ท่านผู้อ่านอาจแปลกใจกับข้อสังเกตที่ว่า วิกฤติพลังงานในจีนที่เกิดขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีรากฐานมาจากความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาลจีนที่ต้องการสร้างบ้านเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ...
เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลจีนภายใต้การนำของ สี จิ้นผิง ได้กำหนดเป้าหมายระยะยาวที่ต้องการใช้พลังงานฟอสซิลและปลดปล่อยคาร์บอนไดอ๊อกไซด์สูงสุดในปี 2030 และบรรลุความเป็นการด้านคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2060
หากมองจากประเด็นจำนวนประชากรที่มากที่สุดในโลก และการเป็น “โรงงานของโลก” ของจีนที่ใช้พลังงานฟอสซิลเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ่านหินแล้ว ก็พบว่าเป้าหมายระยะยาวดังกล่าวแฝงด้วยความท้าทายครั้งใหญ่สำหรับจีน
เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลจีนได้นำเอาเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” มาเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาในทุกมิติ และกำหนดแผนงานและเริ่มเดินหน้าการดำเนินงานอย่างเต็มกำลัง โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป
เงื่อนไขดังกล่าวทำให้จีนเสมือนกำลังเผชิญวิกฤติในหลายด้านไปพร้อมกัน ในด้านหนึ่ง จีนต้องการพัฒนาเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่ยังระบาดอยู่หลายพื้นที่ทั่วโลก แต่ในอีกด้านหนึ่ง จีนก็ต้องพยายามลดการใช้พลังงานฟอสซิลและการปล่อยคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ท่ามกลางราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในห้วงปีที่ผ่านมา
แต่การที่ผู้นำจีนประกาศพันธะสัญญาระหว่างประเทศอย่างชัดเจนไปแล้วก่อนหน้านี้ จึงเป็นเสมือน “ภาคบังคับ” ที่รัฐบาลจีนต้องหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาบนพื้นฐานของความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป
วิกฤติพลังงานในช่วงที่ผ่านมานับเป็นตัวอย่างที่ดีที่เราเห็นรัฐบาลจีนยอม “กลืนเลือด” ไม่ผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตแรง แต่เลือกที่จะ “ผ่อนคันเร่ง” และหันให้ความสำคัญกับการลดการใช้ถ่านหิน ซึ่งยังอยู่ในระดับที่สูงถึง 60% ของการใช้พลังงานเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าโดยรวมของจีน เพราะหากไม่เริ่มคุมเข้มการใช้พลังงานฟอสซิลแต่เนิ่นๆ จีนก็อาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายแรกในปี 2030 ได้
จากแผนงานของรัฐบาลจีน (Government Work Plan) ระบุว่า ในปี 2021 จีนตั้งเป้าหมายการลดการใช้พลังงานต่อหน่วยของจีดีพีลง 13.5% และลดการปล่อยคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ต่อหน่วยของจีดีพีลง 18.0% นั่นหมายความว่า ในทุกหน่วยจีดีพีที่เพิ่มขึ้น จีนจะต้องใช้พลังงานและปล่อยคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ลดลงตามอัตราดังกล่าว
โดยในแผนงานดังกล่าวกำหนดให้ “การก่อสร้าง” เป็น 1 ใน 8 อุตสาหกรรมหลักที่จีนให้ความสำคัญ เพราะจากสถิติโลกพบว่า อาคารในปัจจุบันใช้พลังงานเฉลี่ยราว 1 ใน 3 ของการใช้พลังงานโดยรวม และปล่อยคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ถึง 40% ของทั้งหมด ประการสำคัญ สัดส่วนดังกล่าวกระจุกตัวกับอาคารสำนักงานและกิจการค้าปลีกในชุมชนเมือง ซึ่งจีนกำลังขยายตัวอยู่อีกด้วย
การเพิ่มพื้นที่ “อาคารสีเขียว” ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจึงนับเป็นหนึ่งในแนวทางที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การออกแบบและก่อสร้างอาคารสีเขียวในจีนผุดขึ้นหลายพันโครงการ ทำให้จีนติด 10 อันดับแรกของประเทศที่มีพื้นที่อาคารสีเขียวในช่วง 6 ปีต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน สภาอาคารสีเขียวของสหรัฐฯ (U.S. Green Building Council) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ออกประกาศนียบัตร “LEED” (Leadership in Energy and Environmental Design) รับรองความเป็น “อาคารสีเขียว” ดังกล่าวที่ได้รับการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ ได้ออกมายืนยันว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จีนได้พัฒนาอาคารสีเขียวไปอย่างรวดเร็วรวมกว่า 100% และกลายเป็นตลาดอาคารสีเขียวมากเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ ในปัจจุบัน
จนมีข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า พื้นที่อาคารสีเขียวโดยรวมของจีนพุ่งทะลุ 6,600 ล้านตารางเมตรเข้าไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองเอก และเซี่ยงไฮ้ดูจะโดดเด่นที่สุดในเรื่องนี้
“จีนทำได้อย่างไร” กลายเป็นคำถามที่ผุดในหัวของผมอีกครั้ง จากการศึกษาพบว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา จีนได้พยายามดำเนินหลายมาตรการเพื่อให้อาคารในจีนไม่เพียงลดการปล่อยคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ แต่ยังช่วยฟอกอากาศ และเพิ่มอ๊อกซิเจนต่อระบบนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
1. การเพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียว ในอดีต เราอาจเคยได้ยินเรื่องการปลูกไม้ดอกไม้ประดับแนวดิ่งที่หน่วยงานภาครัฐและเจ้าของพร็อพเพอร์ตี้ใหญ่ อาทิ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการ สถาบันการศึกษา อาคารสำนักงาน และห้างสรรพสินค้า นิยมนำมาใช้ตกแต่งสถานที่
แต่ในวันนี้ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจีนสามารถนำเอา “สิ่งแวดล้อม” มาเป็นจุดขายกันแล้ว หลายโครงการใหญ่มีการก่อสร้าง “ป่าแนวดิ่ง” (Vertical Forest) เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจน และสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น โดยจีน “เรียนลัด” นำเอาความรู้และตัวอย่างดีๆ จากหลายประเทศ อาทิ สิงคโปร์ และอิตาลี มาปรับใช้
โดยที่จีนนิยมใช้แนวทาง “การเดินข้ามลำธารโดยใช้เท้าสัมผัสหิน” โดยนำร่องและทดสอบการพัฒนาจนได้โมเดลที่เหมาะสมก่อนนำไปใช้ในวงกว้าง แต่การนำเอาแนวทางดังกล่าวมาใช้กับเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะท่านผู้อ่านก็ทราบดีว่า ค่าที่ดินในเมืองใหญ่ของจีนมีราคาสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองเอกอย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และเซินเจิ้น คนจีนในเมืองเอกที่ซื้อที่อยู่อาศัยต้องจ่ายค่าพื้นที่ที่ใช้จัดวางต้นไม้เหล่านั้นในราคาที่สูง จึงอาจต่อต้าน “ป่าแนวดิ่ง”
ดังนั้น ในการนำเอา “ป่าแนวดิ่ง” ไปเริ่มทดลองใช้ครั้งแรกเมื่อราว 5 ปีก่อน ภาครัฐและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จีนจึงเลือกใช้กับโครงการในเมืองรองระดับที่ 2 ที่มีราคาค่าพื้นที่ที่ต่ำกว่าก่อน อาทิ มณฑลเจียงซู (Jiangsu) ด้านซีกตะวันออกของจีน มณฑลหูเป่ย (Hubei) ตอนกลางของจีน และมณฑลเสฉวน (Sichuan) ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
ประเภทต้นไม้ กระถางต้นไม้ ถาดรองน้ำพิเศษ และอื่นๆ ถูกออกแบบและทดลองใช้เพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่นอกชาน และไม่ก่อปัญหาในเรื่องขยะ การระบายน้ำ น้ำเสีย และยุงและแมลง ทั้งนี้ รัฐบาลจีนตระหนักดีว่า ด้วยการขยายตัวของชุมชนเมืองอย่างรวดเร็ว เมืองรองในปัจจุบันก็จะถูกยกระดับสู่เมืองระดับที่สูงขึ้นในอนาคต
ขณะเดียวกับ การประยุกต์ใช้ในวงกว้างจะเกิดขึ้นได้ เงื่อนไขจะต้องตอบโจทย์ประชาชนโดยรวม ดังนั้น เมื่อพัฒนาโมเดลจนนิ่งดี และสภาพตลาดเปิดพร้อมรับแล้ว กิจการอสังหาริมทรัพย์จีนจึงได้นำเอากลยุทธ์การตลาดนี้กลับมา “ปล่อยของ” ในเมืองเอกดังกล่าว
แต่จีนก็ไม่ต้องการให้ประชาชน “ตัดเสื้อขนาดเดียวไว้สวมใส่” จึงแนะนำทางเลือกให้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองเอกใช้การปลูกสวนไม้ดอกไม้ประดับที่เหมาะสมก็ได้ ขณะเดียวกัน รัฐบาลในพื้นที่ตอนในก็อาจใช้พื้นที่ที่ว่างเปล่าอันกว้างใหญ่ ซึ่งอาจเป็นทะเลทราย และเทือกเขา เพื่อการเพาะปลูกต้นไม้เท่าที่เป็นไปได้
2. การยกระดับมาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอาคาร ในประเด็นนี้ รัฐบาลจีนต้องการให้อาคารและสถานที่ต่างๆ โดยรวมมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่สูงขึ้น การประหยัดการใช้พลังงานนับเป็นพื้นฐานที่จีนผลักดัน เช่น การปิดไฟฟ้าในพื้นที่ที่ไม่ถูกใช้งาน และการตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่เหมาะสม รวมไปถึงการติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องควบคุมไฟฟ้าอัตโนมัติ
เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน