นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2565 เห็นชอบให้เดินหน้าเสนอร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์การไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ….เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้
วันที่ 7 มกราคม 2565 เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน ที่มีการรวมตัวกันของบรรดาองค์กรเอ็นจีโอกว่า 1,867 องค์กร ได้ร่วมกันลงนามคัดค้าและเผยแพร่แถลงการณ์ต่อต้านการออกกฎหมายมาควบคุมทันที…
แถลงการณ์ ความว่า “การเสนอร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. ของรัฐบาล ตามมติครม.โดยอ้างว่าองค์กรไม่แสวงหากำไรและองค์กรภาคประชาชนทั่วประเทศที่ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ขาดธรรมาภิบาล ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีจิตแอบแฝง เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน จึงต้องควบคุมเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ท่ามกลางเสียงคัดค้านของภาคประชาชนทั่วประเทศ ได้แสดงให้เห็นถึงความไม่สนใจใยดีต่อเหตุผลที่เครือข่ายภาคประชาชนพยายามนำเสนอ เพื่อให้รัฐบาลได้พิจารณาทบทวนความคิดในการตรากฎหมายฉบับดังกล่าว
เครือข่ายฯระบุว่า กฎหมายไม่สอดคล้องกับเสรีภาพในการรวมกลุ่ม การชุมนุมสาธารณะ การแสดงออก และสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มีการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขต โดยเฉพาะอำนาจข้าราชการ ในการใช้ดุลพินิจว่ากิจการใดขัดต่อความสงบเรียบร้อย ขัดต่อความมั่นคงของรัฐได้ตามอำเภอใจ มีอำนาจสั่งห้ามไม่ให้กระทำได้ โดยไม่สามารถฟ้องศาลปกครองได้
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ออกประกาศขอเชิญชวนองค์กรภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ ร่วมส่งภาพถ่ายหรือวิดีโอในการทำงานเพื่อสังคม ในองค์กรของท่าน เพื่อนำไปเผยแพร่ในสาธารณะ ในแพลตฟอร์มออนไลน์ ของแอมเนสตี้ฯ แสดงให้เห็นความสำคัญขององค์กรภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย ต่อร่างพระราชบัญญัติฯฉบับนี้ เพราะจำกัดสิทธิเสรีภาพในการสมาคมและสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ อย่างเกินควร
คำถามที่ตามมาคือ ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. ที่เสนอโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) และครม.มีมติรับทราบเห็นชอบให้ยกร่าง และมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รับร่างพระราชบัญญัติ ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไปนั้น มีสาระอย่างไร
ผมไปตรวจสอบ สาระสำคัญของแนวทางการยกร่างพระราชบัญญัติมีดังนี้แล้ว มีเหตุผลว่า....
โดยที่มาตรา 78 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กําหนดให้รัฐ พึงส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ รวมทั้งการจัดทําบริการสาธารณะ
ประกอบกับมาตรา 42 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กําหนดให้บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหกรณ์ สหภาพ องค์กร ชุมชน หรือหมู่คณะอื่น จึงควรส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพและสร้างความเข้มแข็ง ขององค์กรไม่แสวงหากําไรให้สามารถดําเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมและมีธรรมาภิบาล โดยให้มีการ ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย เปิดเผย โปร่งใส เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้กิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากําไร อันเป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ตลอดจนการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้
ในสาระนั้นกำกับทั้งหมด 11 หัวข้อ ผมเรียบเรียงไว้ตามนี้
1.เขียนคุมองค์กรไม่แสวงหากำไร ว่าเป็น คณะบุคคลภาคเอกชนซึ่งรวมกลุ่มกันจัดตั้งในรูปแบบใดๆ ที่มีบุคคลร่วมดำเนินงาน เพื่อจะทำกิจกรรมต่างๆ ในสังคมโดยไม่มุ่งแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน แต่ไม่รวมการรวมกลุ่มของคณะบุคคล เพื่อดำเนินกิจกรรมเป็นการเฉพาะคราวหรือดำเนินกิจกรรมเฉพาะ เพื่อประโยชน์ของคณะบุคคลนั้นหรือพรรคการเมือง
2.ให้ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
3.กำหนดให้องค์กรไม่แสวงหากำไรที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายโดยเฉพาะ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายนี้โดยเฉพาะ และให้อยู่ในบังคับตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
4.กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรไม่แสวงหากำไร โดยมี รมว.พัฒนาสังคมฯ เป็นประธานกรรมการ คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจในการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรฯ การกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงานการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรฯ
5.สิทธิ์ที่ประโยชน์ขององค์กรไม่แสวงหากำไรที่จะได้รับ เช่น รับการสนับสนุนเงินทุน องค์กรไม่แสวงหากำไรและผู้สนับสนุนอาจได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามที่กฎหมายกำหนด
6.กำหนดข้อห้ามดำเนินการไว้ชัดเจนมาก เช่น ไม่กระทำการที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ไม่กระทำการที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม ไม่เป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมาย
7.องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ได้รับเงินอุดหนุนหรือเงินบริจาคจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศต้องแจ้งชื่อแหล่งเงินทุนต่างประเทศ บัญชีธนาคารที่จะรับเงิน จำนวนเงินที่จะได้รับ ตลอดจนการใช้เงินตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งต่อนายทะเบียน ซึ่งก็คือปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ
8.องค์กรไม่แสวงหากำไร ต้องมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับชื่อขององค์กร วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง วิธีดำเนินงาน แหล่งที่มาของเงินทุน และรายชื่อผู้รับผิดชอบการดำเนินงานให้หน่วยงานของรัฐและบุคคลทั่วไปเข้าถึงข้อมูลนั้นโดยง่าย วิธีการเปิดเผยข้อมูลให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด วิธีที่สามารถกระทำได้โดยสะดวก
9.กรณีที่องค์กรต้องเปิดเผยข้อมูลอยู่แล้วตามกฎหมายเฉพาะให้ถือว่าได้ทำการเปิดเผยข้อมูลแล้ว
10. กรณีไม่ปฏิบัติตามหน้าที่หรือฝ่าฝืนข้อห้ามตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนแจ้งเตือน หรือหยุดการดำเนินการที่ฝ่าฝืนข้อห้าม หากยังไม่ดำเนินการในระยะเวลาที่กำหนดหรือยังคงฝ่าฝืนข้อห้ามต่อไป ให้นายทะเบียนมีอำนาจออกคำสั่งให้องค์กรนั้นหยุดการดำเนินกิจกรรมหรือยุติการดำเนินงานได้
ข้อสุดท้าย 11.หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียน องค์กรไม่แสวงหากำไรต้องรับโทษปรับทางอาญา และผู้รับผิดชอบดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหากำไรจะต้องรับโทษเช่นเดียวกัน
ด้วยเหตุและผลเช่นนี้แหละครับ จึงเกิดการต่อต้านจากองค์กรเอ็นจีโอนับกว่า 2,000 องค์กร เล่นกับใครไม่เล่น...
แต่ถ้าเล่นแบบแมวหยอกไก่ รัฐบาลป้อด!