คำเตือน! ผู้ก่อตั้งธุรกิจครอบครัว

14 พ.ค. 2566 | 22:22 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2566 | 11:31 น.

คำเตือน! ผู้ก่อตั้งธุรกิจครอบครัว คอลัมน์ Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

ความมั่งคั่งอาจหมายถึงได้หลายสิ่งหลายอย่าง ไม่ว่าจะการเป็นเจ้าของบริษัทขนาดใหญ่หรือการเริ่มต้นธุรกิจครอบครัวขนาดเล็ก ซึ่งผู้ก่อตั้งล้วนย่อมต้องการส่งต่อมรดกของครอบครัวไปยังทายาทรุ่นต่อไปให้นานที่สุด แต่จากสถิติข้อมูลย้อนกลับไปหลายศตวรรษพบว่ามีแนวโน้มที่ธุรกิจครอบครัวมักจบลงในรุ่นที่ 3 เท่านั้น ทั้งนี้สำหรับผู้ก่อตั้งบริษัทซึ่งดำเนินกิจการไปได้ดี และเป็นไปตามที่หวังไว้คือเมื่อลูกๆที่โตแล้วเข้ามาทำงานรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว

เป็นการส่งต่อความมั่งคั่งของครอบครัว ซึ่งเป็นมรดกของตนไปสู่ลูกหลาน เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านอาจคิดว่าคนรุ่นต่อไปจะเข้ามาแทนที่คนรุ่นเก่าหลังจากนี้ได้ แต่ความจริงแล้วอาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เนื่องจากจากสถิติเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวพบว่ามีเพียง 30 เปอร์เซ็นต์อยู่รอดจนถึงรุ่นที่ 2 และมีเพียง12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สามารถส่งไปยังรุ่นต่อไปได้ จนเมื่อถึงรุ่นที่ 4 จะลดลงเหลือเพียง 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

คำเตือน! ผู้ก่อตั้งธุรกิจครอบครัว

เกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจครอบครัวเหล่านั้น ผู้บริหารด้านการเงิน Robert Balentine และ Adrian Cronje ได้เขียนหนังสือชื่อว่า First Generation Wealth  เสนอแนวทางในการรักษามรดกของครอบครัวให้คงอยู่ยาวนาน โดย Robert Balentine อธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นกับการพาครอบครัวที่หาเลี้ยงชีพมาอย่างยากลำบากจากร้านเล็กๆ เจริญไปสู่ความยิ่งใหญ่แล้วต้องกลับมาเป็นร้านเล็กๆ อีกครั้ง

สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนรุ่นแรกทำงานหนักเพื่อสร้างธุรกิจ ขณะที่รุ่นที่ 2 เห็นว่าต้องทำงานหนักและรู้ว่าต้องทำอะไร แต่ชีวิตก็ง่ายขึ้นเพราะพ่อแม่สะสมทรัพย์สมบัติเอาไว้ให้แล้ว และเมื่อผ่านมาถึงรุ่นที่ 3 บ่อยครั้งที่พวกเขาไม่รู้วิธีในการสร้างธุรกิจครอบครัวตั้งแต่เริ่มต้น แต่พวกเขารู้วิธีใช้จ่ายเงินดี

Balentine กล่าวไว้ในหนังสือของเขาว่า พ่อแม่ต้องปล่อยให้คนหนุ่มสาวล้มเหลวบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคพ่อแม่แบบเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter Parents) ที่พ่อแม่มักคอยวนเวียนดูแลลูกโดยไม่ยอมปล่อยมือ จะพยายามช่วยเหลือลูกๆ อยู่เสมอ และไม่ปล่อยให้พวกเขาล้มเหลวเลย ซึ่งการไม่ยอมปล่อยให้ลูกล้มเหลวเสียบ้าง จะทำให้พวกเขาไม่พร้อมสำหรับการออกมาใช้ชีวิตนั่นเอง

ดังนั้นคำแนะนำเคล็ดลับในการเอาชนะคำสาปจบธุรกิจที่รุ่นที่ 3 นั่นคือ การสอนลูกเกี่ยวกับเรื่องเงินด้วยวิธีที่เหมาะสมกับวัยตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ประกอบกับเปิดช่องทางการสื่อสารตลอดชีวิตเกี่ยวกับความคาดหวังต่างๆ และวิธีทำให้ธุรกิจดำเนินกิจการไปได้ด้วยดี รวมถึงดูแลทุกคนให้ไม่ใช้ชีวิตเกินตัว ไม่เกินกว่าเงินที่หาได้ ไม่ว่าจะหาเงินได้ปีละ 100 ล้านบาท หรือ 1 ล้านบาท ก็ควรใช้กฎนี้เหมือนกัน

คนรุ่นแรกต้องระวังอย่าบังคับให้ลูกเดินตามเส้นทางของพ่อแม่ สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าลูกอาจไม่ต้องการทำงานหนักเหมือนท่าน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาขี้เกียจ แต่อาจเพราะไม่ได้มีแรงผลักดันเหมือนท่าน และบางทีพวกเขาอาจต้องการมีความสุขกับครอบครัวและอยากทานอาหารเย็นที่บ้านมากกว่า

ตรงข้ามกับผู้สร้างความมั่งคั่งในรุ่นแรก ซึ่งนั่นก็ไม่เป็นไรเลยเพราะเป้าหมายของการทำงานนั้นต่างกัน ข้อผิดพลาดอีกประการหนึ่งที่พ่อแม่มักจะทำคือใช้ธุรกิจครอบครัวเป็นตัวดึงให้ลูกเข้าสู่อาชีพที่พ่อแม่ต้องการหรือต้องแต่งงานกับคนบางคนเพื่อธุรกิจ นั่นเป็นสูตรของความหายนะ โปรดระมัดระวังให้ดี

ที่มา: Dana Fowle. March 1, 2023. How to make the family business last for generations. Available: https://www.fox5atlanta.com/news/how-to-make-the-family-business-last-for-generations

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,886 วันที่ 11 - 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2566