โมเมนตั้มของประเทศไทย

04 ต.ค. 2564 | 07:25 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2564 | 14:36 น.

โมเมนตั้มของประเทศไทย : คอลัมน์บ้านเมืองของเรา โดย...สมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ประเทศไทยในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ร่วม 2 ปีที่ผ่านมา มองไม่เห็นว่าจะมีโมเมนตั้มในการบริหารและจัดการประเทศได้เลย ผู้คนที่เจ็บป่วยและล้มตายไปมากต่อมาก เกิดขึ้นพร้อมๆ กับเศรษฐกิจของประเทศที่เจอผลกระทบอย่างไม่เคยพบเคยเห็น

 

ผลที่ตามมาคือ ภาคธุรกิจน้อยใหญ่ถึงกับซบเซาและล้มเลิกกิจการไปมากมาย คนจนของประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและน่าตกใจ ขณะเดียวกันภาครัฐก็อ่อนแอลงสุดๆ การจัดเก็บรายได้ผิดเป้าไปมาก จนรัฐบาลต้องทำการกู้เงินจำนวนมากเกินตัวมาใช้จ่าย ซึ่งได้เห็นกันชัดเจนว่าการบริหารประเทศชาติของรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มอยู่ในมือเกิดอาการสะเปะสะปะจับต้นชนปลายไม่ถูก มั่วซั่ว และเคว้งคว้าง ซึ่งเรียกว่าเป็นภาวะที่ขาดโมเมนตั้ม (Momentum) ในการนำพาการบริหารจัดการประเทศให้เดินหน้าไปได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมั่นคง

 

การบริหารงานของภาครัฐในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา อาจแบ่งได้เป็น 2 ด้าน คือด้านการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยเราอยู่ในสถานะที่รุนแรงในอันดับต้นๆ ของโลก การบริหารจัดการในเรื่องนี้จับต้นชนปลายไม่ถูก ขาดโมเมนตั้มเป็นอย่างมาก อีกด้านคือ การบริหารเศรษฐกิจที่โดนผลกระทบอย่างมากมีความรุนแรงอยู่ในอันดับต้นๆ เหมือนกัน โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวที่เคยรับนักท่องเที่ยวถึงปีละ 40 ล้านคน แต่ใน 2 ปีนี้เหลือจำนวนน้อยชนิดจับต้องไม่ได้ ก็ขาดโมเมนตั้มมากเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นมา ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะหายจากอาการเมาหมัด  และได้ใช้ความพยายามอย่างสุดฝีมือทำการต่อสู้กับการระบาดของโรคร้าย ถึงกับต้องประกาศล็อคดาวน์พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศถึง 2 ครั้ง พร้อมกับพยายามทำการฉีดวัคซีนที่ได้จัดหามาให้มากขึ้นแก่ประชาชนในทุกภาคส่วน

ที่สำคัญในช่วงไม่นานมานี้ ทางท่านผู้นำของประเทศได้ยอมรับแนวทางความคิดที่ว่า คนไทยต้องทำมาหากินเพื่อเอาชีวิตรอดไปพร้อมๆ กับการร่วมมือร่วมใจกันต่อสู้กับโควิด-19 ในที่สุดในช่วงปลายเดือนกันยายนเป็นต้นมา รัฐบาลโดย ศบค. ก็ได้ทำการผ่อนคลายการล็อคดาวน์ออกไปตามลำดับ

 

และล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม นี้ รัฐบาลก็ได้ทำการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายด้าน มาตรการต่างๆ ที่ออกมาดูเหมือนว่าเป็นไปในทิศทางที่ประนีประนอมกันมากขึ้น ขณะเดียวกันตัวเลขการระบาดเพิ่ม ตัวเลขการล้มตายจากโควิด-19 รายวัน ต่างก็ลดลงให้เห็นชัดขึ้น ผมเริ่มมีความรู้สึกว่าตอนนี้ โมเมนตั้มในเรื่องการบริหารจัดการด้านการต่อสู้กับการระบาดของโรคร้ายได้เริ่มเห็นผลกันบ้างแล้ว

 

ท่านนายกรัฐมนตรีเองก็เริ่มตาสว่างขึ้น โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ท่านก็ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า วันนี้ถือเป็นวันเริ่มต้นมาตรการใหม่ของ ศบค. อนุญาตให้หลายกิจการและสถานที่เปิดกิจการได้ ประชาชนมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้น คนติดเชื้อระบาดและล้มตายน้อยลง เตียงคนไข้ว่างมากขึ้น กล่าวได้ว่าระบบสาธารณสุขของไทยผ่านพ้นช่วงวิกฤตแล้ว

ผมเองเห็นว่าเรื่องการบริหารจัดการโควิด-19 ของรัฐบาลได้เข้าสู่โมเมนตั้มแล้ว แต่เมื่อมองด้านการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ปรากฏว่ายังมีความสะเปะสะปะ เลอะเทอะ ไม่สามารถเชื่อมกับความนึกคิดและความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชื่นชอบคนไทยและอยากมาเที่ยวเมืองไทยได้เลย

 

ความพยายามของรัฐบาลและภาคเอกชนไทยถูกใส่เข้าไปมากนับตั้งแต่การเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เมื่อ 1 กรกฎาคม พร้อมกับการประกาศที่จะเปิดประเทศภายใน 120 วันของท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะครบกำหนดเปิดตามคำพูดในวันที่ 16 ตุลาคมนี้แล้ว แต่การเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวยังมีทีท่าสะลึมสะลืออยู่

 

นี่ก็เริ่มเข้าสู่โหมดของการท่องเที่ยวพักผ่อนกันเกือบทุกประเทศแล้ว โดยเฉพาะตลาดการท่องเที่ยวหลักของไทยในยุโรป รัสเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมทั้งตลาดในเอเชีย อินเดีย และตะวันออกกลางแต่บริษัททัวร์หรือบริษัทท่องเที่ยวใหญ่ๆ ยังไม่สามารถนำภาพลักษณ์ที่ดีๆ มีโมเมนตั้มของไทยไปเสนอให้ลูกค้าที่กำลังเข้าคิวรออยากมาเที่ยวเมืองไทยกันได้เลย และไม่รู้ว่ายังต้องรอไปอีกนานแค่ไหน

 

เพื่อนผมคนหนึ่งได้ฟังเจ้าของบริษัททัวร์ของเยอรมันแห่งหนึ่งที่คุ้นเคยกันพูดให้ฟังว่า สิ่งที่รัฐบาลไทยและผู้บริหารการท่องเที่ยวของไทยทำอยู่ทุกวันนี้ มันเป็นการสร้างอุปสรรคและความน่าหงุดหงิดรำคาญใจให้นักท่องเที่ยวที่อยากมาเที่ยวไทยเป็นอย่างมาก แขกที่ตั้งใจจะเลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายอันดับหนึ่งในการมาพักผ่อน แต่ต้องเปลี่ยนใจไปประเทศอื่นแทน มันน่าเสียดายโอกาสอย่างยิ่ง

 

เหตุทั้งหลายทั้งปวงเพราะประเทศไทยมีนโยบายที่รวนเรเหลือเกิน เดี๋ยวจะเปิดเดี๋ยวจะเลื่อน เดี๋ยวจะต้องกำหนดให้อยู่เท่านั้นเท่านี้คืน กว่าจะขอวีซ่าจองห้องพักได้ก็ยุ่งและน่ารำคาญจะตายอยู่แล้ว ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสก็แล้ว มาถึงเมืองไทยยังต้องตรวจโน่นตรวจนี่อีก เขาถามว่าทำไมไม่ประกาศให้ชัดๆ ว่าปิดประเทศไปเลย พร้อมเมื่อไหร่จริงๆ ค่อยประกาศเปิด

 

เขาอยากรู้ว่าผู้รับผิดชอบเรื่องการท่องเที่ยวเห็นด้วยตากันหรือเปล่าว่า ไวรัสตัวมันเป็นอย่างไร จึงกลัวกันขนาดนี้ คนเยอรมันและยุโรปหลายประเทศเขายอมให้ผู้คนของเขาที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้วเข้าออกประเทศได้อย่างสบาย ไปเที่ยวที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องถูกบังคับให้อยู่เท่านั้นเท่านี้วันเหมือนการมาเมืองไทย ก็เขาจะมาพักผ่อนนะครับ ไม่ใช่มาเรียนกฎเกณฑ์ระเบียบพิเรนทร์ๆ ของประเทศไทย

 

เขาเน้นย้ำว่าสิ่งที่กำหนดให้นักท่องเที่ยวต้องทำอย่างที่เราท่านเห็นอยู่ในประเทศ ที่ต้องพึ่งการท่องเที่ยวเป็นหลักสำหรับการอยู่รอด ต้องยึดการท่องเที่ยวเป็นหลักสำหรับการจ้างงานของประเทศ แต่การที่รัฐบาลกำหนดให้นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการด้านโรงแรมและธุรกิจท่องเที่ยวต้องทำอยู่ทุกวันนี้มันเป็น “การไล่นักท่องเที่ยวไม่ให้เข้ามาประเทศไทยชัดๆ”

 

ผมถึงบอกว่าโมเมนตั้มในเรื่องการจัดการส่งเสริมการท่องเที่ยวมันเกิดขึ้นยากสำหรับไทย โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายซึ่งเป็นช่วงสูงสุดของการท่องเที่ยวปี 2564 นี้

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 1 ต.ค. นี้ ได้มีข่าวจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งที่ผ่านมามีแต่เก่งเรื่องแถลงข่าว แต่เรื่องแอคชั่นที่เป็นเรื่องเป็นราวหาดูได้ยาก คราวนี้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาได้พยายามเสนอขอความเห็นชอบจากของคณะกรรมการ ศบค. ที่มีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานให้พิจารณามาตรการผ่อนปรนการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

โดยสรุปเริ่มต้นก็บอกว่าจะขยายผลและผลิกโฉมการท่องเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ตให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก (World Class Destination) โดยมีแนวทางที่จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยในไตรมาสที่สี่ปีนี้และไตรมาสแรกปี 2565 ถึง 1 ล้านคน หรือเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 5,000 คนต่อวัน นี่เป็นคำที่กลั่นมาจากนักการตลาดที่ทำงานด้วยปาก จริงๆจะเป็นมรรคผลแค่ไหนอย่าเพิ่งไปหลงเชื่อ

 

สำหรับมาตรการที่จะดำเนินการมี 8 ประการ เช่น ลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน ตรวจ RT-PCR ก่อนมาและเมื่อมาถึงสนามบิน หลังจากนั้นให้ตรวจแบบ ATK ให้มีหนังสือรับรองเข้าประเทศออนไลน์แบบหมู่คณะ ลดค่าใช้จ่ายในการตรวจ RT- PCR และแนวทางผ่อนคลายอื่นๆ อีก 3 – 4 เรื่อง เรื่องที่ ททท. เสนอเข้าไปใน ศบค.นี้ ผู้เสนอคิดแล้วว่าดี คณะกรรมการผู้มีอำนาจพิจารณาแล้วอนุมัติเพราะเห็นว่าดีตาม

 

แต่หามีใครรู้กันบ้างว่า สิ่งเหล่านี้ยังเป็นมาตรการที่ไล่นักท่องเที่ยวไม่ให้เข้ามาเที่ยวเมืองไทยอยู่ดี ดังได้กล่าวมาข้างต้นบรรดาผู้ทำธุรกิจทัวร์ทั่วโลกที่เคยสัมผัสกับการส่งนักท่องเที่ยวมาไทย เขาส่ายหัวกันทั่ว เนื่องจากพวกนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเขาได้ฉีดวัคซีนมาครบถ้วน 2 โดสแล้ว ทำไมต้องมายุ่งยากอีกขนาดนี้ จะมาเที่ยวประเทศนี้กันทำไม

 

ผมไม่อยากจะไปโทษท่านนายกรัฐมนตรีว่าไม่รู้เรื่องการท่องเที่ยว แล้วต้องมาเซ็นคำสั่งฉบับแล้วฉบับเล่าตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เสนอมา จนทำให้ผู้บริหารธุรกิจการท่องเที่ยวที่ชื่นชอบประเทศไทยต้องพูดว่า เป็นอย่างนี้ขอให้ประเทศไทยปิดการท่องเที่ยวไปก่อนเถอะ เขาเหนื่อยหน่ายกับประเทศเราไม่ไหวอีกแล้ว

 

สิ่งที่ผมอยากจะเรียนเน้นถามท่านนายกก็คือว่า ถึงเวลาแล้วยังที่จะพิจารณาทีมที่ดูแลการท่องเที่ยวทั้งหมดของท่านในปัจจุบันนี้ว่า ควรถูกยกเครื่องเพื่อเปลี่ยนอะไหล่ที่สำคัญๆเสียสักทีไหม มิฉะนั้น ก็จะไม่มีวันได้เห็นโมเมนตั้มในด้านการฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศเกิดขึ้นเป็นแน่

 

4 ตุลาคม 2564

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: สมหมาย ภาษี เป็นนักเศรษฐศาสตร์ นักการคลัง ที่มีชื่อเสียง ประสบผลสำเร็จในการทำงานอย่างสูงชนิดที่ข้าราชการกระทรวงการคลังคนใดยากจะเทียบ  ปี 2524 เป็น ผช.เลขานุการ รมว.คลัง (สมหมาย ฮุนตระกูล)  เป็นรองผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นผู้เชี่ยวชาญเงินกู้, ผู้อำนวยการ สศค., รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็น รมช.คลัง ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ (2559) เป็น รมว.คลัง ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (2557-2558) และเคยเป็น ประธานกรรมการธนาคารทหารไทย, ประธานกรรมการสายการบินนกแอร์