วิกฤติการแพร่ระบาดของโควิค-19 ในประเทศไทยยังไม่ดีขึ้น ตั้งแต่การระบาดระลอกสามต้นเดือนเมษายน ปี 2564 เป็นต้นมา จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นจากหลักร้อยมาเป็นหลักพัน และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้กลางเดือนกรกฎาคม มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ถึงหลักหมื่นเป็นครั้งแรก
จากนั้นมาต้นเดือนสิงหาคมมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ถึงสองหมื่นราย และวัน ที่ 13 สิงหาคม ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดต่อวัน 23,418 ราย และจากนั้นมายอดติดเชื้อรายวันเริ่มชะลอตัวจนล่าสุดวันที่ 11 กันยายน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15,191 ราย เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่เมษายนเป็นต้นมาอยู่ที่ 1.34 ล้านราย หายป่วยสะสม 1.19 ล้านราย และกำลังรักษา 137,859 ราย เสียชีวิต 253 รายและจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่เมษายนปีนี้ 14,173 ราย การระบาดยังคงอยู่ในระดับสูงและสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่มาก
ข้อมูลจากสภาพัฒน์ชี้ว่า ปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัวถึง 6.1% ไตรมาสแรกเศรษฐกิจหดตัว 2.1% เนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์ทำให้ไตรมาสที่สองเศรษฐกิจไทยหดตัวมากที่สุดถึง 12.1% จากนั้นมาเศรษฐกิจไทยค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงเป็น การหดตัวที่ลดลง ในไตรมาสที่สามและสี่เศรษฐกิจไทยอยู่หดตัว 6.4% และ 4.2% ตามลำดับ
ในปี 2564 เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นเรื่อยมา ไตรมาสแรกปี 2564 เศรษฐกิจหดตัวที่ 2.6% และ ไตรมาสที่สอง เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัว 7.4% เป็นการขยายตัวครั้งแรกตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19
อย่างไรก็ตาม การคิดการขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นการคิดเทียบปีต่อปี ไตรมาสที่สองปี 2564 เศรษฐกิจมีการเติบโตถึง 7.4% เนื่องจากว่าคิดจากฐานที่ตํ่ามากที่สุดในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ถ้าพิจารณาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจแบบไตรมาสต่อไตรมาสแล้ว ตั้งแต่ไตรมาสสามปี 2563 ถึงไตรมาสสองปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะโตเฉลี่ยไตรมาสละ 0.4% เท่านั้น
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหนัก ก่อให้เกิดผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และอุปสงค์ในประเทศส่งผลให้เศรษฐกิจไทยถดถอยอย่างรุนแรง
นอกจากนโยบายทางการคลังที่รัฐบาลได้ดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยการออกพระราชกำหนดกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทในปี 2563 และเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท ในปี 2564 แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกสาม นโยบายการเงินมีบทบาทสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจไทย นอกจากต้องมีมาตรการเพื่อดูแลสภาพคล่องของระบบการเงินแล้ว อาทิเช่น มาตรการสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยตํ่า (Soft loans) ให้แก่สถาบันการเงินเพื่อปล่อยกู้ให้กับธุรกิจ SME
เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายถือเป็นเครื่องมือทางการเงินของธนาคารกลางเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลง อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์และผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับลดลงด้วย เนื่องจากว่าอัตราดอกเบี้ยคือต้นทุนทางการเงิน เมื่ออัตราดอกเบี้ยตํ่าลงทำให้เกิดแรงจูงใจในการกู้เงินมาลงทุนมากขึ้นและในขณะเดียวกันลดแรงจูงใจของครัวเรือนในการออม ทำให้ครัวเรือนนำเงินมาใช้จ่ายมากขึ้น ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น
ตั้งแต่ไตรมาสที่สองปี 2563 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยถูกปรับลดลงอยู่ที่ระดับ 0.5% เดือนสิงหาคมอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังคงอยู่ในระดับที่ตํ่าระดับเดิมคือ 0.5% ซึ่งเป็นระดับตํ่าที่สุดในรอบ 20 ปี
การดำเนินนโยบายการเงินของไทยสอดคล้องกับประเทศเศรษฐกิจหลักและประเทศในภูมิภาคที่คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับตํ่า อาทิเช่น สหรัฐ อเมริกา คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0- 0.25% ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป ญี่ปุ่นและอังกฤษ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0% -0.1% และ 0.1% ตามลำดับ
สภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับตํ่าใกล้เคียงหรือเท่ากับศูนย์เรียกว่า zero lower bound (ZLB) การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่สภาวะปกติ อาจผิดพลาดได้นอกจากจะไม่เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วยังก่อให้การถดถอยอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจ เนื่องจากสองตัวแปรคือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งอยู่ในระดับตํ่า ประกอบกับเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับตํ่าหรือติดลบที่เรียกว่าเงินฝืด (deflation)
เมื่อเศรษฐกิจอยู่ในสถาวะถดถอย ผลผลิตอยู่ตํ่ากว่าผลผลิตที่ระดับธรรมชาติ เงินเฟ้อจะลดลง สิ่งที่ธนาคารกลางควรทำคือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและกลับไปสู่ระดับปกติ คือการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปจนถึงระดับธรรมชาติของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับธรรมชาติ ผลผลิตจะอยู่ที่ระดับธรรมชาติและเงินเฟ้อจะมีเสถียรภาพอีกครั้ง แต่ถ้าเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะถดถอยอย่างรุนแรงมาก อัตราดอกเบี้ยนโยบายแท้จริง (Real policy rate) ที่ระดับธรรมชาติอาจจะต้องติดลบจึงสามารถทำให้เศรษฐกิจกลับมาอยู่ที่ระดับธรรมชาติได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาวะ zero lower bound จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายแท้จริงเป็นลบ
เมื่อเงินเฟ้ออยู่ในระดับตํ่า เช่น 0% และอยู่เศรษฐกิจอยู่ในสภาวะ zero lower bound อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นตัวเงิน (Nominal policy rate) ตํ่าที่สุดที่ธนาคารกลางสามารถลดได้คือ 0% ซึ่งจะทำให้ได้อัตราดอกเบี้ยนโยบายแท้จริงเท่ากับ 0% ด้วยเช่นกัน
เมื่อธนาคารกลางสามารถลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแท้จริงได้ถึงแค่ 0% แต่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวหรือยังไม่กลับมาสู่สภาวะปกติ ผลผลิตจะตํ่ากว่าระดับธรรมชาติและจะส่งผลต่อเนื่องทำให้เงินเฟ้อลดลงไปอีก จึงเกิดสภาวะที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่ากับดักเงินฝืด (deflation trap หรือ deflation spiral)
เมื่อกำหนดให้เงินเฟ้อคาดการณ์เท่ากับเงินเฟ้อในช่วงเวลาก่อนหน้า เมื่อผลผลิตอยู่ตํ่ากว่าระดับปกติหรือกล่าวได้ว่าเมื่อเศรษฐกิจถดถอยจะส่งผลให้เงินเฟ้อจะลดลง ถ้าเงินเฟ้ออยู่ในระดับตํ่าหรือใกล้ 0% อยู่แล้ว จะทำให้เงินเฟ้อติดลบหรือเกิดสภาวะเงินฝืด
ซึ่งแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นตัวเงินยังคงเท่ากับ 0% อัตราดอกเบี้ยนโยบายแท้จริงกลับจะเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อเนื่องทำให้อุปสงค์ลดลงและผลผลิตตํ่าลง เงินฝืดและผลผลิตที่ตํ่าลงจะเสริมกันและหมุนเป็นวง ผลผลิตที่ตํ่าลงนำไปสู่เงินเฟ้อลดลงหรือเกิดเงินฝืดมากขึ้น ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยแท้จริง เพิ่มขึ้น และส่งผลต่อเนื่องทำให้อุปสงค์และผลผลิตลดลงไปอีก แทน ที่เศรษฐกิจจะกลับคืนสู่ระดับปกติ เศรษฐกิจจะแย่ลงมากขึ้นอยู่ห่างจากระดับปกติมากขึ้นเรื่อยๆ
วิกฤติการแพร่ระบาดของโควิค-19 ที่รุนแรงและมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะเกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นอีกและวิกฤติินี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ทำให้เกิดความกังวลในลักษณะเดียวกันนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของหลายๆ ประเทศใกล้ศูนย์หรือเท่ากับศูนย์ ของไทยก็เช่นเดียวกัน เงินเฟ้อของไทยโดยเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2558 อยู่ในระดับตํ่ากว่า 1% มาโดยตลอด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ไตรมาสสองปี 2563 เงินเฟ้อติดลบมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าไตรมาสที่สอง ปี 2564 จะเป็นบวก แต่ก็เกิดจากการเทียบจากฐานที่ตํ่ามากในปีก่อนหน้า สถานการณ์แบบนี้ทำให้เกิดความกังวลว่าเงินเฟ้ออาจจะกลายเป็นเงินฝืดทำให้ผลผลิตลดลง หมุนวนกันไปเรื่อยๆจนกระทั่งมีมาตรการอื่นถูกนำมาใช้และทำให้เศรษฐกิจที่ถดถอยเริ่มฟื้นกลับคืนมาได้
ความท้าทายของรัฐบาล นอกจากการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผล กระทบในช่วงการระบาดของโควิค-19 รัฐบาลจำเป็นต้องหาวัคซีนที่มีประสิทธิ ภาพให้ได้อย่างเพียงพอและระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ได้เร็วที่สุดและมากที่สุด เพื่อเป็นควบคุมสถานการณ์การระบาดให้อยู่ในวงจำกัดโดยเร็วที่สุดเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีโอกาสฟื้นตัว
รัฐบาลจะต้องมีมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเมื่อเห็นว่าสถานการณ์เริ่มผ่อนคลายลง การรักษาบรรยากาศทางการเมืองมีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวและกลับเข้าสู่ระดับธรรมชาติได้ในไม่ช้า