สัญญาณ “ล็อกดาวน์” ประเทศสะพัดอีกครั้ง เมื่อตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 ยังไต่เพิ่มเป็นรายวัน จากระดับ 5-6 พันคนต่อวัน วันที่ 8 ก.ค.2564 ที่ผ่านมา ตัวเลขทะลุขึ้นเป็น 7,058 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 75 คน สะท้อนว่าเกือบสิบวันของมาตรการปิดล้อมพื้นที่เสี่ยง อาทิ แคมป์คนงาน ห้ามรับประทานอาหารในร้าน ในเขตสีแดงเข้มไม่เป็นผล
ทีมโฆษกศบค.ชี้เองว่า จากสถิติการระบาดของเชื้่อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ที่กำลังโจมตีกรุงเทพฯ และเริ่มกระจายสู่ต่างจังหวัดตามคนงานที่อพยพกลับบ้านจากการปิดแคมป์ จะเพิ่มเป็น 2 เท่าภายใน 2 สัปดาห์ นั่นคือในสัปดาห์หน้าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะทะลุหมื่นคน ซึ่งเกินศักยภาพที่โรงพยาบาลจะรับไหว
ขณะที่แผนการฉีดวัคซีนแม้จะมีมติปรับแผนการจัดหาวัคซีนใหม่ แต่จากข้อจำกัดในการจัดหาและรับมอบไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้ยังฉีดวัคซีนได้เพียง 2-3 แสนโดสต่อวัน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้วันละ 5 แสนโดส
รวมทั้งเชื้อไวรัสเองปรับตัวกลายพันธุ์เอาชนะวัคซีนเดิมและเพิ่มความสามารถการระบาดไวขึ้นต่อเนื่อง เสียงเรียกร้องจากแวดวงสาธารณสุขดังถี่ขึ้น ให้รัฐบาลตัดสินใจล็อกดาวน์ประเทศอีกครั้งเพื่อตัดวงจรการระบาด ขณะที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 มีท่าทีตอบรับว่า พร้อมพิจารณาหากกระทรวงสาธารณสุข มีข้อเสนอนี้เข้ามา
การจะตัดสินใจสั่งล็อกดาวน์ประเทศอีกครั้งเป็นเรื่องตัดสินใจยาก เพราะแม้ระบาดเพิ่มกลุ่มผู้เดือดร้อนจากผลกระทบโควิด-19 ที่ยืดเยื้อจนสุดสายป่าน ก็ออกมาเรียกร้องกดดันให้รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการอยู่แล้ว อาทิ กลุ่มร้านอาหาร ผับ บาร์ คาราโอเกะ นักร้องนักดนตรี กลุ่มอาชีพกลางคืน
ในภาพใหญ่การล็อกดาวน์เท่ากับติดเบรกเศรษฐกิจของประเทศให้ชะลอตัวลงอีก จากที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับลดคาดการณ์เติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2564 ลง จากที่อาจโตได้ 2.0% เหลือ 1.5% จากภาวะการระบาดที่แรงเกินคาด เลวร้ายสุดอาจโตเป็น 0% ยังมีเรื่องขีดจำกัดด้านงบประมาณที่ต้องใช้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยในการล็อกดาวน์เมื่อเม.ย.2563 ต้องใช้เงินเยียวยา 3-4 แสนล้านบาท และแผนเปิดประเทศใน 120 วันที่ประกาศไว้
แต่ถ้าไม่ “ล็อกดาวน์” ก็คุมการระบาดไม่อยู่ เกิดการระบาดปะทุเป็นรอบ ๆ กระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ ก็ทำให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจติด ๆ ขัด ๆ เดินได้ไม่เต็มที่ ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยหนักจากโควิด-19 ของไทยก็ไต่ระดับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 12 ของโลก ถูกจับตาในเวทีนานาชาติ ที่ต้องประเมินความเสี่ยงในการเดินทางมาไทย กระทบแผนเปิดประเทศอยู่ดี
ในสถานการณ์ที่ไม่มีทางเลือกอื่น รัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจล็อกดาวน์ปิดประเทศ เพื่อตัดวงจรการระบาดอีกครั้ง ซึ่งน่าจะพร้อมกว่าครั้งก่อน เนื่องจากมีประสบการณ์และฐานข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว เพื่อกดตัวเลขการระบาดลงให้ระบบสาธารณสุขได้พักหายใจ และใช้โอกาสนี้ปรับแผนรับมือโควิด-19 เสียใหม่ ทั้งแผนสาธารณสุข กระบวนการรักษาพยาบาล การตรวจคัดกรองเพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อที่ต้องทำอย่างกว้างขวางและเร็วกว่าที่เป็นอยู่ แผนการกักแยกรักษาตัวที่บ้าน ระบบสนับสนุนทั้งกระบวนการ ให้ทันกับความผันแปรของเชื้อโควิด-19 ที่ยังต้องสู้กันอีกหลายยก