เซี่ยงไฮ้ผุดสนามบินแห่งที่ 3 (1)

29 ต.ค. 2564 | 04:56 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ต.ค. 2564 | 12:08 น.

เซี่ยงไฮ้ผุดสนามบินแห่งที่ 3 (1) คอลัมน์มังกรกระพือปีก ฉบับ 3727 หน้า 4 โดย... ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

 

ขณะที่โลกกำลังมองหานวัตกรรมรูปแบบการเดินทางใหม่มาทดแทนการขนส่งทางอากาศในยุคหลังโควิด-19 และแม้ว่าโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงได้รับการพัฒนาอย่างกว้างขวางทั่วจีน ช่วยแบ่งเบาความแออัดของสนามบินในหลายหัวเมืองไปได้มากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

 

แต่การเดินทางโดยเครื่องบินในจีนก็ยังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอยู่ต่อไป และห่างไกลจากจุดสูงสุด ส่งผลให้รัฐบาลจีนต้องวางแผนและลงทุนก่อสร้างและปรับปรุงสนามบินอยู่ตลอดเวลา ทั้งในเมืองใหญ่และเมืองรอง ...  

 

หากใครเดินทางไปเยือนเซี่ยงไฮ้ หัวเมืองด้านซีกตะวันออกของจีน ในช่วงกว่า 20 ปีก่อน คงได้มีโอกาสใช้บริการสนามบินนานาชาติเซี่ยงไฮ้หงเฉียว (Shanghai Hongqiao International Airport) ซึ่งเรานิยมเรียกกันว่า “สนามบินหงเฉียว” สนามบินแห่งนี้อยู่ห่างจากตัวเมืองเซี่ยงไฮ้ไปด้านซีกด้านตะวันตกไม่ถึง 20 กิโลเมตร และเน้นให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ภายในประเทศและภูมิภาคเอเซียตะวันออกในปัจจุบัน

 

แต่ในระยะหลัง คนไทยที่ไปเยือนเซี่ยงไฮ้และเมืองใกล้เคียงจะคุ้นเคยกับสนามบินนานาชาติเซี่ยงไฮ้ผู่ตง (Shanghai Pudong International Airport) มากกว่า เพราะสายการบินที่ให้บริการในเส้นทางสุวรรณภูมิ-เซี่ยงไฮ้ ก็ใช้บริการผู้โดยสายผ่านสนามบินนี้

 

“สนามบินผู่ตง” ตั้งอยู่ราว 30 กิโลเมตรด้านทิศตะวันออกของเซี่ยงไฮ้ ติดริมทะเลใกล้บริเวณปากแม่น้ำแยงซีเกียง เวลาเครื่องบินขึ้นลงจะเห็นกองเรือสินค้ามากมายลอยคออยู่ ปัจจุบัน สนามบินผู่ตงเป็นสนามบินหลักที่ให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ระหว่างประเทศ และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 8 ของโลก   

 

ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา เซี่ยงไฮ้ได้ปรับโฉมบ้านเมืองให้ดูดีและทันสมัยมาอย่างต่อเนื่อง คำกล่าวเดิมของจีนที่ว่า “เปลี่ยนเล็กทุกปี เปลี่ยนใหญ่ทุกสามปี” นับว่าไม่เกินเลยความจริงเลยแม้แต่น้อย โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะพัฒนาเซี่ยงไฮ้ให้ก้าวขึ้นเป็นเมืองศิวิไลซ์ต้นแบบของโลก 

 

ในแง่ของโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการบิน สนามบินทั้งสองดังกล่าวก็ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการก่อสร้างและปรับปรุงเทอร์มินัลใหม่โดยเฉลี่ยทุก 10 ปี

 

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ไม่นาน รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ก็เห็นชอบให้การท่าอากาศยานแห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Airport Authority) ดำเนินโครงการปรับปรุงสนามบินหงเฉียว และต่อยอดเป็น “ศูนย์ลอจิสติกส์ครบวงจรหงเฉียว” ที่รวบรวมหลายรูปแบบการขนส่งไว้ด้วยกันในจุดเดียว เพื่อใช้เป็นเสมือนประตูเชื่อมโยงเซี่ยงไฮ้กับเมืองรายรอบภายในประเทศ

 

โดยอาศัยเทคโนโลยีวิศวกรรมการก่อสร้างในแนวนอนและแนวดิ่งที่ยอดเยี่ยม สนามบินหงเฉียวถูกเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟความเร็วสูง รถไฟใต้ดิน และโครงข่ายอื่น ช่วยให้ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางระหว่างเครื่องบิน รถไฟความเร็วสูง รถไฟใต้ดิน และรถยนต์ โดยอาศัยทางเท้า สายพานเดิน และลิฟท์ ซึ่งเพิ่มความสะดวกในการเดินทางให้กับผู้โดยสารเป็นอย่างมาก

 

ขณะเดียวกัน การท่าอากาศยานฯ ก็ยังดำเนินโครงการขยายสนามบินผู่ตงระยะที่ 3 ซึ่งเป็นการก่อสร้างเทอร์มินัลบริวาร (Satellite Terminal) ขนาดพื้นที่ 620,000 ตารางเมตรที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเริ่มเปิดให้บริการไปเมื่อปี 2019

 

เทอร์มินัลใหม่นี้ถูกเชื่อมต่อกับเทอร์มินัล 1 และ 2 ทำให้สนามบินผู่ตงกลายเป็นรูปตัว H สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นได้อีกปีละ 6 ล้านคน ทำให้สนามบินผู่ตงสามารถให้บริการจำนวนผู้โดยสารโดยรวมเป็น 80 ล้านคนต่อปี และช่วยลดความแออัดของเทอร์มินัลเดิมทั้งสองได้ในระดับหนึ่ง

 

แต่เพียงไม่นานหลังจากนั้น สนามบินทั้งสองก็ส่งสัญญาณความแออัดตามมาอีกครั้ง ท่านผู้อ่านที่ใช้บริการสนามบินดังกล่าวอาจเคยผ่านประสบการณ์ที่เครื่องบินต้องจอดรอสัญญาณปล่อยขึ้นบินเป็นเวลานาน หรืออาจต้องบินวนอยู่นานก่อนที่เครื่องบินจะลงแลนด์ดิ้งได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เซี่ยงไฮ้มีงานสำคัญซึ่งอาจมีวีไอพีบินเข้าออกเป็นจำนวนมาก หรือมีกิจกรรมพิเศษทางอากาศ เช่น การซ้อมบินของกองทัพอากาศจีน

 

ปัจจุบัน สนามบินในเซี่ยงไฮ้โดยรวมถือว่าแออัดมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยรองรับผู้โดยสารถึงปีละ 130 ล้านคน/ครั้ง และสินค้ากว่า 4 ล้านตัน ด้วยความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สนามบินที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอที่จะรองรับจำนวนผู้โดยสารและสินค้าในอนาคตอันใกล้ ส่งผลให้เซี่ยงไฮ้เตรียมคลอดสนามบินแห่งใหม่

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สำนักงานบริหารด้านการบินพลเรือนแห่งชาติจีน (Civil Aviation Administration of China) ได้ใช้เวลาในการศึกษาความเหมาะสมของจุดก่อสร้างสนามบินใหม่ของเซี่ยงไฮ้ในหลายแห่ง แต่เนื่องจากทำเลในแต่ละแห่งมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกัน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะตัดสินใจว่าควรเลือกเมืองไหนในการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ดังกล่าว 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

 

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,726 วันที่ 28 -30 ตุลาคม พ.ศ. 2564