการดำเนินงานตั้งแต่ช่วงบ่ายวันอาทิตย์ ส่วนบังกลาเทศได้ระงับการดำเนินงานที่ท่าเรือมองลาและจิตตะกอง
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า พื้นที่ชายฝั่งที่มีความราบลุ่มของบังกลาเทศและอินเดียเผชิญพายุรุนแรงบ่อยครั้งตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวทะเลสูงขึ้น โดยพายุไซโคลนริมาลเป็นพายุไซโคลนลูกแรกของปีนี้ในพื้นที่ดังกล่าว