เมื่อ AI กลายเป็นปัญหาใหญ่ ป่วนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

26 มิ.ย. 2567 | 07:25 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2567 | 04:28 น.

หนึ่งในสิ่งที่เป็นปัญหาและความท้าทายสำหรับผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีนี้ คือข้อมูลบิดเบือนที่สังเคราะห์ขึ้นโดยปัญญาประดิษฐ์  (AI) เพื่อแสวงประโยชน์ทางการเมือง ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่ายังมีความท้าทายในการจำแนกแยกแยะและแก้ไขปัญหานี้

สำนักข่าววีโอเอ (Voice of America) สื่อใหญ่ของสหรัฐอเมริกา รายงานว่า เช่นเดียวกับการเลือกตั้งในหลายประเทศก่อนหน้านี้ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ได้กลายมาเป็นหนึ่งในเครื่องมือใน ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังจะมาถึงในเดือนพฤศจิกายน

ตัวอย่างที่มีให้เห็นในช่วงที่ผ่านมา คือ ภาพการกอดกันระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน กับนายแพทย์แอนโธนี เฟาชี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด ที่คอมพิวเตอร์สร้างขึ้นมา และยังกรณีเสียงสังเคราะห์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่บอกกล่าวกับฐานเสียงในรัฐนิวแฮมป์เชอร์ไม่ให้ออกไปร่วมกระบวนการลงคะแนนเสียงขั้นต้น (primary vote)

อีเลน เคมาร์ค ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อจากสถาบันบรูกกิงส์ กล่าวกับวีโอเอ ว่า เทคโนโลยีสร้างภาพ เสียง หรือวิดีโอด้วย AI หรือที่เรียกกันว่า “ดีพเฟค” (Deepfake) ในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมาก

ทำไม AI และ Deepfake ถึงเป็นเรื่องอันตราย

“แม้กระทั่ง 24 ชั่วโมงก่อนการเลือกตั้ง บางคนก็ยังเผยแพร่ดีพเฟคหรือข้อมูลบิดเบือน มันเป็นเรื่องยากที่จะต่อสู้กลับ และในการเลือกตั้งที่สูสี มันอาจสร้างความแตกต่างถึงผลแพ้ชนะได้” เคมาร์คกล่าว

ภาพ deepfake ของอดีตปธน.ทรัมป์ และนายแพทย์เฟาชี ที่สร้างขึ้นโดย AI (ภาพจาก theverge.com)

ด้านริจูล กุปตา ประธานกรรมการบริหารบริษัทดีพมีเดีย (DeepMedia) ที่ร่วมงานกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือ เพนตากอน ในการตรวจจับดีพเฟค กล่าวว่า ดีพเฟคหรือข้อมูลบิดเบือนที่สร้างโดยเทคโนโลยี AI นั้น สามารถใช้งานได้ง่าย ทั้งยังไม่แพงอีกด้วย

“ใช้เวลาประมาณ 15 นาทีในการสร้างดีพเฟค มีบริการออนไลน์มากมาย ถ้าคุณต้องการจ่ายเงินเพื่อสร้างอันที่ดีกว่าเดิม ที่เป็นคลิปเสียงยาว 30 วินาที (ราคา) ก็น่าจะประมาณ 30 เซนต์ (ราว 11 บาท)”

ในแง่การเมืองระหว่างประเทศ อารี โคเฮน ทนายความและนักรณรงค์ด้านเสรีภาพในการพูด เปิดเผยว่า มีปฏิบัติการที่มีความชำนาญสูงที่ตั้งใจส่งข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับการเมืองเข้ามาในสหรัฐฯ เพื่อหวังผลให้ชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงหรืออิทธิพล ช่วยกระจายต่อ และทั้งรัสเซียกับจีนต่างก็อยู่ในสงครามการแข่งกันการใช้ AI เช่นกัน

ในอดีตที่ผ่านมา บริษัทด้านเทคโนโลยีและสื่อสังคมออนไลน์ชั้นนำในสหรัฐฯ ต่างสัญญาว่า จะมีแนวทางกำกับควบคุมการใช้ AI เพื่อผลทางการเมืองในพื้นที่แพลตฟอร์มของตนเอง ทว่า ในระดับรัฐบาลกลางเองก็ยังคงไม่มีกฎหมายที่จะมากำกับควบคุม หรือดูแลการกำกับกันเองดังกล่าว

“เป็นเรื่องยากมากๆ ที่จะกำกับควบคุมการพูดเกี่ยวกับการเมืองในสหรัฐฯ ... บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ข้อที่ 1 ให้การคุ้มครองคุณค่าที่เป็นแก่นแท้ในด้านการแสดงออกด้านการเมืองอย่างเข้มแข็ง และก็มีเหตุผลที่ดี ซึ่งก็คือ เราไม่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้ง” โคเฮนกล่าว

ทั้งนี้ ในทัศนะของนายกุปตาจากดีพมีเดีย อุปสรรคใหญ่ในประเด็นดีพเฟค คือ การแยกแยะว่าอะไรเป็นเรื่องจริงและอะไรเป็นข้อมูลที่บิดเบือน โดยในแง่นี้ เขามีข้อเสนอแนะว่าให้ลองหา “ลายน้ำ” ที่เป็นจุดพิรุธของข้อมูลสังเคราะห์

“คุณภาพเสียงแย่ๆ ก็เป็นจุดบอกใบ้ว่า นั่นอาจเป็นสิ่งที่ AI สังเคราะห์ขึ้นมา มันอาจฟังดูงี่เง่า หรือดูเป็นเรื่องพื้นฐานมาก ๆ แต่จริง ๆ แล้ว การมองหาลายน้ำเหล่านั้น และสามารถหาจุดลายน้ำนั้นอย่างรวดเร็วในภาพ ในเสียง และในวิดีโอ ก็สามารถช่วยคัดกรองได้เยอะมาก”

กุปตายังแนะนำด้วยว่า “ถ้าคุณอยู่ในวิดีโอคอลล์กับใครสักคน และคุณคิดว่าเขาเป็นดีพเฟค ลองขอให้เขาหมุนตัวบนเก้าอี้ดูสิ ถ้าเขาไม่ทำ นั่นก็อาจจะเป็นดีพเฟค”

แต่เหรียญก็มีสองด้าน ประโยชน์ของ AI ก็มีอยู่มาก

ด้าน อารี โคเฮน ทนายความและนักรณรงค์ด้านเสรีภาพในการพูด เปิดเผยว่า AI สามารถนำไปใช้งานในทางการเมืองในเชิงบวกได้ด้วย เพราะมันสามารถช่วยให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งสื่อสารกับกลุ่มฐานเสียงที่ต่างภาษาและวัฒนธรรมได้ง่ายขึ้น และยังสามารถช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมของฐานเสียงเพื่อออกแบบการรณรงค์ให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้รับสารได้ด้วย

ที่มา: วีโอเอ