2568สังคมวัยทองเต็มเมือง ธนาคารอาคารสงเคราะห์เตรียม1หมื่นล้านเข็นโครงการ
ถ้ากล่าวถึงคำว่า Aging Society หรือรู้จักกันในชื่อ สังคมผู้สูงอายุ เชื่อว่าคนไทยหลายคนคงเคยได้ยินคำนี้ไม่มากก็น้อย คาดว่าอีกไม่นานจากนี้ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประเทศสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งตามข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขได้คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะกลายเป็น สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2568 โดยจะมีผู้สูงอายุ 1 คน ในประชากรทุกๆ 5 คน หรือมีผู้สูงอายุกว่า 14 ล้านคน ซึ่งเฉลี่ยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 5 แสนคนต่อปี
ทั้งนี้ คำจำกัดความการเข้าสู่ประเทศที่ถูกจัดเป็น "สังคมผู้สูงอายุ" จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ 1.ระดับเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ที่มีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 10% ของประชากรทั่วประเทศ หรือมีประชากรอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 7% และ 2.ระดับสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ (Aged Society) มีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% และมีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 14% และ 3.ระดับสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) มีคนอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 30% และอายุมากกว่า 65 ปี มากกว่า 20%
จากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ นับเป็นปัญหาสำคัญที่ภาครัฐจะต้องตระหนักและให้การดูแลจัดการเมื่อไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งในช่วงวันที่ 21-25 เมษายน ที่ผ่านมา ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ที่มีหน้าที่หลักในการดูแลเรื่องที่อยู่อาศัยของคนไทยโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ได้มีโอกาสพาชมเยี่ยมโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ณ ประเทศญี่ปุ่น ที่ถือเป็นประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบนับตั้งแต่ปี 2537 ด้วยจำนวนประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี ที่เกินกว่า 14% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และเพิ่มมาอยู่ที่ 26.8% หรือประมาณ 33 ล้านคนในปี 2557 ถือว่าประเทศญี่ปุ่นถูกจัดอยู่ในสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด
ดังนั้นไม่แปลที่ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นต้นแบบของการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 5 พันแห่งทั่วประเทศ และแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันออกไปตามพื้นที่และลักษณะของผู้สูงอายุ ที่มีตั้งแต่ช่วยเหลือตัวเองได้ และต้องการคนดูแล เป็นต้น
Smart Community ความสุขหลังเกษียณ
โครงการ "Smart Community" เริ่มดำเนินการในเดือนกรกฎาคม 2547 ซึ่งนายมาซามิชิ โซมิโนะ ประธานบริษัท Smart Community Inage เล่าให้ฟังว่า แนวคิดการสร้างโครงการ คือ การพยายามให้ประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่ "ผู้สูงอายุจะมีค่าครองชีพเพียงครึ่งเดียว" และให้ผู้สูงอายุกลับมามีชีวิตชีวาและมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น ในแนวความคิด "Shape of the New Life Longer" โดยที่อยู่อาศัยจะมีลักษณะแมนชั่น-คอนโดมิเนียมที่มีบริเวณขวางกว้างและมีกิจกรรมที่เตรียมไว้สำหรับผู้สูงอายุให้ได้ใช้บริการอย่างครบครัน
อย่างไรก็ดีผู้สูงอายุที่จะเข้ามาอาศัยอยู่ในโครงการ Smart Community จะต้องเป็นผู้สูงอายุอายุตั้งแต่ 50 ปี แต่จะต้องเป็นผู้ที่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง และที่สำคัญจะต้องมีความสามารถในการจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งหมด ทั้งในส่วนของค่าแรกเข้าเป็นสมาชิกและค่าใช้จ่ายรายเดือน ที่นับว่าค่อนข้างสูงไม่ใช้น้อย แต่ผู้สูงอายุในญี่ปุ่น โดยเฉพาะผู้ที่เคยรับข้าราชการจะมีเงินบำนาญช่วยเหลือ ซึ่งโดยเฉลี่ยต่อคนจะอยู่ที่ 1.2 แสนเยนต่อเดือน ส่วนพนักงานทั่วไปหรือนักธุรกิจจะมีเงินช่วยเหลือเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น ทำให้ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมีเงินบำนาญส่วนหนึ่งมาจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการเข้าพักอาศัย
สำหรับค่าใช้จ่ายที่ผู้สูงอายุจะต้องเสียนั้น ประกอบด้วย ค่าสมาชิกแรกเข้าจำนวน 5 แสนเยนต่อคน หรือ 2 คน จะอยู่ที่ 7.5 แสนเยน ค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ 4.28 หมื่นเยนต่อเดือน ค่าอาหารรวม 3 มื้อจำนวน 4.19 หมื่นเยนต่อเดือน รวมค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ 8.47 หมื่นเยนต่อเดือน กรณีอยู่ 2 คนค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ 1.60 แสนเยนต่อเดือน นอกจากนี้ยังมีค่าใช้สถานีอีกจำนวน 1.4 ล้านเยนต่อคน กรณี 2 คน จะอยู่ที่ 2.1 ล้านเยน
ในกรณีที่ผู้สูงอายุอยู่ไม่ครบหรือกรณีเสียชีวิตหลังจากอยู่ไปแล้ว 5 ปี โครงการจะทยอยคืนเงินตามอายุการใช้งานของผู้สูงอายุรายนั้นๆ เป็นรายกรณี ดังนั้น หากรวมค่าสมาชิกแรกเข้าและค่าส่วนกลางในการใช้สถานที่ผู้สูงอายุจะต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นรวม 1.9 ล้านเยน ซึ่งยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 8% เรียกได้ว่าผู้สูงอายุจะมาแต่ตัวคงไม่ได้ อาจจะต้องมีเงินหรือมีฐานะจึงจะใช้บริการสถานที่ได้ หรือการใช้บำนาญที่ได้มาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้บ้างส่วน
โครงการ Smart Community มีพื้นที่ทั้งหมด 3.3 หมื่นตารางเมตร มีห้องทั้งสิ้น 800 ห้อง มีสมาชิกทั้งหมด 700 คน แบ่งเป็นผู้หญิงประมาณ 58% และผู้ชายจำนวน 42% อายุโดยเฉลี่ยประมาณ 72 ปี ซึ่งอายุต่ำสุดจะอยู่ที่ 54 ปี สูงสุด 92 ปี ซึ่งในแต่ละวันผู้สูงอายุจะเข้าร่วมโปรแกรมประมาณ 7-8 โปรแกรม จากที่มีให้เลือกทำมากกว่า 50 โปรแกรม อาทิ คอร์สเต้นรำ ฟุตบอล ตีกอล์ฟ ซ้อมดนตรี เป็นต้น ตลอดจนมีบาร์-คาเฟ่ ร้านหมอฟันให้ผู้สูงอายุใช้บริการได้อีกด้วย โดยในแต่ละวันจะมีคนดูแล 24 ชั่วโมง และหากมีอาการเจ็บป่วยสามารถส่งโรงพยาบาลได้ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากโครงการได้มีความร่วมมือกับโรงพยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียงไว้แล้ว
"ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นจะมีแนวความคิดหลักๆ อยู่ 3 เรื่อง คือ เรื่องสุขภาพ สุขภาพด้านจืดใจ และเรื่องเงิน ซึ่งคนที่มาอยู่ที่นี่สามารถนำเงินบำนาญมาใช้ได้ โดยซื้อห้องในแมนชั่นและสามารถเป็นสมาชิกได้ ซึ่งในช่วงฤดูร้อนหน้าจะเปิดห้องเพิ่มอีกจำนวน 130 ห้อง เพื่อรองรับผู้สูงอายุที่จะมีจำนวนมากขึ้น และทยอยเปิดเพิ่มอีก 100 ห้อง ในช่วงหน้าร้อนที่กำลังจะมาถึง"
แนะรัฐ-เอกชนร่วมมือ
ในส่วนฟากโครงการ "Senior Park Support" นำโดย นายคาซูโนริ ยามานากะ รองประธานกรรมการ ได้เล่าให้ฟังว่า โครงการ "Senior Park Support" ถือเป็นโครงการของภาคเอกชน 100% ซึ่งตอนนี้จำนวน 8 แห่งด้วยกัน เช่น เมืองชิบะ ไซตามะ โตเกียว อิบารากิ เป็นต้น โดยแนวทางการขยายสาขาแต่ละแห่งจะขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของประชากรผู้สูงอายุ โดยจะขยายในเมืองรองๆ จากจังหวัดใหญ่ ทั้งนี้ หากดูจำนวนโครงการที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุทั้งหมดปัจจุบันมีมากกว่า 5 พันแห่งทั่วประเทศ แบ่งตามระดับของผู้สูงอายุ
โดยโครงการ "Senior Park Support" ได้รับใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) อยู่ในระดับ 3 ที่รองรับผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งร่างกายอาจจะไม่แข็งแรงมากนัก โดยสัญญาที่พักจะอยู่ที่ประมาณ 6 เดือนขึ้นไปจนตลอดอายุขัย ซึ่งจำนวนผู้สูงอายุที่เข้ามาพักประมาณ 50% มีญาติดูแล และอีก 50% จะไม่มีญาติ เพราะส่วนหนึ่งนำเงินบำนาญมาเป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันผู้สูงอายุจะต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณคนละ 1.5 แสนเยนต่อเดือน หรือประมาณ 4.5 หมื่นบาทต่อเดือน รวมค่าอาหาร ค่าน้ำค่าไฟ โดยจะมีผู้ดูแล 24 ชั่วโมง และจะมีแพทย์เข้ามาตรวจสุขภาพ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือกรณีฉุกเฉินสามารถเรียกแพทย์เข้ามาตรวจอาการได้ทันที
ทั้งนี้ การคัดเลือกผู้สูงอายุว่าจะพักที่โครงการไหน จะเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลตามระดับไลเซ่นส์ที่ได้รับอนุญาต เช่น ผู้สูงอายุที่สามารถพอจะเดินไหวจะอยู่อีกที ส่วนกลุ่มที่ดูแลตัวเองไม่ค่อยไหวจะอยู่ที่นี่ เป็นต้น โดยปัจจุบันอัตราการพักอาศัยของโครงการ Senior Park Support อยู่ที่ 60% ซึ่งการเพิ่มอัตราการเข้าพักจะขึ้นอยู่กับการคัดเลือกของโรงพยาบาล อย่างไรก็ดี สิ่งที่เป็นปัญหาของโครงการที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ จะเป็นเรื่องของการขาดแคลนผู้ดูแลคนสูงอายุ เพราะว่าไม่ค่อยมีคนที่จะเข้ามาทำงานในส่วนนี้มากนัก ส่งผลให้อัตราค่าจ้างผู้ดูแลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
แม้จำนวนโครงการที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุมีจำนวนมากในประเทศญี่ปุ่น และมีบริษัทที่ทำธุรกิจโครงการที่อยู่อาศัยเกิดขึ้นใหม่ค่อนข้างเยอะ แต่จะเห็นว่ายังไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และแนวโน้มระยะต่อจากนี้จำนวนผู้สูงอายุจะยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต จึงอยากจะเสนอให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้สูงอายุ ดำเนินนโยบายการดูแลผู้สูงอายุไปในทิศทางเดียวกันทั้ง 3 ส่วน โดยเฉพาะภาครัฐและเอกชนน่าจะมีความร่วมมือกันจัดตั้งสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ผู้สูงอายุจะต้องเสียให้ถูกลง และภาคเอกชนช่วยดำเนินการสถานที่ให้ เพราะปัจจุบันภาครัฐจะช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องของการเบิกค่าใช้จ่ายบ้างส่วนในเรื่องของบำนาญเท่านั้น
"ผู้ที่ประกอบธุรกิจจัดพักที่อยู่อาศัยจะต้องเสียภาษีให้รัฐบาล ซึ่งหากภาครัฐและเอกชนหุ้นกันจะทำให้ค่าใช้จ่ายของการดูแลผู้สูงอายุถูกลง โดยเรามีแผนจะขยายสาขาเพิ่มอีกจำนวน 10-20 แห่ง เพราะดูแนวโน้มคนสูงวัยจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง"
เตรียม 1 หมื่นล้านเข็นโครงการ
นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวภายหลังการเยี่ยมชมโครงการที่อยู่อาศัยในประเทศญี่ปุ่น ว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งธนาคารถือเป็นธนาคารที่ดูแลเรื่องที่อยู่อาศัยของคนไทย โดยไม่ได้หวังผลกำไร จึงมีแนวคิดที่จะทำโครงการที่อยู่อาศัยของผู้สูงวัย โดยจะมีสินเชื่อที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงวัย ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับโครงการที่พักผู้สูงวัยของญี่ปุ่น แต่ธนาคารจะมุ่งเน้นกลุ่มผู้สูงวัยที่มีรายได้น้อย โดยจะหามาตรการจูงใจผู้ประกอบการที่จะเข้ามาทำโครงการดังกล่าวผ่านอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้ามาสร้างโครงการนี้
อย่างไรก็ตาม รูปแบบการสร้าง หรือการเข้ามาพักอาศัยของผู้สูงอายุจะเป็นในลักษณะใด ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากโครงการนี้จะเป็นโครงการที่สนับสนุนสังคมผู้สูงอายุในระยะยาวของประเทศไทย จึงจะต้องทำแผนงานและคิดให้รอบคอบมากที่สุด จึงต้องใช้เวลาในการปรึกษาหารือ โดยจะมีการร่วมมือกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และการเคหะแห่งชาติ เพื่อหาข้อสรุปในการดำเนินรูปแบบโครงการดังกล่าว คาดว่าภายใน 6 เดือนน่าจะมีความชัดเจนออกมา ซึ่งในเบื้องต้นธนาคารได้วางวงเงินสินเชื่อโครงการดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท
"เราอาจจะหามาตรการออกมาให้ผู้ประกอบการเข้ามาสร้างโครงการบ้านพักผู้สูงอายุ แต่เราจะเน้นผู้สูงวัยที่มีรายได้น้อย แต่ขอไปหารือกับกระทรวงพัฒนาสังคมฯ และการเคหะฯ ก่อน ต้องวางแผนให้รอบคอบ เพราะจะเป็นโครงการระยะยาว เช่น ใครจะมาซื้อ และถ้าให้ลูกหลานซื้อจะซื้ออย่างไร สัญญาจะเป็นลักษณะไหน เรื่องเหล่านี้ต้องมีรูปแบบให้ชัดเจน"
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,164 วันที่ 9 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2559