ทางเลือก สำหรับคนไม่ถูกเลือก

19 ส.ค. 2565 | 23:24 น.

Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

บ่อยครั้งที่รุ่นอาวุโสของธุรกิจครอบครัวต้องกำหนดกระบวนการคัดเลือกลูกหลานมาเป็นผู้สืบทอดเพื่อเป็นผู้นำบริษัทในอนาคต ซึ่งโดยปกติแล้วผู้สืบทอดที่ได้รับเลือกจะได้รับตำแหน่งประธานบริษัทหรือซีอีโอ โดยในช่วงระยะเวลาหนึ่งทจะทายาทจะทำงานภายใต้การดูแลของสมาชิกในครอบครัวอาวุโสซึ่งอาจเป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจนี้

 

หลังจากนั้นจึงจะเข้ารับช่วงต่อการควบคุมการดำเนินธุรกิจอย่างสมบูรณ์ในที่สุด นั่นหมายความว่าชะตากรรมของการดำเนินธุรกิจในอนาคตอยู่ในมือของผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ส่วนพี่น้องคนอื่นๆ ที่ไม่ได้รับเลือกจะเป็นอย่างไรนั้นมีอยู่ 2 แนวทาง ได้แก่

 

ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ถูกเลือก เนื่องจากธุรกิจจะประสบความสำเร็จหรือไม่อย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับความพยายามของผู้สืบทอด ในขณะที่พี่น้องคนอื่นๆ ก็เป็นหุ้นส่วนของธุรกิจด้วย ดังนั้นชะตากรรมทางการเงินของพวกเขาจึงอยู่ในมือของพี่น้องที่ได้รับเลือกเป็นผู้สืบทอดด้วย ซึ่งอาจเกิดปัญหามากมายขึ้น

ทางเลือก สำหรับคนไม่ถูกเลือก

เว้นแต่จะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ไว้เมื่อมีการวางแผนแบ่งมรดกของสมาชิกในครอบครัวรุ่นก่อนแล้ว ในบางกรณีสมาชิกรุ่นอาวุโสอาจต้องการให้บุตรหลานของตนเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจครอบครัว ด้วยความคิดว่า: ฉันต้องการให้ลูกๆ มีส่วนร่วมในธุรกิจที่ฉันช่วยสร้างขึ้นมาตั้งแต่เริ่มต้น  

 

อย่างไรก็ตามหากความเป็นเจ้าของในธุรกิจครอบครัวถูกแบ่งออกไปให้พี่น้องทุกคน อำนาจควบคุมไม่ได้อยู่กับผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นซีอีโอ อาจส่งผลให้การดำเนินธุรกิจในอนาคตเกิดความขัดข้องอย่างมาก โดยพี่น้องคนอื่นๆ ที่ไม่ชอบทิศทางที่ซีอีโอคนใหม่กำลังบริหารธุรกิจ ด้วยอาจรู้สึกว่ามีการจ่ายผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้นไม่เพียงพอ กล่าวอีกนัยหนึ่งคืออาจมีการแบ่งขั้วความคิดว่าจะดำเนินธุรกิจของครอบครัวอย่างไร ซึ่งความเห็นต่างดังกล่าวอาจทำให้บริษัทเป็นอัมพาตได้

           

ทั้งนี้ทางออกที่ชัดเจนที่สุดสำหรับปัญหาในข้างต้น (และปัญหาอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น) คือ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าสมาชิกครอบครัวมีสิทธิ์ในการควบคุมธุรกิจไม่ว่าจะโดยการเป็นเจ้าของที่มีส่วนได้เสีย อย่างไรก็ตามแม้ว่าวิธีใดวิธีหนึ่งเหล่านี้สามารถแก้ไขปัญหาที่กล่าวไว้ข้างต้นโดยให้ซีอีโอมีอำนาจในการตัดสินใจที่สำคัญทั้งหมดเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจได้

 

ธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่ มักจะห้ามขายหุ้นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากครอบครัวหรือผู้ถือหุ้นรายอื่นก่อน ซึ่งนั่นทำให้ผลประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นซึ่งไม่มีอำนาจควบคุมธุรกิจแทบไม่มีสภาพคล่องเลย ในทางกลับกันซีอีโอที่มีอำนาจควบคุมธุรกิจก็อาจรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมที่เมื่อธุรกิจทั้งหมดมีมูลค่าเพิ่มขึ้นแต่ตนเองไม่ได้รับผลประโยชน์เต็มจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากความเป็นเจ้าของถูกแบ่งระหว่างตนเองและพี่น้องคนอื่นๆด้วย

           

จัดสรรทรัพย์สินให้เท่าเทียมกัน คำถามคือแล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร แนวทางง่ายๆประการหนึ่งคือการขายธุรกิจทั้งหมดให้กับพี่น้องของซีอีโอที่มีอำนาจควบคุมธุรกิจ หากมีพี่น้องมากกว่าหนึ่งคนยังคงทำงานในธุรกิจอยู่อาจแบ่งหุ้นส่วนความเป็นเจ้าของบางส่วนให้ก็ทำได้ แต่หากพวกเขาจำเป็นต้องขายหุ้นส่วนของตนคืนให้กับบริษัท (หรือซีอีโอที่มีอำนาจควบคุมและพี่น้องคนอื่นๆ ที่ทำงานในธุรกิจ)

 

เมื่อต้องการออกจากธุรกิจ ต้องแน่ใจว่า ซีอีโอยังจะมีอำนาจควบคุมการดำเนินงานของธุรกิจอย่างสมบูรณ์ และเพื่อให้สามารถแบ่งมรดกแก่พี่น้องทุกคนอย่างเท่าเทียมกันคนรุ่นก่อนควรมอบ (หรือระบุไว้ในพินัยกรรม) ทรัพย์สินอื่นที่ใช่ธุรกิจเป็นมรดกให้แก่ลูกหลานที่ไม่ได้เข้าร่วมในธุรกิจ ซึ่งควรทำในลักษณะที่ไม่ให้ขัดขวางการดำเนินธุรกิจ

 

ทั้งนี้หากมีทรัพย์สินที่ไม่ใช่ธุรกิจไม่เพียงพอที่จะแบ่งให้กับผู้รับผลประโยชน์เท่าเทียมกัน อาจขายหุ้นส่วนหนึ่งของธุรกิจให้กับซีอีโอหรือสมาชิกครอบครัวที่ถือหุ้นและทำธุรกิจเพื่อนำเงินสดมาแบ่งให้พี่น้องทุกคนได้เท่าเทียมกัน แม้หากมองเผินๆอาจฟังดูซับซ้อนหรือไม่คุ้มกับความยุ่งยากในการดำเนินการ แต่เชื่อเถิดว่าจะคุ้มค่ากับความพยายามและการวางแผนแน่นนอน เพราะหากไม่จัดการเรื่องเหล่านี้ให้เรียบร้อยตั้งแต่แรก ผลที่ตามมาอาจเป็นหายนะของธุรกิจครอบครัวก็เป็นได้

 

ที่มา: Miller, C.  Thu, Sep 30, 2021.  Family Business Succession: Compensating Children Not in the Business [On-line].  Available:https://blog.concannonmiller.com/4thought/family-business-succession-compensating-children-not-in-the-business

ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,810 วันที่ 18 - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2565