เศรษฐกิจไทย ดิ่งลึกยังไม่ถึงก้นเหว

19 ส.ค. 2564 | 08:07 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2564 | 15:12 น.

บทบรรณาธิการ

     สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่วิกฤติอยู่เวลานี้ กำลังสร้างผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจอย่างหนัก หลายสำนักทยอยออกมาคาดการณ์ถึงภาวะเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปีนี้จะขยายตัวในอัตราที่ต่ำ จากที่คาดการณ์ไว้เมื่อช่วงต้นปี

     สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า จีดีพีในปีนี้จะขยายตัวที่ 0.7-1.2% จากคาดการณ์เดิม 1.5-2.5%

     ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้จะ ติดลบ 0.5% จากเดิมขยายตัวที่ 1.0% ส่วนศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี คาดการณ์จะขยายตัว 0.3% ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 0.9% ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ที่ 0.7% จากเดิม 1.8% เป็นต้น

     การปรับตัวเลขจีดีพีดังกล่าว ได้ชี้ปัจจัยไปแนวทางเดียวกันว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 รุนแรงกว่าที่คาดไว้ การควบคุมการระบาดยังไม่สามารถหยุดยั้งหรือลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ยังพุ่งสูงต่อเนื่อง และการกระจายฉีดวัคซีนที่ยังไม่ครอบคลุมประชากรได้กว่า 70 %

     อย่างไรก็ตาม มีหลายฝ่ายประเมินว่า การคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีของสำนักต่างๆ เป็นเพียงการคาดการณ์เบื้องต้น บนพื้นฐานการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและการฉีดวัคซีนได้อย่างทั่วถึงได้ในระยะเวลาไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่ยังไม่ได้ประเมินถึงปัจจัยเสี่ยง อื่นๆ ที่จะมาฉุดภาวะเศรษฐกิจให้ดิ่งเหวลงได้อีก

     ไม่ว่าจะเป็นยอดจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่พุ่งเกินกว่า 2 หมื่นคนต่อวัน และยังไม่มีแนวโน้มว่าจลดลงได้เมื่อใด ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลใช้มาตรการล็อกดาวน์ใน 29 จังหวัด ออกไปอีก 1-2 เดือน หลังจากสิ้นสุดในเดือนสิงหาคมนี้ การฉีดวัคซีนยังเป็นไปอย่างล่าช้า และยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะครอบคลุมอย่างน้อย 70 % ของประชากรทั้งประเทศได้เมื่อใด ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังไม่กลับมาปกติ มีผลต่อเนื่องมายังกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

     นอกจากนี้ ภาคการส่งออก ที่เป็นความหวังช่วยพยุงเศรษฐกิจ ยังมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดเข้าสู่โรงงานเพิ่มมากขึ้น หากไม่สามารถควบคุมได้ มีผลต่อการปิดโรงงาน เกี่ยวเนื่องไปยังห่วงโซ่การผลิต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกได้ โดยยังไม่รวมถึงตลาดส่งออกหลักที่สำคัญ อย่างสหรัฐอเมริกา และจีน ที่เวลานี้ไวรัสโควิดได้กลับมาระบาดอีกระลอก อาจจะนำไปสู่การล็อกดาวน์ประเทศอีกครั้ง มีตัวอย่างให้เห็นอย่างอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ส่งผลให้ตลาดส่งออกของไทยในอาเซียนชะลอลงแล้ว

     อีกทั้ง จะพึ่งภาคการท่องเที่ยว โดยการเปิดประเทศภายในไตรมาส 4 ปีนี้ นั้น คงจะหมดความหวัง เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาจจะยังไม่มีความเชื่อมั่นพอ จากยอดจำนวนผู้ติดเชื้อของไทยยังมีสูงและการฉีดวัคซีนที่ยังไม่ทั่วถึง ประเมินได้จากโครงการนำร่องอย่าง “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในช่วงกรกฎาคม-กันยายน 2564 ราว 1 แสนคน สร้างรายได้ 8.9 พันล้านบาท แต่ดำเนินงานกว่า 1 เดือนครึ่ง ศบค.รายงานมีนักท่องเที่ยวสะสมเพียง 1.4 หมื่นคน สร้างรายได้ 829 ล้านบาท เท่านั้น

     ดังนั้น ในช่วงไตรมาส 3 นี้ คงจะได้เห็นการายงานตัวเลขจีดีพีออกมาติดลบอย่างแน่นอน และหากบวกปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นแล้ว จะเป็นตัวแปรที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ดิ่งลงลึกขึ้นอีก แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะยอมอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบได้มากน้อยเพียงใด เพราะผู้ว่าธปท.ก็ออกมาเตือนแล้วว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ ต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท ในการแก้ปัญหา