นายกฯ ปลื้มเศรษฐกิจไทยมี.ค.66 ปรับตัวดีขึ้น หนุนท่องเที่ยว-เกษตรขยายตัว

06 พ.ค. 2566 | 08:59 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ค. 2566 | 09:27 น.

นายกฯ ปลื้มภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนมี.ค.66 ปรับตัวดีขึ้น รับอานิสงส์ภาคท่องเที่ยว-เกษตรขยายตัว ฟากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 สูงสุดในรอบ 37 เดือน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนมีนาคม 2566 รัฐบาลพร้อมประเมินสถานการณ์ ปรับการดำเนินการเพื่อให้สะท้อนสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง 


“นายกรัฐมนตรียืนยันว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์ของพี่น้องคนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว และภาคการเกษตรที่ขยายตัวได้ดีจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและส่งเสริมภาคการเกษตรของรัฐ รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงความกังวลจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ ยืนยันว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายเพื่อประเทศในภาพรวม ปรับอย่างสอดคล้องเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ จึงทำให้ตัวเลขสะท้อนศักยภาพและความเชื่อมั่น” 
 

สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม 2566 โดยกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนมีนาคม 2566 เท่ากับ 107.76 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 104.79 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้นร้อยละ 2.83 (YoY) ซึ่งเป็นการสูงขึ้นแบบชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำสุดในรอบ 15 เดือน 


ส่วนสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าอาหารที่ราคาชะลอตัวเกือบทุกกลุ่มสินค้า ทั้งไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้เครื่องประกอบอาหาร อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน ทำให้อยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนดไว้ 
 

นายกฯ ปลื้มเศรษฐกิจไทยมี.ค.66 ปรับตัวดีขึ้น หนุนท่องเที่ยว-เกษตรขยายตัว

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนมีนาคม 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.8 จากระดับ 52.6 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และสูงสุดในรอบ 37 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งมองว่า เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดีและแรงกดดันจากระดับราคาสินค้าลดลงต่อเนื่อง สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 อยู่ในระดับสูงที่ 224.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ