ผู้นำหญิงกับการจัดการวิกฤติโควิด-19

27 ต.ค. 2564 | 04:54 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ต.ค. 2564 | 11:54 น.

ผู้นำหญิงกับการจัดการวิกฤติโควิด-19 : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย...ผศ.ดร.กุลลินี มุทธากลิน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,726 หน้า 5 วันที่ 28 - 30 ตุลาคม 2564

ปี 2020 นิตยสารฟอร์บส์ได้เผยแพร่บทความเรื่อง What Do Countries With The Best Corona virus Responses Have In Common? Women Leaders หรือ สิ่งที่ประเทศที่รับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้ดีมีร่วมกันก็คือ ผู้นำหญิงโดยยกตัวอย่างความสำเร็จของผู้นำหญิง 7 คนจาก 7 ประเทศ ไล่เรียงไปตั้งแต่

 

อังเกลา แมร์เคิล (อดีต) นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี

 

ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีของไต้หวัน

 

จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีของนิวซีแลนด์

 

คาทริน ยาคอบส์ ดอททีร์ นายกรัฐมนตรีของไอซ์แลนด์

 

ซานนา มาริน นายกรัฐมนตรีของฟินแลนด์

 

อานา ซูลบาร์ก (อดีต) นายกรัฐมนตรีของนอร์เวย์

 

และ เมตเต เฟรเดอริกเซน นายกรัฐมนตรีของเดนมาร์ก

 

ผู้นำหญิงกับการจัดการวิกฤติโควิด-19

 

ทั้งนี้บทความดังกล่าวระบุว่า ผู้นำหญิงเหล่านี้แสดงให้เห็นถึง วิธีรับมือกับการระบาดของโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพทำให้อัตราการตาย หรือ การติดเชื้อในประเทศเหล่านี้ มีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีผู้นำเป็นชาย

 

วิธีการรับมือดังกล่าวมีทั้งด้านที่ตรง รวดเร็ว และ เฉียบขาด ที่ผู้คนมักจะคาดหวังว่าจะพบในผู้ชาย ตัวอย่างเช่น แมร์เคิล ใช้การบอกความจริงแก่ประชาชนอย่างสุขุมและรวดเร็ว ถึงความรุนแรงของสถานการณ์การระบาดของไวรัสในเยอรมนี การแสดงออกดังกล่าวทำให้ชาวเยอรมนีระมัดระวังตัวมากขึ้น ทั้งยังไม่มีความลังเลที่จะออกมาตรการการจัดการปัญหา และเริ่มดำเนินการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว

 

เช่นเดียวกับ อาร์เดิร์น ที่ออกมาตราการสูงสุด ปิดเมือง รวมถึงกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศ และประกาศห้ามคนต่างชาติเข้าประเทศในเวลาไม่นาน 

 

ขณะที่ ซูลบาร์ก และ เฟรเดอริกเซน เลือกใช้การสื่อสารกับเยาวชนผ่านการจัดแถลงข่าว โดยให้เวลากับการอธิบายกับการตอบคำถามเยาวชน กลับเป็นการให้ความใส่ใจและเห็นอกเห็นใจ ปกป้อง คุ้มครองและดูแลที่ผู้คนซึ่งลักษณะดังกล่าวมักจะคาดหวังว่าจะพบในผู้หญิง 

จากทวิลักษณะดังกล่าวข้างต้นของคุณลักษณะของผู้นำหญิงทำให้มีความน่าสนใจว่า ผู้นำหญิงมีความสามารถในการจัดการกับวิกฤติิการณ์อย่างการระบาดของโควิด-19 มากกว่าผู้นำชายหรือไม่ และอะไรคือข้อแตกต่างระหว่างผู้นำหญิงกับผู้นำชาย ในการจัดการวิกฤติดังกล่าว

 

ผู้เขียนพบว่า มีงานวิจัย 2 ชิ้นที่น่าสนใจและช่วยให้เราตอบปัญหาข้างต้น ซึ่งแน่นอนว่า จะทำให้เราเรียนรู้ถึงภาวะผู้นำและคุณลักษณะของผู้นำที่เราต้องการในช่วงวิกฤติต่างๆ งานชิ้นแรกชื่อว่า Women in power: Female leadership and public health outcomes during the COVID-19 pandemic (2020) การศึกษาดังกล่าวใช้ข้อมูลจาก 35 ประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงถึงรายได้สูง มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ในระดับสูง และอยู่ในระบอบประชาธิปไตย

 

ยกเว้นประเทศจีนที่ถูกนับรวมเข้ามา เนื่องจากเป็นประเทศแรกที่เกิดการระบาดของโรคในจำนวนดังกล่าว 10 ประเทศมีผู้นำเป็นผู้หญิง และอีก 25 ประเทศมีผู้ชายเป็นผู้นำ โดยพิจารณาจากตัวแปรเหล่านี้ ได้แก่ อัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ต่อจำนวนประชากร จำนวนวันที่มีการรายงานว่า พบคนเสียชีวิตจำนวนคนเสียชีวิตสูงสุดรายวัน และอัตราการตายส่วนเกินที่ครอบคลุมการเสียชีวิตอื่นๆ ในช่วงดังกล่าว

 

ผลการศึกษาพบว่า ประเทศที่มีผู้นำเป็นหญิงมีอัตราการตายจากโควิด-19 น้อยกว่า รวมถึงมีประสิทธิภาพในการทำให้อัตราการตายลดระดับลงอย่างรวดเร็ว มีจำนวนวันที่มีคนตายน้อยกว่าและตํ่ากว่าประเทศที่มีผู้นำเป็นชาย ทั้งยังมีอัตราการตายส่วนเกินตํ่ากว่า

 

โดยคำอธิบาย หรือ สาเหตุที่ทำให้เกิดความแตกต่างดังกล่าวข้างต้นเกิดจาก 2 ส่วน ส่วนแรก เกี่ยวพันกับลักษณะการดำเนินนโยบายของผู้นำหญิงที่มีความรวดเร็ว ในการใช้มาตราการที่เข้มงวดมากกว่า เมื่อเริ่มเกิดการระบาดของโรค รวมถึงการให้ความสำคัญกับมิติทางสาธารณสุข หรือ สุขภาพ ก่อนมิติทางเศรษฐกิจ และการประสบผลสำเร็จในการขอความร่วมมือจากประชาชนมากกว่า

 

ส่วนที่สอง เป็นปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยประเทศที่มีผู้นำเป็นผู้หญิงมักเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันทางสังคม ความต้องการของมนุษย์ และความเอื้ออาทรมากกว่า ประเทศเหล่านี้ยังมีวาระทางการเมือง และการกำหนดนโยบายของประเทศที่เน้นการความเป็นอยู่ทีดีของสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

ส่วนงานวิจัยชิ้นที่สองชื่อว่า Leading the Fight Against the Pandemic: Does Gender ‘Really’ Matter? (2020) การศึกษาดังกล่าวใช้ข้อมูลจาก 194 ประเทศ โดยมี 19 ประเทศ ที่มีผู้นำเป็นหญิงซึ่งมีสัดส่วนน้อย ทั้งนี้ประเทศเหล่านี้มีลักษณะทางประชากรและสังคมที่หลากหลาย จึงเลือกเปรียบเทียบกับประเทศใกล้เคียงกัน

 

ผลการศึกษาพบกว่า การจัดการการระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่มีผู้นำหญิงมีผลลัพธ์ที่ดีกว่า ทั้งนี้เพราะผู้นำหญิงมีการตัดสินใจ และการตอบสนองที่รวดเร็วกว่าในหลายกรณี ผู้นำหญิงเหล่านี้ทำการปิดประเทศเร็วกว่าผู้นำชายที่เผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน ทั้งยังได้รับความร่วมมือจากประชาชนมากกว่า

 

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับการศึกษานี้ คือ การใช้พฤติกรรมศาสตร์รวมถึงประสาทวิทยาศาสตร์ โดยพบว่า เพศสภาพที่แตกต่างกันมีมุมมองต่อความเสี่ยงที่แตก ต่างกัน กล่าวคือ ผู้นำหญิงหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการสูญเสียชีวิตของผู้คนมากกว่าในขณะเดียวกันกลับรับความเสี่ยงในผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการปิดประเทศได้มากกว่า 

 

การศึกษาอธิบายว่า เมื่อเผชิญกับสภาวการณ์ที่เลวร้าย ผู้หญิงจะคาดหมายในทางที่เลวร้ายกว่าและพยายามที่จะหลีกเลี่ยงความสูญเสียมากกว่า

 

ผู้นำหญิงเหล่านี้จึงดำเนินนโยบายที่ตอบรับต่อวิกฤติการณ์ได้รวดเร็วและเข้มข้นกว่าอย่างระมัดระวัง ขณะที่ผู้ชายจะตอบสนองด้วยความโกรธ ในขณะที่มีความเชื่อมั่นมากเกินไปในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน จึงมีความระมัดระวังน้อยกว่าในการดำเนินนโยบายและตอบรับต่อวิกฤติการณ์ได้ช้ากว่า

 

แต่ผู้ชายจะยอมรับความเสี่ยงได้ตํ่ากว่า เมื่อเผชิญกับความสูญเสียในเชิงเศรษฐกิจทำให้มีความลังเล ที่จะดำเนินมาตราการที่ส่งผลกระทบในทางลบทางเศรษฐกิจมากกว่า จึงดำเนินนโยบายได้ล่าช้ากว่า ในเชิงประสาทวิทยาศาสตร์ ยังอธิบายว่า เมื่อขจัดความแตกต่างด้านวัฒนธรรมออกไป จะพบว่า หญิงและชาย มีความรู้สึกด้านการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจที่แตกต่างกันของผู้นำหญิงและชาย 

 

แม้ว่าการศึกษาสไตล์ที่แตกต่างกันของผู้นำหญิงและชาย จะพบว่ามีทั้งส่วนที่เหมือนและต่างกัน แต่ส่วนสำคัญที่พบก็คือ ในขณะที่ผู้นำชายเน้นมุ่งความสำเร็จที่งาน ผู้นำหญิงจะเน้นความสัมพันธ์กับบุคคล ส่งผลให้มีความเป็นประชาธิปไตย และมีส่วนร่วมมากกว่า จึงได้รับความร่วมมือจากประชาชนมากกว่า 

 

ด้วยเหตุนี้ การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงโดยคำนึงถึงความสูญเสียชีวิตของผู้คน การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และรูปแบบการสื่อสารที่เน้นการมีส่วนร่วมและเป็นประชาธิปไตย จึงเป็นปัจจัยสำคัญร่วมที่ทำให้ผู้นำหญิงในหลายประเทศประสบผลสำเร็จในการจัดการกับการระบาดของโควิด-19