คณะกรรมาธิการยุโรปเปิดตัวกลยุทธ์การรวมตัวเพื่อเตรียมความพร้อม Preparedness Union Strategy ชูแผนเร่งประชาชนจัดชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินติดบ้าน ท่ามกลางความกังวลภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นในทุกมิติ ทั้งภัยพิบัติธรรมชาติ การโจมตีทางไซเบอร์ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
นางอูร์ซูลา ฟอน เดอร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า "ความเป็นจริงใหม่ต้องการระดับการเตรียมพร้อมใหม่ในยุโรป พลเมือง ประเทศสมาชิก และภาคธุรกิจของเราต้องการเครื่องมือที่เหมาะสมทั้งเพื่อป้องกันวิกฤตและตอบสนองอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดภัยพิบัติ"
กลยุทธ์ล่าสุดมุ่งเน้นให้ทุกประเทศสมาชิกทั้ง 27 ประเทศพัฒนาแนวทางให้พลเมืองเตรียมชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินที่เพียงพอสำหรับการอยู่รอดด้วยตนเองอย่างน้อย 72 ชั่วโมง หากเกิดสถานการณ์ที่อาจถูกตัดขาดจากแหล่งอุปโภคบริโภคที่จำเป็น
ขณะที่นางฮัดญา ลาห์บิบ คณะกรรมาธิการด้านความช่วยเหลือมนุษยธรรมและการจัดการวิกฤต กล่าวเสริมว่า "ในสหภาพยุโรป เราต้องคิดต่างเพราะภัยคุกคามแตกต่างกัน เราต้องคิดใหญ่เพราะภัยคุกคามก็ใหญ่ขึ้นเช่นกัน"
ชุดอุปกรณ์ฉุกเฉิน 72 ชั่วโมงที่แนะนำให้พลเมืองเตรียมไว้ควรประกอบด้วย:
อาหารและน้ำสำรอง
ยารักษาโรคที่จำเป็น
วิทยุพกพา
ไฟฉายพร้อมแบตเตอรี่สำรอง
อุปกรณ์ชาร์จโทรศัพท์และแบตเตอรี่สำรอง
เงินสด
สำเนาเอกสารสำคัญ รวมถึงเอกสารระบุตัวตนและใบสั่งยา
กุญแจสำรอง
เสื้อผ้ากันหนาว
เครื่องมือพื้นฐาน เช่น มีดอเนกประสงค์
กลยุทธ์ดังกล่าวประกอบด้วยแผนปฏิบัติการ 30 ข้อ ครอบคลุม 7 ด้านสำคัญ ได้แก่ การปกป้องหน้าที่ทางสังคมที่สำคัญของยุโรป การส่งเสริมการเตรียมความพร้อมของประชากร การเสริมสร้างการประสานงานการตอบสนองต่อวิกฤต การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างพลเรือนและทหาร การเสริมสร้างความสามารถในการคาดการณ์ การเพิ่มความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และการเพิ่มความร่วมมือกับพันธมิตรภายนอก
ด้านประเทศสมาชิก หลายประเทศเริ่มดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวแล้ว อาทิ ฝรั่งเศสที่มีแผนจะส่งคู่มือการเอาตัวรอดไปยังทุกครัวเรือนภายในฤดูร้อนนี้
นอกจากการเตรียมความพร้อมระดับประชาชนแล้ว คณะกรรมาธิการยุโรปยังผลักดันให้มีการเพิ่มการสำรองอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ที่จำเป็น วัตถุดิบสำคัญ และการพัฒนาความร่วมมือพลเรือน-ทหาร โดยจะมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานวิกฤต EU Crisis Hub พร้อมคาดว่าจะเผยแพร่รายงานการประเมินความเสี่ยงและภัยคุกคามฉบับแรกในปลายปี 2569
ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าวได้รับการผลักดันจากรายงานนินิสตา (Niinistö Report) ที่ระบุว่า การเสริมสร้างการเตรียมความพร้อมของพลเรือนและทหารของยุโรปเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องอาศัยความร่วมมือในทุกระดับ ทั้งท้องถิ่น ภูมิภาค ระดับชาติ และระดับสหภาพยุโรป รวมถึงภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป