ผมเชื่อมั่นว่า ท่านผู้อ่านหลายคนที่เคยไปเยือนเซี่ยงไฮ้ คงไม่พลาดโอกาสการล่องเรือในแม่น้ำหวงผู่ (Huangpujiang) ที่แบ่งเซี่ยงไฮ้ออกเป็นฝั่งผู่ซีและผู่ตง เหมือนกับฝั่ง กทม. กับฝั่งธนฯ ของเรา เซี่ยงไฮ้ออกแบบเส้นทางและพื้นที่ล่องเรือในบริเวณใจกลางเมือง ที่มี เดอะบันด์ และ หอคอยไข่มุกเป็นศูนย์กลาง โดยฝั่งหนึ่งมีอาคารเก่าอายุ 100 ปี ที่มีสถาปัตยกรรมแบบยุโรป และอีกฝั่งหนึ่งมีอาคารสูงแห่งโลกการเงินเป็นไฮไลต์ ตามลำดับ
อาคารเหล่านี้ถูกอาบด้วยแสง และมีเลเซอร์หลากสียิงจากตัวอาคารไปรอบด้าน รวมทั้งมีป้ายโฆษณาแอลอีดี ทั้งบนตัวอาคาร และนอกตัวอาคาร ยาวเหยียดต่อเนื่องหลายกิโลเมตรตลอดสองฝากฝั่งแม่น้ำ
อันที่จริง เซี่ยงไฮ้ได้นำร่องพัฒนา “ราตรี-โคโนมี” มานานกว่า 20 สิบปีแล้ว ในตอนที่ผมไปประจำที่เซี่ยงไฮ้เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ไกด์ท้องถิ่นคนหนึ่งก็เคยเล่าให้ฟังว่า ในอดีต รัฐบาลเซี่ยงไฮ้มีนโยบายส่งเสริมธุรกิจล่องเรือท่องเที่ยวทางน้ำ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจยามราตรี
อย่างไรก็ดี ในยุคนั้น เศรษฐกิจเซี่ยงไฮ้ยังไม่ได้ดีมาก ดังเช่นในช่วงหลายปีหลัง รัฐบาลจึงขอให้ธุรกิจสองฝากฝั่งแม่น้ำ ช่วยเปิดไฟแบบจัดเต็มให้บ้านเมืองริมสองฝั่งแม่น้ำสว่างไสวและงดงามจนถึง 22.00 น. โดยรัฐบาลเซี่ยงไฮ้รับผิดชอบค่าไฟฟ้าในช่วงเย็น-สี่ทุ่มให้แทน
อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมา เมื่อเศรษฐกิจเซี่ยงไฮ้เติบใหญ่ ธุรกิจก็แข็งแกร่ง และยินดีสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล โดยดูแลรับผิดชอบค่าไฟฟ้าเอง เพราะถือเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ธุรกิจของตนเอง ผ่านสายตานักท่องเที่ยวหลายล้านคนในแต่ละปี ด้วยเงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ในทำนองเดียวกัน เราเห็นเมืองอื่นๆ พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจยามราตรีในหลายรูปแบบเช่นกัน โดยกรุงปักกิ่งกำหนดแนวทางการผลักดันด้วยการออกแคมเปญที่มุ่งเน้น “ปักกิ่งสไตล์” แฟชั่น วัฒนธรรม และเทคโนโลยี โดยเฉพาะในปีนี้จะมีธุรกิจเกือบ 10,000 ราย ในพื้นที่เข้ามาร่วมแคมเปญ
ร้านรวง ห้องสมุด ร้านหนังสือ และอื่นๆ จะขยายเวลาการเปิดให้บริการเพื่อเก็บเกี่ยวประโยชน์จากการจับจ่ายใช้สอยในช่วงค่ำคืน ขณะเดียวกัน กิจกรรมที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก จะได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากภาครัฐ อาทิ คอนเสิร์ตกลางแจ้ง และ การท่องเที่ยวทางเท้า รวมทั้งกิจกรรมพิเศษมากมาย
อาทิ เช่น ในช่วง 19.30-21.30 น. ของทุกคืนวันศุกร์และวันเสาร์ นักท่องเที่ยวสามารถไปสนุกสนานกับการปีกกำแพงเมืองจีนในบริเวณด่านปาต้าหลิ่ง (Badaling) และการแจกคูปองกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและการรับประทานอาหารนอกบ้านจำนวนมาก โดยการดำเนินกิจกรรมภายใต้แคมเปญนี้ จะลากยาวต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน ศกนี้
หังโจว เมืองเอกของมณฑลเจ้อเจียง ก็กำหนดแผนงานการกระตุ้น “ราตรี-โคโนมี” ผ่านกว่า 100 กิจกรรม อาทิ การช้อปปิ้ง การจัดงานเลี้ยงนอกสถานที่ การชมเมือง กิจกรรมทางวัฒนธรรม การพักผ่อนหย่อนใจ และการออกกำลังกาย ยิ่งพอมองออกไปในปีหน้าที่หังโจวจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ในช่วงเดือนกันยายนต่อตุลาคมด้วยแล้ว หังโจวอาจกลายเป็นเมืองที่ไม่ยอมหลับใหลไปอีกแห่งหนึ่ง
ฉางซา เมืองเอกของมณฑลหูหนาน ใช้ประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเซียงเจียง (Xiangjiang) ตั้งแต่ก่อนวิกฤติโควิด-19 เพื่อเป็นจุดดื่ม-กิน แหล่งช้อปปิ้ง สถานที่พักผ่อนหย่อนใจและชื่นชมทัศนียภาพที่สวยสดงดงามของเมือง พร้อมริเริ่มจัดตั้งศูนย์บริการเศรษฐกิจยามราตรีขึ้นเพื่อให้บริการแก่ร้านค้าและประชาชนในระหว่าง 20.00-02.00 น.
ขณะเดียวกัน “ราตรี-โคโนมี” ยังเปิดโอกาสให้คนท้องถิ่นทำอาหารคาว-หวาน และนำเอาสินค้าเกษตรออกมานำเสนอขาย ขณะเดียวกัน ธุรกิจขนาดจิ๋วก็สามารถผลิตสินค้าแฟชั่นที่มีคราบไคลของวัฒนธรรมท้องถิ่น และสินค้าหัตถกรรมจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งเป็นการเพิ่มการจ้างงาน การจับจ่ายใช้สอย และการรักษาและต่อยอดวัฒนธรรมอันดีให้เป็นที่รู้จักและแพร่หลาย
ในทางกลับกัน เพื่อมิให้ “ราตรี-โคโนมี” ส่งผลเสียต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของเมือง อาทิ ยาเสพติด การค้าประเวณี และอาชญากรรม รัฐบาลท้องถิ่นจึงให้ความสำคัญกับการจัดระเบียบในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำกับควบคุมเข้มธุรกิจสีเทา และเข้มงวดกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวและธุรกิจยามราตรี เช่น การตรวจสอบอายุของผู้ใช้บริการ พฤติกรรม “เมาไม่ขับ” เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุและความสูญเสีย
การจัดสรรพื้นที่ให้ย่านท่องเที่ยวยาวราตรีกระจุกเป็นส่วนๆ ก็ช่วยให้ตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย สามารถกำกับดูแลความปลอดภัยแก่ร้านอาหาร พับบาร์ และจุดบริการแท็กซี่ หรือแม้กระทั่งเส้นทาง/สถานีรถไฟใต้ดินได้อย่างเหมาะสม ซึ่งส่วนนี้ก็ช่วยอำนวยความสะดวกแก่นักท่องราตรีและลดปัญหาที่เกี่ยวข้องลงได้
เวลาผ่านไปไม่นาน เศรษฐกิจของเซี่ยงไฮ้ได้เติบใหญ่ และแข็งแรงขึ้น และปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงค์จาก “ราตรี-โคโนมี” ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจยามราตรีคาดว่าจะมีส่วนช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 ของหลายหัวเมืองในปีนี้ได้ไม่มากก็น้อย
จีนเปิดประเทศอีกครั้งเมื่อไหร่ เราคงต้องเดินทางไปพิสูจน์กันว่า กว่า 200 หัวเมืองในจีนเป็นนครที่ไม่เคยหลับใหลมากน้อยเพียงใด …
เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาด และอื่น ๆ ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน
หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,823 วันที่ 2 – 5 ตุลาคม พ.ศ. 2565