ปัจจุบันวงจรชีวิตของบริษัทโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 12-15 ปีมีแนวโน้มสั้นลง ในขณะที่ในปีค.ศ. 1920 วงจรชีวิตของบริษัทต่างๆ เฉลี่ยอยู่ที่ 67 ปี Victoria TenHaken อาจารย์ที่ Hope College ได้เขียนเอาไว้ใน Detroit Business’s Crain ว่าเหตุผลส่วนหนึ่งอาจมาจากการตั้งเป้าหมายของผู้ประกอบการเอง บางคนอาจเลือกทำธุรกิจระยะหนึ่งแล้วออกจากธุรกิจไป
ในขณะที่บางคนอาจตั้งเป้าหมายทำธุรกิจระยะยาว มีการสร้างวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งประเด็นนี้น่าสนใจอย่างมากเมื่อนำไปปรับใช้กับธุรกิจครอบครัว โดย TenHaken ตั้งข้อสังเกตว่าในประวัติศาสตร์อันสั้นของสหรัฐอเมริกานั้น แต่กลับมีบริษัทมากกว่า 700 บริษัทที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 100 ปี ซึ่งมีข้อสังเกตว่ามีปัจจัยสำคัญ 5 ประการ ได้แก่
พันธกิจที่ยิ่งใหญ่ และวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง บริษัทที่มีอายุกว่า 100 ปีมักมีวัฒนธรรมที่เข้มแข็งและดำเนินการเพื่อรักษาวัฒนธรรมเหล่านั้นไว้ โดยความเชื่อเหล่านั้นได้รับการถ่ายทอดอย่างละเอียดถี่ถ้วนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือโดยการเล่าเรื่องซ้ำแล้วซ้ำอีก และกิจกรรมต่างๆ
การบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลง การเอาตัวรอดได้ในระยะยาวมาจากความพยายามอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาและปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงโดยยังคงยึดมั่นในค่านิยมหลักด้วยการสร้างความสมดุลระหว่างประเพณีดั้งเดิมและการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ที่ดีกับพาร์ทเนอร์ การให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วยความเอาใจใส่เป็นอย่างยิ่ง
โดยตลอด 100 ปี “บริษัทต่างๆ พัฒนาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งช่วยให้เกิดความไว้วางใจและการเรียนรู้ที่จำเป็นเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่บริษัทต้องเผชิญตลอดหลายปีที่ผ่านมา”
พนักงานรู้สึกเหมือนเป็นครอบครัว พนักงานที่ทำงานอยู่ในองค์กรมาระยะยาวพร้อมกับสร้างนวัตกรรมพร้อมกับสร้างความทรงจำอันมีค่าร่วมไปกับองค์กรด้วย ซึ่ง TenHaken ตั้งข้อสังเกตว่า พนักงานที่อยู่กับบริษัทมาเป็นเวลานานจะรู้สึกว่าได้รับความไว้วางใจและการสนับสนุนจากบริษัท
แอคทีฟในสังคมของตนเอง บริษัทที่ประสบความสำเร็จจะมีส่วนร่วมในสังคมหรือชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่ ซึ่งผลงานเหล่านั้นทำให้พนักงานมีความจงรักภักดีและมีฐานลูกค้าที่จงรักภักดีด้วย
ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญ 5 ประการของ TenHaken สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางสร้างธุรกิจครอบครัวให้มีอายุ 100 ปีได้ ซึ่งแน่นอนว่า กุญแจดอกแรกอยู่ที่ความต้องการให้ครอบครัวเติบโตอยู่ได้หลายชั่วอายุคน และการยึดมั่นในเป้าหมายนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยกุญแจสู่ความสำเร็จในการสร้างครอบครัว 100 ปี ได้แก่
การมีวิสัยทัศน์และวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ครอบครัวที่ยั่งยืนจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และชุดของค่านิยมที่กำกับดูแลครอบครัว โดยค่านิยมเหล่านั้นและเรื่องราวประวัติศาสตร์ของครอบครัวจะได้รับการสื่อสารจากรุ่นสู่รุ่น
ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ในขณะที่ครอบครัวต้องยึดถือชุดค่านิยม พวกเขาก็ต้องปรับตัวในการนำค่านิยมเหล่านั้นไปใช้ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา เช่น ในโลกปัจจุบันครอบครัวต้องปกป้องตัวเองจากการบุกรุกของเทคโนโลยีเข้ามาในครอบครัว ในขณะเดียวกันก็ต้องตระหนักถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีที่จะช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องการสื่อสารโดยเฉพาะสำหรับการแยกทำงานในพื้นที่ต่างๆกันด้วย
การสร้างชุมชน ครอบครัวไม่ใช่เรื่องของการอยู่โดดเดี่ยว จำเป็นต้องมีการความสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกับครอบครัวอื่นๆ ซึ่งความสัมพันธ์เหล่านี้จะช่วยเตือนว่าเรามีความเข้มแข็งในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้ตัวบุคคล ครอบครัวที่ประสบความสำเร็จตระหนักดีว่าทรัพย์สินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดไม่ใช่ความสำเร็จของครอบครัว แต่เป็นสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของสมาชิกแต่ละคน เพราะหากสามารถสร้างชีวิตส่วนตัวของสมาชิกในครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองได้ ก็เท่ากับการทำประกันสุขภาพให้กับครอบครัวไปพร้อมๆ กัน
การอยู่อย่างไม่เห็นแก่ตัว ครอบครัวที่เจริญรุ่งเรืองและยั่งยืนตระหนักดีว่าไม่ใช่แค่เรื่องของครอบครัวตัวเองเท่านั้น แต่พวกเขาต้องดำรงอยู่เพื่อเป็นสมาชิกที่ประสบความสำเร็จและมีประสิทธิผลของสังคม ซึ่งต้องตอบแทนกลับคืนให้สังคมด้วยการสละเวลา ทรัพยากรทางการเงิน ทักษะส่วนบุคคล พรสวรรค์และความสามารถของตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วยเช่นกัน
ดังนั้นหากคุณกำลังคิดจะสร้างครอบครัวให้อยู่ได้ถึง 100 ปี ลองพิจารณาเคล็ดลับเหล่านี้ดูไหม
ที่มา: High, B. 2018. “5 Essential Factors to the 100-Year Family.” FAMILY LEGACY [On-line], Available: https://billhigh.com/legacy/5-essential-factors-100-year-family/
ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th
หน้าที่ 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,800 วันที่ 14 - 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2565