ในช่วงหลายปีหลัง ผู้คนทั่วโลกอาจแอบทึ่ง หรือแม้กระทั่งอิจฉาในความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน ที่เติบใหญ่มากเป็นประวัติการณ์ และมักสอบถามถึงเหตุผลเบื้องหลังอยู่เสมอ แต่สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ก็คือ รัฐบาลจีน “เปิดกว้าง” ทางความคิด และใช้ “ทุกช่วง” ของโอกาสและเวลาอย่างเต็มที่เสมอ แม้กระทั่งในยามราตรี …
จากสถิติระบุว่า ปัจจุบัน จีนมีเมืองที่พยายามพัฒนา “เศรษฐกิจยามค่ำ” (Night Economy) หรือที่ผมชอบเรียกว่า “ราตรี-โคโนมี” ถึงกว่า 200 เมืองทั่วจีน เพื่อให้เมืองมีสีสัน กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย เพิ่มการจ้างงาน และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม รัฐบาลท้องถิ่นจึงพยายามออกมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยผสมผสานวัฒนธรรม การท่องเที่ยว การกีฬา และด้านอื่นๆ เข้าด้วยกันอย่างสร้างสรรค์
ผู้เชี่ยวชาญมองว่า โดยลักษณะของ “ราตรี-โคโนมี” นับว่ามีประโยชน์อย่างมากในระยะสั้น และจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมของจีนฟื้นตัวได้เร็วในยุคหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่
งานวิจัยหนึ่งประเมินว่า ในปี 2020 ขนาดเศรษฐกิจในส่วนนี้มีมูลค่าแตะหลัก 30 ล้านล้านหยวน และคาดว่าจะเติบโตพุ่งทะลุ 40 ล้านล้านหยวนในสิ้นปี 2022 เลยทีเดียว
ขณะเดียวกัน ขนาดเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมนี้ ก็ซ่อนไว้ซึ่งศักยภาพทางเศรษฐกิจจากโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเดิมที่มีอยู่ อาทิ พื้นที่จำหน่ายสินค้าและร้านอาหารริมทางเท้าหรือ “ถนนคนเดิน” โดยประหยัดค่าพื้นที่ ค่าแอร์ และค่าใช้จ่ายอื่น ที่ไม่อาจทำได้ในช่วงกลางวัน
สิ่งเหล่านี้ช่วยเสริมสร้างสีสันของเมือง และเพิ่มความมีชีวิตชีวาในการจับจ่ายใช้สอยของคนท้องถิ่น และนักท่องเที่ยวในแต่ละเมือง อันจะส่งผลให้เป็นอีกกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของจีนได้ในระยะยาว
รายงานผลการศึกษาเมื่อปี 2019 ที่จัดทำโดยเทนเซ้นต์ (Tencent) บิ๊กเทคชั้นนำของจีน และสถาบันเลี่ยวว่าง (Liaowang Institute) ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะชื่อดังของจีน ระบุว่า 60% ของการบริโภคของชาวจีนเกิดขึ้นในช่วงพลบค่ำและกลางคืน
ขณะเดียวกัน ยอดขายของช้อปปิ้งมอลล์จีนระหว่างเวลา 18.00-22.00 น. (4 ชั่วโมง) มีสัดส่วนคิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของยอดขายในแต่ละวัน ผลการวิจัยอาจพอสรุปได้ว่า คนจีนกิน-ใช้กันมากขึ้นหลังพระอาทิตย์ตกดิน
การประเมินล่าสุดของ “อี้ฉายมีเดีย” (Yicai Media) แห่งเซี่ยงไฮ้สรุปว่า ในบรรดากว่า 200 เมืองในจีน ที่ดำเนินนโยบายดังกล่าว เซี่ยงไฮ้ได้ก้าวขึ้นเป็นแชมป์เมืองผู้นำด้าน “ราตรี-โคโนมี” ของจีน
การศึกษาของ “อี้ฉายมีเดีย” ดังกล่าวกำหนดดัชนีวัด “ราตรี-โคโนมี” โดยอาศัยปัจจัย 6 ด้าน อันได้แก่ กิจกรรมการท่องเที่ยวยามราตรี ภาพยนตร์รอบดึก บริการขนส่งมวลชนและบริการสาธารณะในช่วงกลางคืน ไฟฟ้าแสงสว่าง จำนวนบาร์ และพื้นที่การแสดงพิเศษที่มีสีสัน เช่น โรงละคร และ ทอล์กโชว์
ผลการประเมินสรุปว่า ในปี 2022 เซี่ยงไฮ้ทำคะแนนได้ดีในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแสงสว่างยามราตรี บริการรถโดยสารประจำทางและรถไฟใต้ดิน และพื้นที่การจัดแสดงพิเศษ ทำให้สามารถครองแชมป์เศรษฐกิจยามค่ำคืนของจีน ตามมาด้วย เซินเจิ้น ปักกิ่ง และ เฉิงตู
“อี้ฉายมีเดีย” ยังระบุถึงศักยภาพและแนวโน้มการพัฒนาของอุตสาหกรรมราตรี-โคโนมีว่า เกิดขึ้นมากในส่วนของการเติบใหญ่ของตลาดการแสดงพิเศษ และการผสมผสานระหว่างธุรกิจการค้า การท่องเที่ยว วัฒนธรรม กีฬา และอุตสาหกรรมการจัดงาน โดยในส่วนนี้ เซี่ยงไฮ้นำโด่งในด้านจำนวนและพื้นที่โรงภาพยนตร์ พิพิธภัณฑ์ โรงละคร และพับบาร์ที่มีการจัดแสดงพิเศษ
ในระหว่างปี 2020-2021 สัดส่วนของพื้นที่เหล่านี้ในเซี่ยงไฮ้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากราว 50 แห่งเป็นถึง 144 แห่ง ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของสถานที่จัดแสดงโดยรวม เราจึงเห็นการแสดงละครสด เดี่ยวไมโครโฟน และกิจกรรมพิเศษขยายตัวอย่างรวดเร็วและหลากหลายในเซี่ยงไฮ้
ด้วยความพร้อมดังกล่าว เราจึงเห็นจำนวนนักท่องราตรีในเซี่ยงไฮ้ในปี 2021 เพิ่มขึ้นเป็นราว 3.38 ล้านคน สูงกว่าของเมืองใหญ่อื่นๆ อยู่มาก โดยจำนวนของผู้คนที่เดินทางในย่านธุรกิจของเซี่ยงไฮ้ระหว่างเวลา 19.00 น. ถึง 06.00 น. ในวันรุ่งขึ้น มีสัดส่วนถึง 40% ของการเดินทางตลอดวัน และแม้ว่าเราจะตัดคนที่ทำงานกลับบ้านค่ำ และส่วนที่ออกไปทำงานเร็วตั้งแต่เช้าตรู่ออกไป สัดส่วนดังกล่าวก็ยังถือว่าสูงมากอยู่ดี
ปัจจุบัน เซี่ยงไฮ้มีร้านสะดวกซื้อที่เปิดให้บริการตลอด หรือ เกือบตลอด 24 ชั่วโมงเฉียด 6,000 แห่ง และร้านอาหารที่เปิดบริการในช่วงหลังเที่ยงคืนมากกว่า 13,000 แห่ง รวมทั้งยังมีสถานีรถไฟใต้ดินจำนวนกว่า 500 สถานีที่เปิดให้บริการหลัง 22.00 น.
นอกจากนี้ รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ยังพยายามเพิ่มโอกาสการจับจ่ายใช้สอย ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยจัดงาน “เทศกาลราตรี” (Night Festival) ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของ “เทศกาลช้อปปิ้ง” (Shopping Festival) ชื่อดังของเมืองที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
มหานครแห่งราตรีนี้ยังตกแต่งประดับประดาพื้นที่สาธารณะ อาทิ ถนน สะพาน และ สวนสาธารณะ ให้มีสีสันสะดุดตา และจัดตั้งถนนคนเดินพิเศษขึ้น 3 สาย ย่านท่องเที่ยวราตรี 15 เขต และหลายสิบพื้นที่ริมน้ำให้ผู้คนได้เพลิดเพลินยามราตรี
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาด และอื่น ๆ ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน
หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,822 วันที่ 29 กันยายน - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565