ทิศทางเงินหยวนดิจิทัลในอนาคต 

31 ก.ค. 2564 | 23:30 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ส.ค. 2564 | 03:21 น.

ทิศทางเงินหยวนดิจิทัลในอนาคต : คอลัมน์มังกรกระพือปีก หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3701 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 1-4 ส.ค.2564  โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

หลังจากเข้าใจถึงพัฒนาการของเงินหยวนดิจิทัลไปแล้ว คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ รัฐบาลจีนกำกับควบคุมการใช้เงินหยวนดิจิทัลได้อย่างไร และอนาคตของเงินหยวนดิจิทัลจะไปในทิศทางไหน จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เงินหยวนของจีนก้าวขึ้นเป็นเงินสกุลหลักในเวทีโลกได้หรือไม่ อย่างไร ...

 

ในการกำกับควบคุมการใช้เงินให้ดำเนินไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อประเมินความเสี่ยงและปรับวิธีการและความเร็วเป็นระยะ รัฐบาลจีนยึดแนวคิด “เดินทางข้ามลำธารโดยใช้เท้าสัมผัสหิน” วลีอมตะที่ เติ้ง เสี่ยวผิง เคยกล่าวไว้สมัยเริ่มเปิดประเทศสู่โลกภายนอก 

 

นอกเหนือจากการควบคุมจำนวนร้านค้าและช่องทางการใช้เงินในด้านอุปทานแล้ว จีนยังเลือกใช้วิธีการคุมเข้มผ่านผู้ใช้เงินหยวนดิจิทัล โดยทยอยขยายกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่เป็นระยะ 

 

จนถึงปัจจุบัน การดาวน์โหลดแอพเงินหยวนดิจิทัล ต้องกระทำผ่านวิธีการพิเศษเท่านั้น (ไม่สามารถดำเนินการผ่านระบบแอนดรอยด์ (Android) และไอโอเอส (iOS) ได้) ทำให้คนทั่วไปยังสามารถใช้เงินหยวนดิจิทัลได้ ซึ่งอาจทำให้ท่านผู้อ่านเกิดคำถามสงสัยต่อว่า หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้ที่เดินทางไปร่วมและเยี่ยมชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2022 ทั้งชาวจีน และชาวต่างชาติ จะใช้เงินหยวนดิจิทัลได้อย่างไร 

 

นอกจากการนำเงินเข้าไปใส่ไว้แอพกระเป๋าเงินออนไลน์ในโทรศัพท์มือถือแล้ว จีนยังได้เตรียมฝังชิปคุณภาพขนาดเล็กไว้ในของขวัญของที่ระลึก อาทิ เสื้อผ้า ถุงมือ เข็มกลัด บัตรโดยสาร และอื่นๆ โดยที่เงินหยวนดิจิทัล ถูกออกแบบให้มีระบบสื่อสารระยะใกล้ (NFC) ในรูปแบบวิทยุคลื่นสั้น รองรับอยู่ด้วย

 

จึงทำให้ผู้คนสามารถแลกเงินหยวนดิจิทัล และใส่ไว้ในชิปที่ฝังอยู่ในของที่ระลึกได้ ซึ่งจะสามารถใช้จ่ายได้อย่างสะดวกโดยไม่ต้องมีสัญญาณโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต 

 

ผู้ใช้เพียงแค่นำสิ่งของที่มีชิปพร้อมเงินหยวนดิจิทัลมาใกล้ๆ อุปกรณ์ชำระเงิน ก็สามารถทำธุรกรรมได้ตามที่ต้องการ เช่น ค่าโดยสาร ค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าบัตรผ่านประตู และอื่นๆ และสอดคล้องกับพฤติกรรมในยุคนิ วนอร์มอลที่ต้องการรักษาระยะห่างและลดการสัมผัสอีกด้วย

                       ทิศทางเงินหยวนดิจิทัลในอนาคต 

อนาคตของเงินหยวนดิจิทัล จะเป็นอย่างไร ก็เป็นอีกคำถามสำคัญหนึ่ง รัฐบาลจีนต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2-3 ปี ในการเพิ่มธุรกรรม ช่องทาง และขยายพื้นที่นำร่องเข้าสู่ตอนในและซีกตะวันตกของจีน 

 

ขณะเดียวกัน แบงก์ชาติจะขยายเครือข่ายไปยังธนาคารธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อเพิ่มระดับการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในเมืองรองและพื้นที่ชนบท นั่นหมายความว่า สถาบันการเงินของจีนจะทยอยเพิ่มบทบาทในการโอนเงินระดับ C2C และร้านค้าทั่วไปโดยลำดับ

 

รวมทั้งเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายรายย่อยและธุรกิจขนาดเล็กที่บิ๊กเทคของจีน ครองตลาดอยู่ในอันดับถัดไป ปรากฏการณ์นี้จะเปลี่ยนหน้าตาของระบบการเงินของจีนสู่ “สังคมไร้เงินสด” ในระดับที่สูงขึ้นไปอีก 

 

นอกจากนี้ การเข้ามาจัดเก็บและกำกับข้อมูลการใช้เงินหยวนดิจิทัล ซึ่งสามารถติดตามตรวจสอบย้อนหลังได้ ก็ยังจะช่วยให้รัฐบาลจีนสามารถบริหารจัดการเศรษฐกิจได้อย่างเป็นปัจจุบัน เพิ่มระดับการปกป้องความเป็นส่วนตัวของประชาชน และลดปัญหาอาชญากรรมและคอร์รัปชันในอนาคต นี่ไม่นับรวมถึงประโยชน์มหาศาลจากการลดค่าใช้จ่ายในการออกธนบัตร การนำกลับมาใช้ใหม่ และลอจิสติกส์ได้อีกด้วย

 

ในเวทีระหว่างประเทศ จีนได้เริ่มทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัล ที่ฮ่องกง ซึ่งเปิดให้คนฮ่องกงที่ข้ามช่องแคบมาใช้ชีวิตในมณฑลกวางตุ้งได้รับความสะดวกมากขึ้น และผมเชื่อว่าโอกาสของคนมาเก๊า ก็จะได้รับโอกาสตามมาในอนาคตอันใกล้


 

นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวว่า แบงก์ชาติจีนยังได้พัฒนาความร่วมมือด้านเทคนิค กับ แบงก์ชาติของต่างประเทศแล้ว อาทิ ไทย และ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์

 

การเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติได้มีประสบการณ์การใช้เงินหยวนดิจิทัลในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 จะเป็นเพียงก้าวแรกของ ความสำเร็จเท่านั้น จีนจะเดินหน้าเพิ่มอุปสงค์การใช้เงินหยวนดิจิทัล ในวงกว้างต่อไป เอเชียนเกมส์ ที่หังโจวในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 ก็จะเป็นอีกโอกาสที่ดีหนึ่งในการขยายประสบการณ์ดังกล่าว

 

ในห้วงเวลาปกติ จีนมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปต่างประเทศ ปีละ 150 ล้านคน และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนจีนราว 100 ล้านคนต่อปี รวมทั้งคนจีนที่ออกไปทำงาน และใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศอีกราว 40 ล้านคน คนเหล่านี้จะเป็น “อุปสงค์แฝง” อีกส่วนหนึ่งที่เพิ่มความแพร่หลายของเงินหยวนดิจิทัล

 

นอกจากนี้ ในปัจจุบัน เรามีคนที่มีโทรศัพท์มือถือ แต่ไม่มีบัญชีธนาคารกระจายอยู่ทั่วโลกรวมราว 1,000 ล้านคน “กลุ่มคนที่ถูกลืม” เหล่านี้จะได้รับประโยชน์จากเงินหยวนดิจิตัล ผ่านระบบ NFC 

 

ขณะเดียวกัน การเพิ่มการใช้เงินหยวนดิจิทัล ในธุรกรรมทางธุรกิจก็ถูกบรรจุในแผนงาน โดยคาดว่ากลุ่มประเทศในโครงการ “ความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” จะเป็นตลาดเป้าหมายถัดไป 

 

หากพัฒนาการของการใช้เงินหยวนดิจิทัล ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงภูมิศาสตร์ และธุรกรรม ก็คาดว่าจะทำให้อุปสงค์ของเงินหยวนในเวทีระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้นโดยลำดับ จากอัตรา 2-3% ของธุรกรรมระหว่างประเทศในปัจจุบันไปสู่ระดับราว  5% ได้ในช่วงทศวรรษนี้ นั่นเท่ากับว่า เงินหยวนจะยังมีสถานะเป็นเพียงสกุลเงินทางเลือกรองเท่านั้นในสิ้นทศวรรษนี้

 

ทั้งนี้ เงินหยวนดิจิทัล จะช่วยให้การโอนเงินระหว่างประเทศมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ถูกลง และไม่ต้องถูกกำกับโดยระบบการโอนเงินระหว่างประเทศ (Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication) หรือที่คนในวงการเรียกกันติดปากว่า “สวิฟท์” (SWIFT) ที่กำกับควบคุมโดยสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเสริมสร้างอธิปไตยทางการเงินอีกครั้งของเงินหยวน เสมือนเป็นการจัดระเบียบการเงินโลกครั้งย่อมเลยทีเดียว

 

ประการสำคัญ แม้ว่าธนาคารชาติของหลายประเทศได้ปรับโครงสร้างการถือครองเงินตราต่างประเทศ โดยมีแนวโน้มเพิ่มเงินหยวนเข้าในกองทุนการเงินระหว่างประเทศมากขึ้นโดยลำดับ แต่จีนยังไม่เคยแสดงท่าทีอย่างเป็นทางการว่าต้องการให้เงินหยวนทดแทนเงินเหรียญสหรัฐฯ 

 

ผมคิดว่า จีนตระหนักดีว่า สถานะของเงินหยวนยังตามหลังเงินเหรียญสหรัฐฯ ในเวทีการเงินระหว่างประเทศอยู่หลายขุม และฉลาดมากพอที่จะไม่เร่งเอา “ไม้ซีกไปงัดไม้ซุง” ในทศวรรษนี้ 

 

ผมจึงคาดว่า เงินหยวนจะใช้เวลาอีกอย่างน้อยกว่า 20 ปี ที่จะเพิ่มบทบาทจนกลายเป็นเงินสกุลหลักในตระกร้าเงิน ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และระบบเศรษฐกิจโลกได้

 

แต่ประเด็นนี้ก็ได้สร้างความกังวลใจกับสหรัฐฯ อยู่ไม่มากก็น้อย เพราะเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มแสดงท่าทีเชิงลบต่อการเข้ามาของเงินหยวนดิจิทัลโดยระบุถึงขนาดว่า “อาจเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ” 

 

หากไทยและจีนเปิดให้เดินทางระหว่างกันได้ในช่วงตรุษจีนปีหน้า นอกจากจะได้มีโอกาสไปสัมผัสบรรยากาศเทศกาลตรุษจีนในยุคหลังโควิด-19 ครั้งแรกในจีน นั่งแท็กซี่ไร้คนขับ ใช้บริการรถไฟแม่เหล็กไฟฟ้าตัวใหม่ และเยี่ยมชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่ปักกิ่งแล้ว เรายังจะสามารถไปทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลในแดนมังกรกัน ...