อียูเปิดศึกการค้า จ่อรีด "ภาษีพิเศษ" รถ EV จีนสามค่ายใหญ่ 17-38% มีผลก.ค.นี้

13 มิ.ย. 2567 | 02:17 น.

สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศภาษีพิเศษเรียกเก็บจาก 3 บริษัทใหญ่ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีน อ้างรัฐบาลปักกิ่งจีนให้การอุดหนุนที่ไม่เป็นธรรมแก่อุตสาหกรรมยานยนต์อีวีในประเทศ ทำให้กำลังผลิตล้น จนบุกตลาดทั่วโลกในราคาได้เปรียบคู่แข่งขัน

คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของ สหภาพยุโรป (EU) ประกาศเรียกเก็บภาษีพิเศษต่อ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีการนำเข้าจาก จีน วานนี้ (12 มิ.ย.) โดยระบุว่ารถยนต์ดังกล่าวได้รับประโยชน์อย่างมากจากการอุดหนุนที่ไม่เป็นธรรมจากรัฐบาลจีน และถือเป็นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจต่อผู้ผลิตรถยนต์ EV ในยุโรป

ทั้งนี้ EC ประกาศเรียกเก็บภาษีพิเศษต่อยานยนต์ไฟฟ้าระบบแบตเตอรี (BEV) ที่มีการนำเข้าจากจีน นอกเหนือจากการเรียกเก็บภาษี 10% ในปัจจุบัน โดยรถยนต์อีวีของบริษัทผู้ผลิต 3 รายใหญ่ของจีนจะถูกเรียกเก็บภาษีพิเศษแตกต่างกัน ดังนี้

  • SAIC จะถูกเรียกเก็บภาษีพิเศษ 38.1%
  • Gleely ถูกเรียกเก็บ 20%
  • และ BYD ถูกเรียกเก็บ 17.4%

อย่างไรก็ดี EC ระบุว่า มาตรการทางภาษีดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 ก.ค. 2567 โดยจะขึ้นอยู่กับผลการเจรจาแก้ไขปัญหาระหว่าง EC และบริษัทรถยนต์แต่ละแห่ง เพื่อพิจารณาว่าทางบริษัทให้ความร่วมมือกับ EC หรือไม่ ก่อนที่จะบังคับใช้อย่างเป็นทางการ หลังจากที่ EC เริ่มการสอบสวนเรื่องดังกล่าวตั้งแต่เดือนต.ค.2566

ยอดส่งออกรถอีวีของจีนในปี 2566 คือ 1.55 ล้านคัน ในจำนวนนี้ 40% เป็นการส่งออกไปยุโรป

ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและอียู ร้อนแรงมากขึ้นนับตั้งแต่ที่อียูประกาศเริ่มการไต่สวนกรณีรถอีวีนำเข้าจากจีน แม้ว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะเดินทางเยือนยุโรปเมื่อต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา แต่ก็ดูจะไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก ผู้นำจีนพยายามสร้างความมั่นใจว่า อียูจะไม่มาแนวทางเดียวกับพันธมิตรอย่างสหรัฐ ที่ตั้งท่าเก็บภาษีสินค้าจีนเพิ่มขึ้นหลายรายการในปีนี้และปีหน้า โดยเมื่อเดือนพ.ค. รัฐบาลสหรัฐประกาศเก็บภาษีรถยนต์อีวีนำเข้าจากจีนในอัตราสูงขึ้นสี่เท่าจากเดิม 25% เป็น 100% ภายในปีนี้ แต่สุดท้าย อียูก็มาแนวทางเดียวกันกับสหรัฐ คือประกาศเรียกเก็บภาษีพิเศษจากรถอีวีที่นำเข้าจากจีน ซึ่งเป็นรถอีวีของสามค่ายใหญ่ของจีนที่กำลังขยายตลาดไปทั่วโลก นั่นคือ SAIC, Geely และ BYD 

ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศผู้ผลิตรถอีวีมากกว่าประเทศใดๆในโลก นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ครอบครองเครือข่ายซัพพลายเชนแบตเตอรี่รถอีวีอีกด้วย จีนขยายตลาดรถอีวีออกมายังต่างประเทศมากขึ้นเมื่อเศรษฐกิจในประเทศเริ่มชะลอตัวและมีการแข่งขันด้านราคา

สถิติยอดส่งออกรถอีวีของจีนในปี 2566 คือ 1.55 ล้านคัน ในจำนวนนี้ 40% เป็นการส่งออกไปยังตลาดยุโรป

ข่าวระบุว่า นับตั้งแต่ที่อียูเริ่มการไต่สวนสินค้านำเข้าจากจีนซึ่งนอกจากรถอีวีแล้วยังมีอีกหลากหลายอุตสาหกรรม บริษัทของจีนก็ทยอยถอนตัวออกจากโครงการประมูลด้านพลังงานและระบบขนส่งทางรางในยุโรป

นายหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาว่า ประเด็นความขัดแย้งเกี่ยวกับการค้ายานยนต์ระหว่างจีนและอียู ควรได้รับการแก้ไขด้วยการเจรจาหารือ จีนรับทราบท่าทีของอียูเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ก็หวังว่าฝ่ายอียูจะยึดมั่นต่อพันธกิจในเวทีการค้าโลกคือการส่งเสริมการค้าเสรีและต่อต้านมาตรการใดๆที่เป็นการกีดกันทางการค้า 

ความเห็นขัดแย้งในอียู

ทางด้านนายมาร์ตัน เนกี รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของฮังการี ประณามการเคลื่อนไหวของอียูครั้งนี้เช่นกัน โดยเขาระบุว่า การขึ้นภาษีดังกล่าวเป็นการกีดกันทางการค้ามากเกินไป พร้อมกับเน้นย้ำว่าการกีดกันทางการค้าไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา แต่เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรมต่อผู้ผลิตในจีนและขัดขวางการแข่งขันในตลาด

เนกีแนะนำว่า อียูควรเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกของอุตสาหกรรมรถอีวียุโรป แทนที่จะกำหนดอัตราภาษีพิเศษ เนื่องจากจะเป็นการขัดขวางการแข่งขันและการเติบโตของตลาดอียูเอง

ส่วนนายโอลิเวอร์ ซิปเซ ซีอีโอของบริษัทบีเอ็มดับเบิลยู วิพากษ์วิจารณ์แผนของคณะกรรมาธิการยุโรปว่าเป็น "แนวทางที่ผิด" โดยระบุว่า แผนดังกล่าวจะสร้างความเสียหายให้กับบริษัทในยุโรปและผลประโยชน์ของยุโรปเอง พร้อมกับเน้นย้ำว่า การกีดกันทางการค้านำไปสู่การเก็บภาษี และการเก็บภาษีสูงขึ้นก็ก่อให้เกิดการแบ่งแยกมากกว่าการร่วมมือกัน

ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อื่น ๆ ของเยอรมนี เช่น เมอร์เซเดส-เบนซ์ และโฟล์คสวาเกน ต่างแสดงจุดยืนสนับสนุนการแข่งขันที่เป็นธรรมและการค้าโลกเสรี โดยโฟล์คสวาเกนคัดค้านแผนการเก็บภาษีพิเศษโดยให้เหตุผลว่า ผลกระทบด้านลบของการตัดสินใจครั้งนี้มีมากกว่าผลประโยชน์สำหรับยุโรป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมนีเองด้วย