กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าขึ้นมาทันทีเมื่อ คณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 เห็นชอบให้เดินหน้าเสนอร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์การไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ….เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้
วันที่ 7 มกราคม 2565 เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน ที่มีการรวมตัวกันของบรรดาองค์กรเอ็นจีโอกว่า 1,867 องค์กร ได้ร่วมกันลงนามคัดค้านและเผยแพร่แถลงการณ์ต่อต้านการออกกฎหมายมาควบคุมทันที…
เครือข่ายฯ ได้เผยแพร่แถลงการณ์ ความว่า “การเสนอร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. ของรัฐบาล ตามมติครม.โดยอ้างว่าองค์กรไม่แสวงหากำไรและองค์กรภาคประชาชนทั่วประเทศที่ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ขาดธรรมาภิบาล ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีจิตแอบแฝง เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน จึงต้องควบคุมเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ท่ามกลางเสียงคัดค้านของภาคประชาชนทั่วประเทศ ได้แสดงให้เห็นถึงความไม่สนใจใยดีต่อเหตุผลที่เครือข่ายภาคประชาชนพยายามนำเสนอ เพื่อให้รัฐบาลได้พิจารณาทบทวนความคิดในการตรากฎหมายฉบับดังกล่าว
ด้วยเห็นว่าเป็นกฎหมายไม่สอดคล้องกับเสรีภาพในการรวมกลุ่ม การชุมนุมสาธารณะ การแสดงออก และสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มีการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขต โดยเฉพาะอำนาจข้าราชการ ในการใช้ดุลพินิจว่ากิจการใดขัดต่อความสงบเรียบร้อย ขัดต่อความมั่นคงของรัฐได้ตามอำเภอใจ มีอำนาจสั่งห้ามไม่ให้กระทำได้ โดยไม่สามารถฟ้องศาลปกครองได้
เครือข่ายฯ เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ…. มีเจตนา และเนื้อหาต้องการควบคุม กำกับ และเข้าข่ายคุกคามการรวมกลุ่มของประชาชนในทุกรูปแบบ โดยอ้างเหตุผลว่า ต้องการจัดระบบกลุ่มองค์กรทางสังคมในประเทศให้มีความสงบเรียบร้อยมากขึ้น
ความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ กำลังส่อเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ และกำลังใช้ระบบราชการอำนาจนิยมแบบเผด็จการทหาร ในการกำกับ ควบคุมภาคประชาชนให้ดำเนินกิจกรรมอยู่ ภายใต้การรวมศูนย์อำนาจเท่านั้น เป็นภัยคุกคามการรวมกลุ่มของประชาชน มากกว่ามองเห็นเป็นหุ้นส่วน ขัดต่อหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
เครือข่ายฯ ขอยืนยันว่า พวกเราไม่ได้ปฏิเสธการถูกตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส แต่เราไม่ยอมรับและขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้อย่างถึงที่สุด จนกว่าจะมีการถอนร่างกฎหมายฉบับนี้
ทั้งนี้ จะมีการนัดหมายองค์กร/เครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศได้มีการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันแล้ว 1,800 กว่าองค์กร ให้ออกมาคัดค้านรัฐบาลในเรื่องนี้ ก่อนที่จะมีการนำร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีครั้งต่อไป ขอเรียกร้องไปยังกลุ่ม/องค์กร ภาคี/เครือข่ายภาคประชาชนทั่วทุกภูมิภาค ได้ออกมาปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนเองในการรวมกลุ่มทำกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ โดยพร้อมเพรียงกัน
ถือเป็นสัญญาณชัดว่า บรรดาองค์กรเครือข่าย NGO อาทิเช่น คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.), เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนความมั่นคงทางอาหาร, เครือข่ายองค์กรผู้สูงอายุ, เครือข่ายแรงงานนอก, เครือข่ายด้านเด็กและครอบครัว, เครือข่ายเยาวชน, เครือข่ายองค์กรผู้หญิง, เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ, เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค, เครือข่ายองค์กรคนพิการ,เครือข่ายชุมชนเมือง/สลัมสี่ภาค, ครือข่ายสิทธิมนุษยชน/ประชาธิปไตย, เครือข่ายนักวิชาการด้านสังคม ล้วนมีเจตนารมย์ชัดว่าไม่เอาด้วย และพร้อมล้มกฎหมายฉบับนี้ของรัฐบาลเต็มที่...
ผมติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ ครม.รัฐบาลลุงตู่มีมติเห็นชอบในหลักการไปครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 และช่วงปลายเดือน มิถุนายน 2564 เคยเข้าร่วมรับฟังข้อมูลที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็น ตอนนั้นผมจำได้ว่ามี กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กรมการปกครอง กรมการจัดหางาน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ผู้บริหารจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่จาก ปปง.
ที่ผมสนใจ เพราะในตอนนั้นผมนำเสนอข่าวและเกาะติดในเรื่ององค์กรซ่อนรูปของสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็คือ (National Endowment for Democracy หรือ NED) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาโดย Department of state หรือกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาเป็นแหล่งทุนของ NED อีกต่อหนึ่งและใช้งบประมาณประจำปีของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้จ่ายเงินให้กับองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรของไทยจำนวนมาก และผู้ที่เข้าไปเกี่ยวพันก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ วัยวุฒิแทบทั้งสิ้นได้มาต่อว่าต่อขานผมเต็มที่
ทุกคนจะตอบโต้ผมว่า การรับเงินไม่ได้มีผลต่ออุดมการณ์หรือครอบงำการทำงานในการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของคนไทยที่ถูกละเลย
ตอนนั้น ผมใช้อาจารย์กูเกิ้ลนี่แหละแกะงบประมาณประจำปี 2560 ของ NED ซึ่งได้รับอนุมัติจากสภาคองเกรส ให้กับองค์กรพัฒนาเอกชนไม่แสวงหาผลกำไร และพบว่าทุกกลุ่มมักจะมีวัตถุประสงค์ว่า ทำงานเพื่อสร้างเสริมประชาธิปไตย และการป้องกันสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย พบว่ามีองค์กรเอกชนชื่อดังกว่า 22 องค์กร รับเงินรวมกันกว่า 2-3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
NED ตอนนั้นมี Andrew H. Card อดีตหัวหน้าสำนักประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จอร์จ ดับเบิลยู บุช เป็นประธาน สังกัดกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ มีสถานทูตสหรัฐอเมริกา ดูแล เขาจึงเรียกกันว่าเป็น CIA ภาคพลเรือนที่เป็นองค์กรซ่อนรูป
ใครรับบ้างนะหรือ ที่รับเงินบริจาคจาก NED ถามโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), ถามเว็บไซต์ประชาไท, ถามศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ฯลฯ
พอสาวลึกไปในการทำงานนั้น โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เมื่อได้รับเงินจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ก็ออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์ในนามของประชาธิปไตยแบบตะวันตก ที่เน้นเรื่องสิทธิและเสรีภาพ และเข้ามาก้าวก่ายกิจการภายในประเทศของไทย ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ iLaw และ ผลักดันรัฐธรรมนูญผ่านรัฐสภาไทย
ผมเห็นว่า การที่องค์กรเอกชนไทยได้รับเงินจากองค์กรซ่อนรูปของอเมริกาเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญ รณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศของไทย ถือว่าเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงกิจการภายในอย่างร้ายแรง
ขณะเดียวกัน มีหลายองค์กรรับเงินจาก มูลนิธิ Open Society Foundation ของพ่อมดทางการเงินชื่อก้องโลก จอร์จ โซรอส เช่น เว็บไซต์ประชาไท, เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network), มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation) และสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT)
ต่อมาในห้วงนั้น ถ้าจำกันได้ นายเดวิดส เตร็คฟัสส์ อายุ 61 ปี ผู้อำนวยการศูนย์แลกเปลี่ยนการศึกษาระหว่างประเทศ (CIEE) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถูกทางการไทยระงับใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ด้วยเหตุผลเพื่อความมั่นคงของชาติและความมั่นคงของสถาบันเบื้องสูง ผมจำได้น่าจะเป็นห้วงเดือนเมษายน 2564
ประเด็นต่อมา ที่ผมให้ความสนใจเพราะในมติครม. เมื่อ 29 มิถุนายน 2564 นั้น ระบุสาเหตุที่ต้องควบคุมและยกร่างกฎหมายฉบับนี้ควบคู่กับมติเห็นชอบให้เพิ่มเติมหลักการการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย’ (Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism หรือ AML/CFT) ครม.ระบุว่า การเพิ่มเติมหลักการดังกล่าวมีเจตนาเพื่อให้ประเทศไทยปฏิบัติตามมาตรฐานสากลของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (Financial Action Task Force หรือ FATF) ที่ก่อตั้งโดย 8 ประเทศในกลุ่ม G7 ประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น และแคนาดา เพื่อปกป้องเสถียรภาพของระบบการเงินระหว่างประเทศ
พิจารณาผิวเผินจะเห็นว่า การยกเหตุผลในเรื่องการป้องกันการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้ายและป้องกันการแพร่ขยายอาวุธ ที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรสนับสนุน
แต่ผมประเมินตอนนั้นแล้วว่า การยกร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมาจะเป็นการเล่นกับไฟแน่นอน เพราะประเทศไทยนั้นนอกจากการเมืองนำม็อบแล้วองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรนี่แหละ คือตัวก่อม็อบอันฉกาจฉกรรจ์ และเป็นเครือข่ายที่มีแรงฮึดมากที่สุด การกำกับควบคุมภาคประชาสังคมในประเทศไทยไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้แน่นอน
แถมร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันนั้น ไม่กำกับควบคุมเฉพาะเอ็นจีโอเท่านั้น แต่รวมไปถึงคณะบุคคลอีกด้วย
คณะบุคคลนี่คุมกว้างมาก ตั้งแต่กลุ่มสถาบันวิชาการ กลุ่มชุมชน มูลนิธิ งานแสดงศิลปะ องค์กรนักศึกษา โครงการทีทำกิจกรรมเพื่อสังคม ฯลฯ
ในร่างกฎหมายนั้นมีสาระที่เป็นน่าวิตกกังวลหลายเรื่องเข้าไปอีก..
*ทุกกลุ่มต้องจดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย นั่นหมายความว่า ไม่ว่าคุณจะรวมกลุ่มในรูปแบบใด ก็อาจถูกตีความอยู่ใต้พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่กำหนดนิยามไว้อย่างกว้างขวาง หากไม่จดทะเบียน จะกลายเป็นกลุ่มที่ผิดกฎหมาย
*เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาควบคุมการดำเนินกิจกรรมได้ เหตุเพราะกลุ่มใดก็ตามที่รับทุนจากต่างประเทศ เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจเต็มที่ที่จะพิจารณาว่ากิจกรรมใดบ้างที่จะสามารถกระทำโดยใช้เงินทุนนั้น และมีบทบัญญัติให้อำนาจแก่ทางการไทยในการตรวจสอบองค์กรต่างๆ อย่างใกล้ชิด
*ปิดกั้นการแสดงออก เหตุเพราะเจ้าหน้าที่ไทยสามารถเข้าไปในสำนักงานขององค์กรภาคประชาสังคม ทำสำเนาข้อมูลจราจรทางอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าและไม่ต้องมีหมายศาล ซึ่งเป็นการคุกคามสิทธิและความเป็นส่วนตัว
*มีข้อกำหนดการลงโทษที่รุนแรง เหตุเพราะหากไม่จดทะเบียนอาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถือเป็นการลงโทษทางอาญาที่รุนแรงเกินความจำเป็นต่อประชาชน
ดังนั้น ถ้ารัฐบาลจะเดินหน้าสะสะสางการรับเงินขององคืกรเอ็นจีโอ จากผู้มีเจตนารมย์ร่วมกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ รัฐบาลจะต้องใจแข็ง เพราะต้องเล่นกับไฟของกลุ่มคนที่มีบุคลิกภาพอีกแบบหนึ่ง ที่มีความมานะทุ่มเท ไม่ย่อท้อ...และมากด้วยอุดมการณ์พิเศษที่ไม่เหมือนใคร...
ไม่เจ๋งจริง ใจไม่ถึง อย่าแหยมเชียว!