KEY
POINTS
รัฐบาลทหารเมียนมา กำลังเจรจาทาบทามให้ภาครัฐและเอกชน “รัสเซีย” เข้ามาร่วมรื้อฟื้นการพัฒนาพื้นที่ เขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่สะดุดปัญหาการเงินจนเนิ่นช้ามาหลายปี หลังเมียนมายกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการระยะแรกที่มอบให้ Dawei Development Corporation เอกชนไทยในเครือ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) อ้างเหตุฝ่ายไทยทำผิดเงื่อนไขสัญญา
“ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์” คีย์แมนโครงการทวายของ ITD ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” โดยมองมุมบวก การเข้ามาของรัสเซีย ถ้ามาจริงก็เป็นเรื่องน่ายินดี เปิดช่องให้บริษัทได้เงินชดเชยที่ลงทุนไปเกือบ 1 หมื่นล้านบาท และจะเปลี่ยนทั้งภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ของภูมิภาคนี้ไปโดยสิ้นเชิง
จากกรณีสื่อท้องถิ่นเมียนมารายงานข่าวการเจรจาระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมาและภาครัฐและเอกชนรัสเซีย เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการดึงทุนรัสเซียเข้าร่วมพลิกฟื้นโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย ในจังหวัดทวาย ภูมิภาคตะนาวศรี ทางภาคใต้สุดของเมียนมา ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับชายแดนฝั่งตะวันตกของประเทศไทยนั้น
“ฐานเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทวาย ดีเวลลอปเมนต์ คอร์ปอเรชัน จำกัด (Dawei Development Corporation) บริษัทลูกของบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ที่เข้าไปลงทุนในโครงการทวายระยะแรก (initial phase) มาตั้งแต่ปี 2553 กระทั่งคณะกรรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone Management Committee :DSEZ MC) ของเมียนมา ได้บอกยกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการฯ ที่บริษัทและกลุ่มพันธมิตร เป็นคู่สัญญาเมื่อปลายปี 2563
ดร.สมเจตน์ เล่าย้อนความให้ฟัง ก่อนเผยมุมมองทัศนะเกี่ยวกับการที่เมียนมาทาบทามผู้พัฒนาโครงการรายใหม่อย่างรัสเซียว่า โครงการนี้ชะงักงันมานานหลายปี ทาง DSEZ MC บอกยกเลิกสัญญา โดยอ้างว่าทางบริษัททำผิดเงื่อนไขสัญญา ทั้งๆที่เป็นฝ่ายลงทุนระบบสาธารณูปโภคในโครงการไปแล้วเป็นเงินลงทุนเกือบ 1 หมื่นล้าน (บาท) โดยฝ่าย DSEZ MC ยังไม่เคยส่งมอบที่ดินให้ ไม่เคยมีการลงนามสัญญาเช่าที่ดินเลยเรื่องยังค้างคาอยู่ ก็มามีรัฐประหารอีก ทางบริษัทก็รอดูความชัดเจน
ทั้งนี้ ในปี 2553 ITD และบริษัทย่อย เริ่มเข้าไปบุกเบิกพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone : DSEZ) และปี 2556 โครงการดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนโครงการโดยรัฐบาลไทยร่วมกับรัฐบาลเมียนมา มีการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Dawei SEZ Development Company Limited หรือเรียกว่า Special Purpose Vehicle : SPV) เพื่อร่วมกันผลักดันและกำหนดนโยบายการพัฒนาโครงการใหม่ โดย DSEZ MC และ SPV ของทั้งสองรัฐบาล ได้มีการพิจารณาให้สิทธิกับกลุ่มบริษัทในการได้รับการชดเชยเงินคืนในส่วนของเงินลงทุนพัฒนาโครงการทวายที่กลุ่มบริษัทได้ลงทุนไปก่อนหน้า ภายใต้สัญญา Tripartite Memorandum ที่ระบุว่ากลุ่มบริษัทจะได้รับเงินคืนจากผู้ลงทุนรายใหม่ของแต่ละโครงการสัมปทาน
ต่อมาปี 2558 DSEZ MC ได้พิจารณาปรับแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (DSEZ project) โดยกำหนดให้มีการพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะเริ่มแรก (DSEZ Initial Phase) เพื่อพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 27 ตารางกิโลเมตร รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง ส่วนโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะสมบูรณ์ (DSEZ Full Phase)นั้น จะมีพื้นที่ถึง 196.7 ตารางกิโลเมตร หรือกว่า 1.2 แสนไร่ ใหญ่กว่าสนามบินสุวรรณภูมิ 10 เท่า และใหญ่กว่าโครงการมาบตาพุด 15 เท่า
หลังจากนั้นวันที่ 5 สิงหาคม 2558 กลุ่มบริษัทย่อยทางอ้อมในต่างประเทศและผู้ร่วมลงทุน (“กลุ่มบริษัทผู้รับสัมปทาน”) ได้รับสิทธิสัมปทานและได้ลงนามในสัญญาสัมปทานจำนวน 7 ฉบับ สำหรับสิทธิในการพัฒนาโครงการสัมปทาน 8 โครงการกับ DSEZ MC สำหรับการพัฒนาพื้นที่โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะเริ่มแรก (DSEZ Initial Phase) พร้อมกันนี้ DSEZ MC SPV และบริษัท ได้ทำข้อตกลงเพิ่มเติม ภายใต้สัญญา Supplemental Memorandum of Understanding to the Tripartite Memorandum เพื่อกำหนดกรอบเงื่อนไขการให้ทางเลือกกับบริษัทในการได้รับสิทธิในที่ดินเพิ่มเติม (Land Right Option) สำหรับการพัฒนาและบริหารจัดการโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะเริ่มแรก เพื่อทดแทนการชดเชยเงินคืนในส่วนที่กลุ่มบริษัทได้ลงทุนไว้ก่อนหน้า
ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทจะสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ เมื่อกลุ่มบริษัทผู้รับสัมปทานและ DSEZ MC ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อบังคับที่กำหนดไว้ก่อนที่จะเริ่มพัฒนาโครงการและงานก่อสร้าง (Conditions Precedent) โดยครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทาน DSEZ Initial Phase
กลุ่มบริษัทผู้รับสัมปทานได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวครบถ้วนแล้ว ยกเว้นในเรื่องการลงนามในสัญญาเช่าที่ดิน และการจ่ายค่าสิทธิในสัมปทาน เนื่องจากยังไม่ได้มีข้อตกลงที่เห็นชอบตรงกันระหว่างกลุ่มบริษัทผู้รับสัมปทานและ DSEZ MC เกี่ยวกับเนื้อหาของสัญญาเช่าที่ดิน กลุ่มบริษัทผู้รับสัมปทานจึงได้ชี้แจงต่อ DSEZ MC เพื่อจะขอชำระค่าสิทธิในสัมปทานของแต่ละโครงการพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ DSEZ MC เมื่อได้รับสัญญาเช่าที่ดินของแต่ละโครงการที่มีเนื้อหาสัญญาที่เห็นพ้องตรงกัน
ต่อมาวันที่ 30 ธันวาคม 2563 กลุ่มบริษัทผู้รับสัมปทานโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะแรก ได้รับหนังสือแจ้งการบอกยกเลิกสัญญาสัมปทานรวม 7 ฉบับ จาก DSEZ MC เนื่องจาก DSEZ MC อ้างว่า บริษัทผิดนัดไม่ชำระค่าสิทธิตามสัญญาสัมปทาน และไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อนบางประการในการเริ่มดำเนินการตามสัญญาสัมปทานได้
วันที่ 19 มกราคม 2564 กลุ่มบริษัทผู้รับสัมปทานดำเนินการหารือกับที่ปรึกษาทางกฎหมาย และส่งหนังสือโต้แย้งเกี่ยวกับเหตุแห่งการยกเลิกสัญญาเพื่อชี้แจงกลับไปยัง DSEZ MC และขอเจรจาหารือร่วมกันในประเด็นดังกล่าว จากนั้นวันที่ 4 เมษายน 2564 มีการส่งหนังสือไปยัง DSEZ MC อีกครั้งเพื่อยืนยันเรื่องที่ กลุ่มบริษัทมิได้เห็นชอบกับเหตุแห่งการยกเลิกสัญญาสัมปทานดังกล่าว
ล่าสุดในวันที่ 30 มกราคม 2567 บริษัทผู้รับสัมปทานได้เข้าพบรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อยื่นหนังสือชี้แจงความเป็นมาและรายงานสถานะปัจจุบันของโครงการ พร้อมขอความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศมายังโครงการ อีกทั้ง ได้มีการหารือถึงแนวทางการหาผู้พัฒนาที่เหมาะสมกับโครงการควรจะเป็นในเชิงยุทธศาสตร์ และเน้นย้ำถึงความสำคัญของโครงการทวายที่มีต่อประเทศไทยโดยตรงในเชิง Geo-Economic และ Politic ของภูมิภาค โดยท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น (ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร) ได้มีการตอบสนองในลักษณะให้ความสนับสนุนกับโครงการ
ดร.สมเจตน์เล่าว่า หากประเทศหลักในกลุ่ม BRICS เข้ามาจับโครงการทวาย ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียหรือจีน ทาง ITD รับได้ทั้งหมด ซึ่งนอกจากทางบริษัทจะได้เงินคืนประมาณ 1 หมื่นล้านบาทแล้ว ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศไทยและของภูมิภาคนี้จะเปลี่ยนไป จะเกิดระเบียบโลกใหม่ในการสร้างสมดุลอำนาจเชิงพลวัต (Dynamics Equilibrium) ซึ่งขอบอกว่า นาทีนี้ใครครอง Indian Ocean คนนั้นครองโลก
"นโยบายต่างประเทศในมิติเศรษฐกิจและการเมืองมันสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศได้ แต่บริษัทเอกชนไม่สามารถเข้าไปยุ่งได้ ไม่มีหน้าที่และอำนาจใด ๆ ต้องอาศัยนักการเมืองเป็นกลไกลขับเคลื่อน โครงการนี้ผ่านนักการเมืองมา 10 ปี 4 สมัยแล้วยังไม่ค่อยเห็นความจริงจังจริงใจ มายุคสมัยท่าน ดร.ปานปรีย์ ท่านมีนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก Proactive Economic Diplomacy ผมก็หวังว่า ท่านรมว.คนปัจจุบัน จะหยิบจากสิ่งที่มีอยู่เข้าสู่สิ่งใหม่ เพื่อเสริมแต่งอนาคตของประเทศไทยและความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้น ซึ่งต้องใช้ความปราถนาอย่างแรงกล้านะ" ดร.สมเจตน์กล่าว
“ถึงตอนนี้ ผมมองว่าโครงการพัฒนาทวายหากได้เดินหน้าต่อ ก็จะเป็นทางเชื่อมหลักให้ไทยมีบทบาทในขั้วอำนาจใหม่ของเศรษฐกิจโลกในนามกลุ่ม BRICS ที่ไทยสนใจเข้าเป็นสมาชิก ทั้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ของภูมิภาค” ทั้งนี้ กลุ่มดังกล่าวประกอบด้วยสมาชิกก่อตั้ง อาทิ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ล้วนเป็นเศรษฐกิจโตเร็ว และต่างก็มีพลวัตรที่น่าจับตาในย่านมหาสมุทรอินเดีย (ดังภาพประกอบ)
ด้วยขนาดและศักยภาพทั้งในเชิงเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ของโครงการทวาย ขั้วอำนาจโลกต่างแสดงความสนใจมุ่งเข้ามาไม่ว่าจะเป็นจีนที่เข้ามาศึกษาโครงการอยู่นานแล้ว และมีท่าเรือน้ำลึกอยู่หนึ่งแห่งในเมืองจ้าวผิ่วทางภาคตะวันตกของเมียนมา หรืออินเดียที่มีบทบาททั้งด้านการค้าและความมั่นคงในอ่าวเบงกอล และอินเดียยังมีท่าเรือจำนวนมากชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย
ส่วน “รัสเซีย” ในฐานะผู้ได้รับการทาบทามรายใหม่จากรัฐบาลเมียนมา ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวายนั้น ดร.สมเจตน์มองว่า หากมาได้จริงก็เป็นข่าวดี โดยถ้าจะมองในฐานะเอกชนที่เข้าไปลงทุนแล้วร่วม 10,000 ล้านบาทในโครงการดังกล่าว การที่โครงการมีผู้พัฒนารายใหม่เข้ามา ก็จะทำให้บริษัทมีโอกาสได้รับเงินคืนหรือเงินชดเชยจากผู้ลงทุนรายใหม่ภายใต้สัญญา Tripartite Memorandum ซึ่งในอนาคต หากผู้พัฒนาโครงการรายใหม่ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย หรือประเทศใดก็ตาม ต้องการให้ ITD เป็นผู้ร่วมพัฒนาโครงการ บริษัทก็ยินดี
และเมื่อมองในแง่เศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ การเข้ามาของ “รัสเซีย” ไม่เพียงจะก่อให้เกิดความสั่นไหวต่อขั้วอำนาจเดิมอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนในภูมิภาคนี้ แต่ยังจะปลุกศักยภาพทางเศรษฐกิจของโครงการทวายให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในเชิงการค้า อุตสาหกรรมหนัก หรือเส้นทางโลจิสติกส์โลก
สกู๊ปข่าวหน้า1 นสพ.ฐานเศรษฐกิจฉบับ 3,999 วันที่ 9-12 มิถุนายน 2567