ศก.ไทยขยายตัว ได้ท่องเที่ยวหนุน ตั้งรัฐบาลใหม่ตัวแปร

14 พ.ค. 2566 | 06:24 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ค. 2566 | 06:57 น.

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ศก.ไทยขยายตัว ได้ท่องเที่ยวหนุน ตั้งรัฐบาลใหม่ตัวแปร

อุณหภูมิทางการเมืองเดือดพล่าน ไม่แพ้อุณหภูมิของสภาพอากาศที่ร้อนพุ่งสูงขึ้น แต่ละพรรคการเมืองต่างฟาดฟันกัน เพื่อช่วงชิงคะแนนเสียง เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
 
ทุกฝ่ายต่างจับตามองผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ เพราะนั่นมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลและกำหนดชะตาของประเทศว่าจะเดินไปทิศทางใด โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เรื่องปากท้องของพี่น้องประชาชน จะได้รับการดูแลมากน้อยเพียงใด
 
ภาวะเศรษฐกิจของไทยในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานว่า เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 2565 จากจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่เพิ่มขึ้นโดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไทยกว่า 6.47 ล้านคน เป็นเครื่องจักรสาคัญ ที่ส่งผลให้ภาคบริการและเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวสูงขึ้นตาม รวมถึง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ลดลงจากผลของฐานสูงในปีก่อน

ขณะที่ช่วงไตรมาสที่ 2 ภาวะเศรษฐกิจไทย ยังได้อานิสงส์จากภาคการค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ที่จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาอยู่ประมาณ 2.5-3 ล้านคนต่อเดือน รวมถึงการส่งออกสินค้าที่ทยอยปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แต่ก็ต้องติดตามเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนและผันผวนสูงขึ้น รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค
 
นักเศรษฐศาสตร์ คาดการณ์เติบโตทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ไตรมาสแรก 2566 ที่ประมาณ 2.6-2.7% ตํ่ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3 % ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) จะประกาศตัวเลขเศรษฐกิจจริงในไตรมาสแรกของปีนี้ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 นี้
 
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าในช่วงครึ่งปีหลัง เป็นอย่างไรนั้น นักเศรษฐศาสตร์ ได้ให้มุมมองว่า ต้องติดตามผลการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จะเป็นอย่างไร เพราะจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน หากมีการจัดตั้งล่าช้าออกไป จะมีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินและการคลัง ในการนำงบประมาณมาใช้ในการดำเนินงาน 

รวมถึงต้องเร่งรับมือกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีหลายตัวแปรจะมากดดันเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็น ภาวะเงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยเฉพาะรัสเซียและยูเครนที่ยังไม่คลี่คลาย 

รวมถึงความไม่แน่นอนของตลาดการเงินโลก เพราะปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ล้วนส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทย หากไม่มีการตั้งรับที่ดีพอหรือทันต่อสถนการณ์ที่เกิดขึ้น
 
ดังนั้น คงต้องมาลุ้นกันถึงผลการเลือกตั้งที่จะออกมาว่าจะเป็นอย่างไร และจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้เร็วแค่ไหน เพราะหากจะให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง เลือกตั้งจบต้องไม่มีการขัดแย้ง และจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว เศรษฐกิจไทยถึงจะเดินหน้าต่อไปได้