นายพีต บูติเจิจ (Pete Buttigieg) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสหรัฐอเมริกา กล่าวในรายการ Face the Nation ของสถานีโทรทัศน์ CBS เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (26 พ.ค.) ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (climate change) ซึ่งเป็นวาระสำคัญระดับโลกในช่วงเวลานี้ คือหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้โลกต้องเผชิญกับเหตุการณ์เครื่องบินตกหลุมอากาศ (flight turbulence) ถี่ขึ้นเรื่อย ๆ และเขาเชื่อว่า ปรากฎการณ์ดังกล่าวจะยังคงส่งผลกระทบต่อการเดินทางทางอากาศของคนอเมริกันต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเที่ยวบินในประเทศหรือเที่ยวบินระหว่างประเทศก็ตาม
ข้อคิดเห็นดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางบริบทที่มีเหตุการณ์เครื่องบินตกหลุมอากาศเพิ่มขึ้นหลายครั้งนับตั้งแต่ต้นปีมา ซึ่งสองเหตุการณ์ล่าสุดคือ กรณีสายการบินสิงค์โปร์ แอร์ไลน์ ที่เดินทางจากสนามบินลอนดอนปลายทางสนามบินชางงีประเทศสิงค์โปร์ ขอลงฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิหลังเผชิญสภาอากาศแปรปรวนและเครื่องบินตกหลุมอากาศระหว่างทาง ทำให้มีผู้โดยสารบาดเจ็บจำนวนมากและเสียชีวิต 1 ราย เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากนั้นไม่ถึงสัปดาห์ เกิดเหตุคล้ายกันกับเครื่องบินของสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส (Qatar Airways) ที่กำลังมุ่งหน้าสนามบินในโดฮาสู่เมืองดับลิน เครื่องบินประสบอากาศแปรปรวนรุนแรงและตกหลุมอากาศขณะบินเหนือประเทศตุรกี ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 12 คนเมื่อวันอาทิตย์ (26 พ.ค.)
“ข้อเท็จจริงก็คือ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้เกิดขึ้นกับเราทุกคนแล้วในแง่ของการเดินทาง และนักเดินทางชาวอเมริกันก็ยังจะได้รับผลกระทบนี้ต่อไปไม่ว่าจะเป็นการเดินทางในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม”
“สภาพอากาศของเราเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น นโยบายของเรา เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานของเรา ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตาม”
รัฐมนตรีคมนาคมสหรัฐยังมองว่า โลกได้ประจักษ์เกี่ยวกับผลกระทบของสภาพอากาศที่ปรวนแปรรุนแรงในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่คลื่นความร้อน (heat waves) ที่ทำให้สายเคเบิ้ลของระบบการสื่อสารหลอมละลายได้ ฤดูกาลพายุเฮอริเคนที่หนักหน่วงรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงสภาพอากาศที่ปรวนแปรหนักจนทำให้เกิดภาวะเครื่องบินตกหลุมอากาศมากขึ้นถึง 15%
รายงานการศึกษาที่เผยแพร่ในเอกสารงานวิจัย Geophysical Research Letters เมื่อปีที่ผ่านมา พบว่า ระหว่างปีค.ศ.1979-2020 มีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Clear Air Turbulance หรือ CAT ซึ่งเป็นภาวะกระแสลมแปรปรวนทำให้เกิดหลุมอากาศที่รุนแรงท่ามกลางอากาศที่แจ่มใส เพิ่มมากขึ้น ถี่ขึ้นถึง 55% ในเที่ยวบินที่บินผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ปรากกการณ์ลักษณะนี้ทำให้เครื่องบินเกิดการโยนตัวอย่างฉันพลันทันที จึงถือเป็นอันตรายที่มองไม่เห็นและยากที่จะตรวจจับด้วยเรดาร์
“สภาพอากาศของเราเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น นโยบายของเรา เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานของเรา ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตาม” บูติเจิจยอมรับว่า การตกหลุมอากาศถึงขนาดที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเช่นที่เกิดขึ้นกับเที่ยวบินของสิงคโปร์ แอร์ไลนส์ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมาก แต่สภาพอากาศที่แปรปรวนบนท้องฟ้าก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และเกิดขึ้นได้อย่าง "ไม่คาดฝัน"
เขาเรียกร้องให้มีการทบทวนและประเมินสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพราะนับวันปัญหาดังกล่าวจะเกิดถี่ขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อเทียบกับที่โลกเคยเผชิญมา
เว็บไซต์ Turbli ซึ่งพยากรณ์การเกิดหลุมอากาศทั่วโลกโดยสร้างฐานข้อมูลจากข้อมูลพยากรณ์หลุมอากาศขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) และข้อมูลพยากรณ์เมฆพายุฝนฟ้าคะนองของกรมอุตุนิยมวิทยาสหราชอาณาจักร (UK Met Office) เปิดเผยข้อมูลล่าสุดที่น่าสนใจ จากการวิเคราะห์เส้นทางการบินทั้งหมด 150,000 เส้นทาง เฉพาะเส้นทางการบินที่ดำเนินการอยู่ ณ เดือน ธ.ค. 2023 พบว่า
ด้วยการพิจารณาจากอัตรา eddy dissipation rate (edr) หรือ “การวัดความรุนแรงของหลุมอากาศ ณ จุดที่กำหนด” ซึ่งแบ่งเป็น ระดับเบา (0-20) ปานกลาง (20-40) รุนแรง (40-80) และรุนแรงมาก (80-100)
มี 10 เส้นทางการบินที่ตกหลุมอากาศมากที่สุดในปี 2023 ดังนี้
ทั้งนี้ การเดินทางระหว่างเมืองซานติเอโก ประเทศชิลี และสนามบินนานาชาติวิรูวิรูในโบลิเวีย มีหลุมอากาศมากที่สุด ตามด้วยเส้นทางระหว่างเมืองอัลมาตีในคาซัคสถาน และเมืองบิชเคก เมืองหลวงของคีร์กีซสถาน
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า ใน 10 อันดับแรกของเส้นทางที่ประสบหลุมอากาศได้มากที่สุด มีถึง 6 เส้นทางที่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย คือเส้นทางบินภายในประเทศของญี่ปุ่นและจีน
นายอิกนาชิโอ กัลเลโก มาร์กอส ผู้ก่อตั้ง Turbli อธิบายว่า เส้นทางที่บินผ่านเหนือเทือกเขา เช่น เทือกเขาแอนดีส และเทือกเขาแอลป์ มีโอกาสที่จะพบหลุมอากาศได้มาก เช่นเส้นทางมิลาน-เจนีวา ส่วนเส้นทางในประเทศญี่ปุ่นและจีนนั้น มีโอกาสที่สภาพอากาศจะแปรปรวนได้มาก เนื่องจากมีกระแสลมกรด หรือกระแสเจ็ตสตรีม (Jet Stream) ซึ่งเป็นกระแสลมที่พัดจากด้านตะวันตกไปตะวันออกตามแนวการหมุนของโลก และพัดโค้งไปมาคล้ายแม่น้ำจากละติจูดสูงไปละติจูดต่ำ หากเครื่องบินบินเข้าใกล้แนวลมกรดจะพบกับสภาพอากาศที่ปั่นป่วนทั้งในแนวตั้งและแนวนอนและมีลมเฉือนในระดับความเร็วลมที่รุนแรง
ข้อมูลอ้างอิง