จากปรากฏการณ์ “ลิซ่า LALISA” ที่เพิ่งผ่านมา และการที่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร CEOWORLD ให้เป็นประเทศที่มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมสูงสุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลก ก็มีหลายภาคส่วมรวมถึงภาครัฐออกมาให้ความสำคัญกับการผลักดันให้สินค้าที่ใช้ทุนทางวัฒนธรรมเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ที่ผ่านมาธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทย ก็ได้อาศัยมรดกทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น อาหารสถาปัตยกรรม ศิลปะ แฟชั่น ดนตรีและประวัติศาสตร์ เป็นเครื่องดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งจากในและต่างประเทศ ซึ่งทำรายได้ให้กับประเทศในปีพ.ศ. 2562 ก่อนวิกฤติโควิด คิดเป็นตัวเลขสูงถึง 16 เปอร์เซนต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(GDP) แต่วิกฤติโควิดและปรากฏการณ์ “ลิซ่า LALISA” ก็ช่วยให้ เห็นว่ายังมีช่องทางการพัฒนาสินค้าจากมรดกทางวัฒนธรรมอื่นๆ ผ่านสื่อบันเทิงต่างๆ ที่ไม่ต้องอาศัยการท่องเที่ยวของคนอีกด้วย
นอกจากวัฒนธรรมจะถูกนำมาเป็นทุนเพื่อสร้างรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้ว ปัจจุบันนักเศรษฐศาสตร์ยังเห็นและให้ความสำคัญต่อวัฒนธรรมและประเพณี ในการอธิบายปรากฎการณ์ทางเศรษฐศาสตร์ และต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอีกด้วย
ผู้เขียนจึงขอใช้พื้นที่ตรงนี้ เล่าถึงงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ฟังนะคะ ในทางเศรษฐศาสตร์ วัฒนธรรมมีความหมายครอบคลุมไปถึงวิทยาการศึกษาสำนึกที่เกี่ยวกับการตัดสินใจต่างๆ ซึ่งอาจะอยู่ในรูปของการให้ค่าความเชื่อ ค่านิยม และบรรทัดฐานทางสังคมด้วย
ก่อนช่วง ปี ค.ศ. 2005 ยังไม่มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมออกมากนัก เพราะมีความยากในเรื่องของข้อมูลและวิธีวิจัย ที่สามารถแสดงผลของวัฒนธรรมโดยแยกออกจากโครง สร้างทางสังคมหรือปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจได้ จนกระทั่งได้มีการพัฒนางานวิจัยที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ อย่างเช่น งานของ Raquel Fernandez Fernandez and Fogli (2009) ใช้ข้อมูลจากคนอเมริกันที่เกิดในอเมริกา แต่มีพ่อแม่ที่อพยพมาจากประเทศอื่น ซึ่งเป็นวิธีที่สร้างสรรค์มาก
เพราะคนอเมริกันเหล่านั้นอยู่ในโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจเดียวกัน แต่มีพื้นหลังทางวัฒนธรรม ที่อาจต่างกันจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่มาจากประเทศต่างๆ
งานวิจัยพบว่า แทนที่การมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของผู้หญิงอเมริกันรุ่นสองจะไม่ต่างกัน เพราะอยู่ในสังคมและระบบเศรษฐกิจเดียวกัน กลับพบว่า มีความต่างกันและมีความสัมพันธ์เป็นบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กับการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของผู้หญิงในประเทศ ที่พ่อแม่ของผู้หญิงเหล่านั้นจากมา
เช่น ผู้หญิงอเมริกันรุ่นสองที่มีพ่อแม่ย้ายมาจากประเทศยุโรปใต้ที่ผู้หญิงทำงานนอกบ้านน้อย มีแนวโน้มที่จะทำงานนอกบ้านน้อยกว่าผู้หญิงที่พ่อแม่อพยพมาจากประเทศ เช่น ในยุโรปตะวันตก ที่ผู้หญิงมีการทำงานนอกบ้านมากกว่า และงานวิจัยยังพบผลในแง่เดียวกันในด้านของภาวะเจริญพันธ์อีกด้วย
และในงานวิจัยล่าสุดของ Ashraf, Bau, Nunn and Voena (2020) ก็ได้แสดงให้เห็นความสำคัญของวัฒนธรรมต่อความสำเร็จของนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยใช้การศึกษาที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีสินสอด ที่ให้กับฝ่ายเจ้าสาว (bride price) ในประเทศอินโดนีเชีย และแซมเบีย
ในทางทฤษฎีสินสอดประเภทนี้ ถือว่าเป็นการทำให้ทุนมนุษย์ในตัวของ ผู้หญิงมีมูลค่ากลับมาสู่ครอบครัวฝ่ายหญิง ซึ่งนำมาซึ่งแรงจูงใจของครอบครัวในการลงทุนมนุษย์ในลูกผู้หญิง
เช่น การศึกษา มากกว่าครอบครัวที่ไม่มีประเพณีปฏิบัติแบบนี้ ฉะนั้น หากมีนโยบายการศึกษาที่ลดค่าใช้จ่ายทาง การศึกษาและทำให้เกิดแรงจูงใจในการส่งเด็กๆ ไปเรียนมากขึ้น ผลกระทบที่ดีเหล่านี้น่าจะเห็นได้มากกว่าในหมู่ของเด็กผู้หญิง ที่มาจากครอบครัวที่มีประเพณีสินสอดแบบที่ให้แก่ฝ่ายหญิง
ในการศึกษาเชิงประจักษ์งานวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่มีเชื้อชาติที่มีประเพณีสินสอดที่ให้แก่เจ้าสาวมีการศึกษาโดยเฉลี่ยสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
นอกจากนั้น ยังมีการวิเคราะห์ผลของการสร้างโรงเรียนประถมอย่างแพร่หลายในอินโดนีเซียในช่วง ค.ศ. 1950-1972 เนื่องจากประเทศมีรายได้จากการพบบ่อนํ้ามัน ทำให้มีโรงเรียนใกล้บ้านมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ถึงแม้ว่านโยบายนี้ไม่มีผลต่อการเพิ่มการจบชั้นประถมของเด็กผู้หญิงโดยเฉลี่ย
แต่เมื่อแยกดูผลกระทบตามเชื้อชาติตามความต่างของประเพณีสินสอดแล้ว พบว่าการเพิ่มโรงเรียน 1 โรงต่อเด็กวัยเรียน 1,000 คน มีนัยสำคัญในการเพิ่มการจบชั้นประถมของเด็กผู้หญิงจากเชื้อชาติที่ใช้ประเพณีสินสอดที่ให้แก่ฝ่ายหญิง 2.5 เปอร์เซนต์ และในแซมเบีย พบว่า การสร้างโรงเรียนเพิ่ม 1 โรงต่อตารางกิโลเมตร สามารถเพิ่มการจบชั้นประถมของเด็กผู้หญิง จากเชื้อชาติที่ใช้ประเพณีสินสอดที่ให้แก่ฝ่ายหญิงได้สูงถึง 4.2 เปอร์เซนต์ ซึ่งงานวิจัยไม่พบผลกระทบที่เป็นบวกใดๆ ต่อการศึกษาของเด็กผู้หญิงจากครอบครัวที่ไม่มีวัฒนธรรมสินสอดให้แก่ฝ่ายหญิง
ถึงแม้ว่าวัฒนธรรมสินสอดที่ให้แก่ครอบครัวฝ่ายหญิงจะถูกบางกลุ่มมองว่า เป็นเรื่องคร่ำครึ และถึงกับเป็นการไม่ให้ความเท่าเทียมแก่เพศหญิง จนถึงขั้นมีการเรียกร้องให้ยกเลิกวัฒนธรรมนี้เสีย แต่การตัดสินวัฒนธรรมที่มีมานานโดยฉาบฉวย และปราศจากการวิเคราะห์ที่รอบด้านและลึกซึ้ง ก็อาจเป็นเรื่องเขลาที่ทำให้เสียโอกาสในการใช้วัฒนธรรมและประเพณีที่มีอยู่มาเป็นปัจจัยส่งเสริมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในด้านต่างๆ
ดังที่แสดงให้เห็นใน Ashraf, Bau, Nunn and Voena (2020) สิ่งที่มีอยู่กับสังคมมายาวนาน อาจไม่ใช่เรื่องล้าสมัยไร้ประโยชน์ แต่อาจจะยังคงมีอยู่เพราะแท้จริงแล้วมีประโยชน์ต่อในสังคมนั้นๆ ที่ลึกซึ้งเกินกว่าการเห็นด้วยด้วยตาเปล่าก็เป็นได้
เอกสารอ้างอิง:
Ashraf, N., Bau, N., Nunn, N., & Voena, A. (2020). Bride price and female education. Journal of Political Economy, 128(2), 591-641.
Fernández, R., & Fogli, A. (2009). Culture: An empirical investigation of beliefs, work, and fertility.American economic journal: Macroeconomics, 1(1), 146-77.
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,716 หน้า 5 วันที่ 23 - 25 กันยายน 2564