ด่วน "ผู้เชี่ยวชาญ UN" ออกแถลงการณ์ จี้ "คดีตากใบ" อย่าให้ขาดอายุความ

24 ต.ค. 2567 | 12:51 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ต.ค. 2567 | 12:54 น.

ข่าวด่วน ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์เผยแพร่เว็บไซต์ UN เรียกร้องไทยแก้ไขปัญหาขาดอายุความในคดีตากใบ หวั่นยุติธรรมถูกปิดกั้น ครอบครัวเหยื่อ 85 รายรอคอยมานานกว่า 20 ปีเพื่อความเป็นธรรม รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (24ต.ค.67) เว็บไซต์องค์การสหประชาชาติ (UN) www.ohchr.org เผยแพร่แถลงการณ์ของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ โดยเนื้อหาระบุว่า มีความกังวลใจอย่างมากว่า การขาดอายุความของกรณีตากใบซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 85 รายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของไทยเมื่อปี 2547 นั้นจะทำให้ความพยายามเพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษสูญเปล่า

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2547 หลังจากการเจรจาล้มเหลว หน่วยงานความมั่นคงได้เปิดฉากยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่หน้าสถานีตำรวจตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมารวมตัวกันหลังจากมีการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยหกคนซึ่งถูกกล่าวหาว่า จัดหาอาวุธให้กับผู้ก่อความไม่สงบ มีรายงานว่าทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนเจ็ดราย และมีการจับกุมตัวผู้ชุมนุม 1,370 คน

จนนำไปสู่การให้ผู้ชุมนุมนอนซ้อนทับกันในรถบรรทุกเป็นเวลาห้าชั่วโมงเพื่อเดินทางไปยังค่ายทหาร ซึ่งถือเป็นกระทำทารุณกรรม และทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกจำนวน 78 คนในเวลาต่อมา ซึ่งล้วนเป็นชาวมุสลิมมาเลซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยทางศาสนา

“เรายินดีที่ในที่สุดก็มีการดำเนินคดีอาญาสองคดีจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยมีการออกหมายจับข้าราชการทั้งปัจจุบันและเกษียณอายุราชการแล้วที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามเรามีความกังวลอย่างยิ่งว่าหากไม่มีการดำเนินการใดๆ ต่อจากนี้ คดีความดังกล่าวจะจบลงเมื่ออายุความของคดีขาดไปในวันที่ 25 ตุลาคม 2567” กลุ่มผู้เชี่ยวชาญกล่าว
 

 

“เราอยากย้ำเตือนว่าหน้าที่ในการสอบสวน กำหนดบทลงโทษ และให้การเยียวยาแก้ผู้เสียหายจากคดีดังกล่าวนั้นมิอาจยุติลงเพียงเพราะเวลาผ่านพ้นไป และความล้มเหลวของการสอบสวนและนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนี้นั้น เป็นการละเมิดพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย กฎหมายระหว่างประเทศบัญญัติมิให้มีการกำหนดอายุความต่อการทรมาน และการกระทำทารุณกรรมอื่นๆ และหากมีการกระทำให้บุคคลสูญหาย อายุความจะเริ่มนับได้หลังจากที่ความผิดนั้นสำเร็จแล้ว นั่นหมายถึงมีการระบุชะตากรรมและถิ่นที่อยู่ของผู้สูญหายได้อย่างแน่ชัดแล้ว”
 
“ครอบครัวของผู้เสียหายต่างรอคอยเป็นเวลาเกือบสองทศวรรษเพื่อความยุติธรรม เราเรียกร้องให้รัฐบาลกระทำการอย่างเร่งด่วนเพื่อมิให้เกิดความล่าช้าของการรับผิดรับชอบอีกต่อไป และเพื่อให้สิทธิการรับรู้ความจริง ความยุติธรรม และการเยียวยาได้รับการเคารพ”
 
ผู้เชี่ยวชาญยังเรียกร้องให้มีการสอบสวนชะตากรรมและถิ่นที่อยู่ของผู้สูญหายเจ็ดคนจากเหตุการณ์ดังกล่าว
 
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญได้ส่งหนังสือแสดงความห่วงกังวลต่อกรณีดังกล่าวไปยังรัฐบาลไทย 

ที่มา : https://www.ohchr.org/en/press-releases/2024/10/thailand-statute-limitations-must-not-deny-justice-families-85-victims