สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายอิสมาอิล ฮานิเยห์ ผู้นำกลุ่มติดอาวุธฮามาส ที่ต่อสู้กับอิสราเอลมาเป็นเวลา 9 เดือนในฉนวนกาซา ถูกสังหารในกรุงเตหะราน เมืองหลวงของ อิหร่าน เมื่อวันพุธ (31 ก.ค.) อย่างไม่มีใครคาดคิด ขณะเขาเดินทางเยือนและพำนักที่นั่นเพื่อร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของนายมาซูด เปเซชเคียน ประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่าน
แถลงการณ์ของกลุ่มฮามาสและกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่านที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันพุธ (31 ก.ค.) ระบุว่า ปฏิบัติการดังกล่าวเป็นฝีมือของอิสราเอล แม้ว่าจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีฝ่ายใดออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างอุกอาจ
ในแถลงการณ์ของฮามาส ระบุว่า “ฮานิเยห์ถูกสังหารในการบุกโจมตีอย่างชั่วร้ายของไซออนิสต์ (เป็นคำเรียกอิสราเอล) ในที่พักของเขาในเตหะราน” นอกจากนี้ สถานีโทรทัศน์ของทางการอิหร่านยังรายงานข่าวการเสียชีวิตของผู้นำฮามาสเมื่อช่วงเช้าวันพุธตามเวลาท้องถิ่น
การตั้งข้อสงสัยในทันทีว่า เหตุการณ์ครั้งนี้น่าจะเป็นฝีมือของอิสราเอล เป็นเพราะรัฐบาลอิสราเอลเคยประกาศว่า จะเอาชีวิตนายฮานิเยห์และผู้นำคนอื่น ๆ ของกลุ่มฮามาสจากการที่ทางกลุ่มติดอาวุธดังกล่าว บุกโจมตีพื้นที่ภาคใต้ของอิสราเอลเมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 7 ตุลาคม 2566 และสังหารประชาชนอิสราเอลรวมทั้งชาวต่างชาติกว่า 1,200 คน
ทั้งยังจับตัวประกันไปยังฉนวนกาซาอีกกว่า 250 คน ซึ่งเป็นชนวนให้นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ประกาศถล่มฉนวนกาซาซึ่งเป็นเขตปกครองของกลุ่มฮามาสจนกว่าจะ “ถอนรากถอนโคนฮามาสจนสิ้นซาก”
การโจมตีโต้กลับของอิสราเอลหลังจากนั้น ซึ่งยืดเยื้อมาจนถึงขณะนี้ ทำให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตไปแล้วกว่า 39,300 คน และทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 90,900 คน (ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขกาซา) ตัวเลขดังกล่าว ไม่ได้แยกตัวเลขพลเรือนออกจากนักรบกลุ่มฮามาส
อย่างไรก็ตาม ทางการอิสราเอลยังไม่ได้ออกมาตอบโต้ใดๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์กล่าวว่า รัฐบาลเทลอาวีฟมักจะมีปฏิกริยาเช่นนี้ คือจะไม่พูดอะไรหากเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารโดยหน่วยงานข่าวกรองมอสสาด (Mossad) ของตน
ก่อนหน้านี้ ที่ผ่านมา อิสราเอลมักถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังปฏิบัติการ “ลอบสังหาร” นักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านและบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่านระบุว่า กำลังสืบสวนเรื่องนี้ โดยยังไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดการเสียชีวิตของนายฮานิเยห์ ที่เดินทางไปยังเตหะรานเพื่อร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของมาซูด เปเซชเคียน ประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่าน
เหตุการณ์ครั้งนี้ นักวิเคราะห์ชี้ว่าอาจทำให้สงครามอิสราเอล-ฮามาสลุกลามและขยายความขัดแย้งมากยิ่งขึ้นในตะวันออกกลาง โดยการดึงอิหร่านเข้ามาอย่างเต็มตัว เนื่องจากการสังหารผู้นำฮามาส เกิดขึ้นบนแผ่นดินประเทศอิหร่าน
นอกจากนี้ อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ยังออกมาประกาศว่า อิหร่านพร้อมตอบโต้อิสราเอลอย่างรุนแรง จากเหตุการณ์ลอบสังหารผู้นำฮามาสในครั้งนี้ เพราะ...
ผู้นำคนใหม่ของอิหร่านยังกล่าวด้วยว่า เมื่อวันอังคาร (30 ก.ค.) ตัวเขาและนายฮานิเยห์เพิ่งจะได้จับมือกัน เขาจับมือผู้นำกลุ่มฮามาสคนนี้ชูขึ้นสู่ฟ้า เพื่อประกาศถึงชัยชนะในการยืนหยัดสู้รบกับอิสราเอล แต่ในวันถัดมาเขากลับต้องแบกโลงศพของนายฮานิเยห์ไว้บนบ่าเพื่อนำสู่พิธีฝัง
“สายสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับปาเลสไตน์จะแน่นแฟ้นยิ่งไปกว่าเดิม และเส้นทางการต่อสู้ของปาเลสไตน์เพื่อต่อต้านการรุกรานของอิสราเอลจะเข้มข้นมากกว่าเดิม อิหร่านจะปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดน และจะตอบโต้อิสราเอลอย่างรุนแรงเช่นกัน” ปธน.เปเซชเคียนแห่งอิหร่านประกาศผ่านสื่อชัดเจน
ฟิราส มัคซาด นักวิเคราะห์แห่งสถาบันศึกษายุทธศาสตร์ในตะวันออกกลางให้ความเห็นว่า การลอบสังหารผู้นำกลุ่มฮามาสในดินแดนประเทศอิหร่านในครั้งนี้ อาจจะ “ยกระดับ” ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและประเทศต่างๆที่เป็นพันธมิตรของอิหร่าน (ทำให้ถูกเรียกว่า “สงครามตัวแทน”) มาเป็นสงครามระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน รวมทั้งประเทศพันธมิตรทั่วทั้งตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มติดอาวุธในอิรัก เยเมน หรือเลบานอนที่พร้อมร่วมระดมโจมตีอิสราเอล
และหากเป็นเช่นนั้น สงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสจะขยายวงจากฉนวนกาซากลายเป็นสงครามที่บานปลายระดับภูมิภาค ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง