หวั่นสงครามบานปลาย สหรัฐ-EU เตือนอิสราเอล เปิดศึกเลบานอนอาจขยายวงการสู้รบ

25 มิ.ย. 2567 | 05:52 น.
อัพเดตล่าสุด :25 มิ.ย. 2567 | 07:34 น.

ทั้งสหรัฐและอียู แสดงความวิตกกรณีกองทัพอิสราเอลโจมตีชายแดนเลบานอน เพื่อโต้กลับกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ หวั่นอาจเป็นการขยายวงการสู้รบและดึงอิหร่านเข้าสู่สมรภูมิ ขณะที่ "เนทันยาฮู" ยันสงครามเชิงรุกเข้มข้นในกาซาใกล้ยุติ 

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เจ้าหน้าที่ด้านการต่างประเทศและความมั่นคงทั้งของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกโรงเตือนเมื่อวันจันทร์ (24 มิ.ย.) ว่า สงครามของอิสราเอลอาจขยายวงออกนอกฉนวนกาซา เหตุจากการโจมตีเชิงรุกของกองทัพอิสราเอลที่รู้จักกันในนาม "กองกำลังป้องกันอิสราเอล" (Israel Defense Forces หรือ IDF) ได้ยิงจรวดเข้าไปในเลบานอน ที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศอิสราเอล เพื่อจัดการกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธในเลบานอนที่อิหร่านให้การสนับสนุนอยู่ 

นายโจเซพ บอร์เรลล์ ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันจันทร์ (24 มิ.ย.) ว่า ความเสี่ยงที่สงครามในตะวันออกกลางจะแผ่ขยายวงออกไปนั้น เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน นอกจากนี้ ยังย้ำว่า ต้องมีการหยุดยิงในกาซาอย่างเร่งด่วน เพื่อเปิดทางให้มีการนำส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปในพื้นที่

ความเห็นของนายบอร์เรล ซึ่งเป็นผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศของอียู มีออกมาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงรายหนึ่งของกองทัพสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาเตือนว่า  การโจมตีรุกเข้าไปในเลบานอนโดยกองทัพอิสราเอลจะ "ยกระดับ" ความเสี่ยงให้ภาวะความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่แล้ว ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และอาจดึงอิหร่านให้เข้ามาช่วยสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ก็เป็นได้

รายงานข่าวระบุว่า ที่ผ่านมา กองทัพอิสราเอลเดินหน้าทำสงครามในฉนวนกาซากับกลุ่มติดอาวุธฮามาสที่อิหร่านหนุนหลัง ขณะเดียวกันก็มีการยิงต่อสู้กับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ข้ามแนวชายแดนอิสราเอล-เลบานอนไปด้วย

การสู้รบแนวชายแดนเลบานอน-อิสราเอล ยังคงมีอยู่ และมีแนวโน้มทวีความรุนแรง (ภาพข่าวรอยเตอร์)

พลอากาศเอกชาร์ลส์ คิว บราวน์ ประธานคณะผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วมของสหรัฐ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า อิหร่านอาจเอนเอียงมาช่วยจัดหาการสนับสนุนให้ฮิซบอลเลาะห์มากขึ้น พร้อมระบุว่า กลุ่มติดอาวุธกลุ่มนี้มีทรัพยากรในมือมากกว่าฮามาสแล้วด้วยซ้ำ

ด้านนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล แม้จะมีแรงกดดันรอบด้าน แต่เขาก็ยืนกรานไม่รับข้อตกลงยุติสงคราม โดยเมื่อค่ำวันอาทิตย์ (23 มิ.ย.) สถานีโทรทัศน์ Channel 14 ของอิสราเอล ซึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมและสนับสนุนนายเนทันยาฮู ได้เผยแพร่คลิปการสัมภาษณ์ของเขาที่ระบุว่า พร้อมที่จะยอมรับข้อตกลง(หยุดยิง)บางส่วน รวมถึงการนำตัวประกันส่วนหนึ่งกลับมา

ทั้งนี้ สำนักข่าวเอพีรายงานว่า เนทันยาฮูหมายถึงตัวประกันราว 120 คนที่ยังถูกกลุ่มฮามาสคุมตัวไว้ในเขตฉนวนกาซ่า 

“แต่เรายังคงมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าทำสงครามหลังการพัก(รบ) เพื่อจะบรรลุเป้าหมายการกำจัดฮามาส ผมไม่ตั้งใจที่จะยกเลิกเป้าหมายนั้น”

ผู้นำอิสราเอลยังกล่าวด้วยว่า “ช่วงเวลาอันดุเดือด” ของการต่อสู้กับกลุ่มฮามาสในเขตฉนวนกาซาจะยุติลงในเร็ว ๆ นี้ และอิสราเอลน่าจะเคลื่อนกำลังพลไปประจำตามแนวชายแดนที่ติดกับเลบานอนมากขึ้นด้วย โดยระบุว่า การทำเช่นนั้นจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระดับการป้องกันตนจากการโจมตีของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ขณะเดียวกัน อิสราเอลยังจะเปิดทางให้ประชาชนชาวอิสราเอลที่หนีภัยการสู้รบใกล้ ๆ เขตชายแดนให้กลับคืนสู่บ้านเรือนได้

ทั้งนี้ ปฏิบัติการทางทหารในเขตกาซาของอิสราเอลที่ดำเนินมากว่า 8 เดือนนี้ เริ่มต้นขึ้นหลังกลุ่มฮามาสโจมตีพื้นที่ทางใต้ของอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมของปีที่แล้ว ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 1,200 คนและมีผู้ถูกจับเป็นตัวประกันประมาณ 250 คน (ข้อมูลของฝ่ายอิสราเอล)

และนับตั้งแต่อิสราเอลส่งทหารเข้าโจมตีฉนวนกาซาเพื่อตอบโต้กลุ่มฮามาสและบุกชิงคืนตัวประกัน ก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วเกือบ 37,600 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวปาเลสไตน์ รวมทั้งเด็กและสตรี ขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของเขตปกครองนี้ถูกทำลายย่อยยับเหลือแต่ซาก

การต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน อาจทำให้อิสราเอลขยายวงการสู้รบ และเป็นการดึงอิหร่านเข้าสู่สมรภูมิ

รู้จัก"ฮิซบอลเลาะห์"และ"ฮามาส" กับพี่ใหญ่อิหร่าน

กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ก่อตั้งขึ้นในเลบานอนเมื่อปี 1982 ในช่วงสงครามกลางเมืองเลบานอนที่ยืดเยื้อยาวนาน 15 ปี วัตถุประสงค์ก่อตั้งเพื่อขับไล่กองกำลังป้องกันอิสราเอลที่ยึดครองเลบานอนอยู่ในขณะนั้น ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า ฮิซบอลเลาะห์และอิสราเอลนั้น เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมายาวนาน  

ฮิซบอลเลาะห์ได้รับแรงบันดาลใจในการเคลื่อนไหวจากการปฏิวัติอิหร่าน ทั้งนี้ ทางกลุ่มมีรัฐมนตรีในรัฐบาลเลบานอน รวมทั้งสส.ผู้ร่างกฎหมายในรัฐสภา

ในปีค.ศ. 2000 ฮิซบอลเลาะห์ขับไล่กองกำลังอิสราเอลออกจากเลบานอนได้สำเร็จ แต่ความขัดแย้งระหว่างทางกลุ่มกับอิสราเอลไม่ได้ยุติลง ยังคงมีการปะทะกันตามแนวชายแดนอยู่บ่อยครั้ง 

ต่อมาฮิซบอลเลาะห์ถูกรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลอิสราเอลขึ้นบัญชีดำในฐานะกลุ่มก่อการร้ายไม่ต่างจากกลุ่มฮามาสของปาเลสไตน์ โดยเชื่อว่าฮิซบอลเลาะห์อยู่เบื้องหลังการจับตัวประกันชาวอเมริกันหลายครั้ง รวมถึงปฏิบัติการพลีชีพที่สังหารนาวิกโยธินสหรัฐฯ 241 คนในกรุงเบรุต เมืองหลวงของเลบานอน เมื่อปี 1983 

ส่วน กลุ่มฮามาส ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1987 ในเขตฉนวนกาซา โดยแยกตัวออกจากสาขาภราดรภาพมุสลิมปาเลสไตน์ และดำเนินงานในฐานะพรรคการเมืองเช่นเดียวกัน มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ในกาซา

อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และประเทศตะวันตกหลายประเทศ ถือว่าทั้งกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ และฮามาส เป็นองค์กรก่อการร้าย อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน แต่ศักยภาพทางการทหารของฮิซบอลเลาะห์ถือว่าเหนือกว่าฮามาส เนื่องจากอิหร่านสนับสนุนทั้งอาวุธและเงินให้กับฮิซบอลเลาะห์ ทำให้ฮิซบอลเลาะห์กล่าวอ้างได้อย่างเต็มปากว่า มีอาวุธพร้อมโจมตีได้ทุกส่วนของอิสราเอล

แดเนียล บายแมน นักวิจัยอาวุโสของศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการต่างประเทศ ให้ความเห็นว่า กลุ่มฮิซบอลเลาะห์มีแสนยานุภาพน่าเกรงขามมากกว่ากลุ่มฮามาส และปฏิบัติการของทางกลุ่มในปัจจุบันก็นับเป็นฝันร้ายของอิสราเอล