ผมเขียนบทความเกี่ยวกับบ้านพักคนวัยเกษียณในคอลัมม์นี้ เพื่อเป็นการนำเอาเรื่องราวที่ผมได้ไปเห็นมาจากการเดินทางไปดูงานที่ต่างประเทศหลายประเทศ และได้ไปเห็นสถานบ้านพักคนชราที่แต่ละประเทศ ซึ่งอาจจะเรียกไม่เหมือนกันก็ตาม จึงนำมาเล่าให้พวกเราชาวไทยได้รับทราบกัน โดยส่วนตัวผมเอง ก็ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างสถานบ้านพักคนวัยเกษียณจนแล้วเสร็จแล้ว แต่ที่ไม่ได้นำมาเขียนเล่าในบทความคอลัมม์นี้ เพราะไม่อยากจะใช้พื้นที่นี้ โฆษณาสินค้าของตนเอง ดังนั้นจึงเก็บไว้ไม่ได้ออกข่าว
แต่ในช่วงที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะได้ตั้งเป้าหมายที่จะเปิดประเทศให้ได้ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ แต่ที่ผ่านๆ มาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคร้าย COVID-19 หลายระลอก ทำให้สถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานกันหนักมาก จนบางช่วงบางขณะสถานที่พักรักษาตัวและสถานที่กักกันตัวไม่เพียงพอต่อความต้องการ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บางช่วงญาติของผมเองเมื่อมีอาการติดเชื้อ COVID ก็ไม่สามารถหาโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือแม้แต่ Hospitel เพื่อเข้ารักษาตัวได้ จึงทำให้ผมต้องคิดหนัก จึงได้ปรึกษากับทีมงาน และได้ตัดสินใจว่า น่าจะนำเอาสถานบ้านพักคนวัยเกษียณ “คัยโกเฮ้าส์” ที่เรามีอยู่นี้ นำมาช่วยเหลือพี่น้องคนไทยเรา น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ โดยไม่ได้ใช้งาน
การดำเนินการยื่นขออนุญาตจัดตั้ง Hospitel จึงได้เริ่มต้นขึ้น ช่วงแรกผมก็ได้ให้น้องๆ ช่วยกันประสานงานกับหน่วยงานราชการดูว่า จะต้องทำอย่างไรในการขออนุญาต ซึ่งก็ได้รับความเอื้อเฟื้อจากทางเขตหนองจอกเป็นอย่างดี แต่สิ่งแรกที่เราจะต้องทำ คือการหาโรงพยาบาลที่เป็นผู้สนับสนุนด้านการรักษาพยาบาลก่อน
ผมเองแม้จะมีโรงแรมที่เราทำเป็นโรงแรมทางเลือกในการกักกันตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศหรือ Alternative State Quarantine (ASQ) คือโรงแรม The Kinn Bangkok Hotel ที่ถนนพระรามเก้า ซึ่งทางเราได้มีโรงพยาบาลวิภารามมาเป็นคู่สัญญาในการดำเนินการอยู่แล้ว
แต่พอเราติดต่อไปที่โรงพยาบาลวิภาราม ก็ได้รับคำตอบว่า ทางเขาเองก็มี Hospitel ที่อยู่ในมือมากเกินกำลังของบุคลากรทางการแพทย์แล้ว ดังนั้นจึงไม่สามารถรับเป็นคู่สัญญาได้ ผมจึงต้องดิ้นรนเพื่อหาโรงพยาบาลอื่นๆ ต่อไป ซึ่งแต่ละแห่งก็ล้วนแต่อาการหนักพอๆ กันหมด เราเองก็เข้าใจสถานการณ์ดีครับ
ผ่านไปหลายสัปดาห์ก็ไม่สามารถแสวงหาโรงพยาบาลที่จะมาร่วมเป็นคู่สัญญาได้ จนกระทั้งมีอยู่วันหนึ่ง น้องตาที่เป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลของผมที่โรงแรม ได้โทรมาบอกให้ผมติดต่อไปที่โรงพยาบาลปิยะเวทด่วน ผมจึงได้ติดต่อเข้าไป ปรากฏว่าได้พบกับคุณจินตนา สนธิ ซึ่งเป็นแฟนคลับตัวจริงคนหนึ่งของผม จึงเปิดประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน และได้รับความช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่โรงพยาบาลปิยะเวทเอง ก็ปิดรับ Hospitel ไปนานแล้ว เพราะงานล้นมือทำไม่ทันจริงๆ แต่ด้วยความที่คุณจินตนา เห็นเจตนาของผมที่ต้องการช่วยเหลือสังคมจริงๆ จึงช่วยดำเนินการให้ทุกอย่าง จึงต้องขออนุโมทนาบุญมายังคุณจินตนามา ณ ที่นี้ครับ
การเริ่มทำ Hospitel นั้นยากมาก เพราะจะต้องมีกฎข้อบังคับมากมาย ทั้งในด้านบุคลากร ด้านสถานที่ที่จะต้องได้มาตรฐานด้านการแพทย์ ด้านความปลอดภัยอย่างสูงสุด ด้านการบริการ และด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งต้องได้รับความยินยอมของมวลชนที่อยู่ในชุมชนข้างเคียงด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากๆ เนื่องจากทุกๆ ด้านจะต้องใช้ทั้งเวลาและความสามารถพิเศษจริงๆ อย่างไรก็ตาม คุณจินตนาและทางโรงพยาบาลปิยะเวท ก็ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง ทำให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดีครับ สิ่งนี้ได้ทำให้ผมและทีมงานประทับใจและสมปารถนาที่ตั้งใจไว้ครับ
เราเองไม่สามารถที่จะคาดเดาได้ว่า สถานการณ์เช่นนี้จะจบสิ้นเมื่อใด? จะมีการระบาดระลอกใหม่อีกหรือไม่? การเปิดประเทศแล้วเราจะสามารถรักษาสถานภาพของการติดเชื้อได้ดีแค่ไหน? แต่อย่างไรก็ตาม เราเองก็ไม่อยากให้มีการติดเชื้อร้ายนี้หลงเหลืออยู่ในประเทศไทยเรา
ดังนั้นเราคงจะต้องรักษาตนเองให้ดีที่สุด อีกทั้งต้องช่วยให้ชุมชนข้างเคียงปลอดภัยจากโรคร้ายนี้ ด้วยการระมัดระวังตนเองและเพื่อนบ้านอย่างเข้มงวด เพื่อจะได้ช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเราเดินหน้าต่อไปได้ครับ หน้าที่ของพวกเราทุกภาคส่วน ต้องมีหน้าที่ช่วยกันฟันฝ่าอุปสรรคครั้งนี้ไปให้ได้ ถ้าหากเราไม่ร่วมมือกันให้ดี ประเทศชาติก็จะไม่สามารถผ่านพ้นวิกฤติไปได้ครับ