มีลูก=มีสุข จริงหรือไม่ในมุมมองของผู้สูงอายุ

04 พ.ย. 2564 | 04:38 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ย. 2564 | 11:38 น.

มีลูก=มีสุข จริงหรือไม่ในมุมมองของผู้สูงอายุ : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย รศ.ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,728 หน้า 5 วันที่ 4 - 6 พฤศจิกายน 2564

นักเศรษฐศาสตร์และนักประชากรศาสตร์ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการมีลูกกับความสุขของผู้เป็นพ่อแม่มายาวนาน แต่งานวิจัยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา สอดคล้องกับการหดตัวของอัตราเจริญพันธุ์และแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของการอยู่เป็นโสดของคนรุ่นใหม่ทั่วโลก

 

งานวิจัยส่วนใหญ่พิจารณาประชากรวัยทำงานในประเทศที่มีรายได้สูง และพบว่าการมีลูกไม่ได้ก่อให้เกิดความสุขแก่พ่อแม่วัยทำงาน อีกทั้งยังอาจทำให้ความสุขลดลงด้วย เพราะแม้ว่าการมีลูกจะช่วยเติมเต็มความหมายของชีวิต ซึ่งทำให้ความสุขเพิ่มขึ้น แต่การเลี้ยงลูกก็เต็มไปด้วยความเครียด ทั้งในด้านค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและการขาดแคลนเวลาพักผ่อน ซึ่งล้วนแต่ทำให้ความสุขของผู้เป็นพ่อแม่ลดลง

 

มีลูก=มีสุข  จริงหรือไม่ในมุมมองของผู้สูงอายุ

 

งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในประเทศที่มีรายได้ตํ่าและปานกลางยังมีไม่มากนัก และผลการศึกษาจากงานวิจัยที่ผ่านมาที่ใช้กลุ่มตัวอย่างของคนวัยทำงานก็ไม่น่าที่จะใช้ได้กับคนสูงวัย เพราะความสัมพันธ์ภายในครอบครัวมีการเปลี่ยนแปลงตลอด

 

ตัวอย่างเช่น พ่อแม่ในวัยทำงานมีความจำเป็นที่จะต้องให้เงินและเวลากับลูก เนื่องจากลูกยังเด็กเกินกว่าที่จะสามารถดูแลตนเองได้ ในขณะที่พ่อแม่ในยามสูงวัยอาจได้รับประโยชน์จากลูก เนื่องจากลูกที่เติบโตมาเป็นคนวัยทำงานแล้วมีความสามารถในการถ่ายโอนเงินและเวลากลับคืนสู่พ่อแม่ ปรากฏการณ์ที่ลูก “ชดเชย” ให้กับพ่อแม่ในยามสูงวัยนี้ พบมากในประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชียตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย

 

การศึกษาของ Pimpawatin and Witvorapong (2021) พิจารณาว่า การมีลูกส่งผลต่อความสุขของผู้สูงอายุในประเทศไทยหรือไม่ โดยใช้ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2554, 2557 และ 2561 การศึกษานี้ใช้การประเมินความสุขด้วยตนเอง ที่วัดเป็นระดับตั้งแต่ 0-10 โดย 0 หมายถึง ไม่มีความสุขเลย

 

และ 10 หมายถึง มีความสุขที่สุด และระบุว่าความสุขมีองค์ประกอบหลัก 4 ประการ

 

ประการที่ 1 คือ การมีความสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัว ซึ่งแทนด้วยการมีลูกในการศึกษานี้

 

ประการที่ 2 คือ ความกินดีอยู่ดีในทางเศรษฐกิจ ซึ่งแทนด้วยการมีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

 

ประการที่ 3 คือ การมีสุขภาพดี ซึ่งแทนด้วยการมีพฤติกรรมทางสุขภาพที่ดี

 

และประการที่ 4 คือ การมีความสัมพันธ์อันดีกับสังคม ซึ่งแทนด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชน 

 

ผลการศึกษาพบว่า ในประเทศ ไทย ผู้สูงอายุที่มีลูกมีความสุขมากกว่าผู้สูงอายุที่ไม่มีลูก คิดเป็นตัวเลขได้เท่ากับร้อยละ 2.14 (เมื่อใช้วิธีการประเมินความสุขด้วยมาตรวัด 0-10 ข้างต้น) ความสุขที่เพิ่มขึ้นจากการมีลูกเกิดขึ้นได้ 2 ทาง ได้แก่ ความสุขทางตรง หมายถึง ความสุขที่เกิดจากความรักความผูกพันที่มีต่อลูก และความสุขทางอ้อม ซึ่งมาจากการที่ลูกได้ตอบแทนพ่อแม่ทางด้านการเงิน สุขภาพ และความสัมพันธ์ภายในชุมชน

 

โดยการศึกษานี้พบว่า ผู้สูงอายุที่มีลูกมีความเครียดทางด้านการเงินน้อยกว่าผู้ที่ไม่มีลูก สอดคล้องกับการศึกษาก่อนหน้านี้ที่พบว่าร้อยละ 40 ของผู้สูงอายุในประเทศมีลูกเป็นแหล่งรายได้หลัก

 

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่มีลูกยังมีแนวโน้มที่จะระบุว่าตนเองมีสุขภาพที่ดีกว่า อาจเป็นเพราะลูกมักจะให้การดูแลและช่วยเหลือพ่อแม่ให้เข้าถึงบริการทางสุขภาพได้

 

โดยการศึกษานี้พบว่า อัตราการเข้ารับการตรวจร่างกายประจำปีของผู้สูงอายุที่มีลูกอยู่ที่ระดับร้อยละ 48 เมื่อเทียบกับร้อยละ 44 ของผู้สูงอายุที่ไม่มีลูก และสุดท้าย ผู้สูงอายุที่มีลูกก็ยังมีแนวโน้มในการเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนมากกว่าผู้สูงอายุที่ไม่มีลูก คิดเป็นร้อยละ 73 เมื่อเปรียบเทียบกับร้อยละ 62 อาจเป็นเพราะการมีลูกทำให้พ่อแม่มีโอกาสขยายเครือข่ายความสัมพันธ์ผ่านครอบ ครัวของเพื่อนลูก และความสัมพันธ์ดังกล่าวก็ดำรงอยู่จนถึงในยามสูงวัย 

 

ผลการศึกษาข้างต้นชี้ให้เห็นว่า การมีลูกส่งผลเชิงบวกต่อการดำรงชีวิตและความสุขของผู้สูงอายุ อย่างไรก็ดี นัยของการศึกษานี้ไม่ใช่การกระตุ้นให้คนไทยมีลูก เพื่อให้มีความสุขเพิ่มขึ้นหรือเพื่อให้ลูกได้สร้างประโยชน์แก่ตนในยามสูงวัย หากแต่เป็นการชี้ให้เห็นว่า ในประเทศไทย การมีลูกอาจเกิดจาก “ความจำเป็น” เพราะกลไกของรัฐและตลาดไม่สามารถทำให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองได้เท่าที่ควร จนต้องพึ่งพาบุตรหลาน

 

หากพิจารณาองค์ประกอบของความสุขข้างต้น ก็จะพบว่าการเข้าสู่ภาวะสูงวัยทำให้ความสุขลดลง ด้วยเป็นภาวะที่เกิดความยากลำบากทางการเงิน สุขภาพ และความสัมพันธ์กับชุมชน

 

ผู้สูงอายุทั้งที่มีลูกและไม่มีลูกอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมเดียวกัน ที่ไม่มีระบบบำนาญสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ ไม่มีกระบวนการสร้างความมั่นคงทางการเงินตลอดชีพที่เข้มแข็ง ไม่มีตลาดการให้บริการดูแลระยะยาวที่เพียงพอ และไม่มีรูปแบบและพื้นที่ในการจัดกิจกรรมให้กับผู้สูงอายุที่หลากหลาย

 

การมีลูกจึงกลายเป็นวิธีหนึ่ง ในการเติมเต็มช่องว่างของสภาพแวดล้อม ซึ่งไม่ได้เอื้อต่อความอยู่ดีมีสุขในวัยหลังเกษียณ

 

ในอนาคตที่คนไทยมีลูกกันน้อยลงและจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น การคาดหวังให้ประชาชนพึ่งพาบุตรในยามสูงวัยคงเป็นไปได้ยากขึ้น รัฐคงต้องรับหน้าที่ในการจัดการให้ผู้สูงอายุทั้งที่มีและไม่มีลูกมีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงกันที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ผ่านกลไกการจัดการของรัฐเอง และการให้แรงจูงใจกับภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา

 

ในระบบการดูแลที่ครอบคลุมความต้องการของประชาชนทุกคนผู้สูงอายุจะสามารถสร้างความสุขให้กับตนเองได้ และการมีลูกจะไม่ใช่เงื่อนไขของการมีความสุข 

 

เอกสารอ้างอิง

Pimpawatin, P., and Witvorapong, N. (2021). Direct and Indirect Effects of Parenthood on Later-Life Happiness: Evidence from Older Adults in Thailand. Revise & Resubmit, at Journal of Family and Economic Issues.

นพพล วิทย์วรพงศ์, เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู และ สมทิพ วัฒนพงษ์วานิช (พ.ศ. 2563). “เศรษฐศาสตร์และการส่งเสริมการมีบุตร: องค์ความรู้ทางทฤษฎีและงานวิจัยเชิงประจักษ์”. โครงการตำราคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.