สะเทือนไปทั้งเอเชีย เมื่อรัฐบาลเวียดนาม ประกาศเป้าหมายที่เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศว่า ภายในปี 2030 หรือ 2573 เวียดนามจะเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าจากฟาร์มรายใหญ่ของโลก โดยจะใช้ทุกยุทธวิธีในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรจากฟาร์มในทุกรูปแบบ
ขณะที่ประเทศไทย สปป.ลาว ล้วนประกาศตัวเองว่า จะยกระดับภาคการเกษตรของประเทศให้เป็น “ครัวของโลก”
Hanoi Times ระบุว่า นายเลมินห์ โฮน รัฐมนตรีเกษตรและการพัฒนาชนบทแห่งเวียดนาม ได้ประกาศแผน “ผู้ผลิตสินค้าจากฟาร์มรายใหญ่ของโลก the world’s major farm producers by 2030 โดยกำหนดเป้าหมายในการยกระดับไว้ชัดเจนใน 3 กลุ่ม
• อุตสาหกรรมเกษตรและประมงของเวียดนามจะต้องสร้างมูลค่าจีดีพี ให้ได้ ร้อยละ 2.5-3 ต่อปี
• ความสามารถในการผลิตต้องโตให้ได้ร้อยละ 5.5-6 ต่อปี
• เพิ่มการส่งออกสินค้าเกษตรและประมงให้ขยายตัวร้อยละ 5-6
เลมินห์โฮน รัฐมนตรีเกษตรและการพัฒนาชนบท ระบุวิธีการชัดเจนว่า ภาคการเกษตรเวียดนามจะก้าวขึ้นเป็นฟาร์มชั้นนำระดับโลกมีความทันสมัย มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์และทุกฟาร์ม ทุกขั้นตอนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามหลักสากล
คำถามคือจะทำอย่างไร เวียดนามเขากำหนดเป้าหมายลงไปในการ ปฎิรูปการบริหารนโยบายที่ดินให้มีความยืดหยุ่น มีการขยายโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนาที่ดินสำหรับฟาร์ม สร้างระบบชลประทาน ให้กับภาคการประมง และป่าไม้ สร้างศูนย์กลางขายส่งสินค้าเกษตร และตลาด ผ่านการพัฒนาระบบจัดส่งสินค้าที่รวดเร็วเป็นระบบทั้งประเทศ กำหนดเป้าหมายในการสร้างระบบโลจิสติกส์ และศูนย์กระจายสินค้าเชิงพาณิชย์ เพื่อขนส่งสินค้าเกษตรและฟาร์มลำเลียงออกท่าเรือ หรือด่านชายแดน
เท่านั้นยังไม่พอกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท แห่งเวียดนาม ประกาศว่าจะให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมมือกับเกษตรกรของชาติ ในการสร้างระบบการร่วมลงทุน ในระบบฟาร์มยุทธศาสตร์ สร้างแผนตัวอย่างของการร่วมลงทุน ในหลายรูปแบบ
เหนือสิ่งอื่นใดนายเลมินห์โฮน รัฐมนตรีเกษตรและการพัฒนาชนบท บอกว่าหัวใจสำคัญที่จะทำได้ต้อง “เปลี่ยน mindset ของเกษตรกร” ในประเทศทั้งหมดให้หันมาสร้างผลผลิตที่มีราคาดี ผลิตสินค้าที่หลากหลายไม่ติดอยู่กับการปลูกพืชชนิดเดิมตามฤดูกาล ทุกคนต้องร่วมกันสร้างสินค้ามีคุณภาพ มีมูลค่าเพิ่มต่อยอด สนองตอบต่อสร้างความต้องการในตลาดระดับโลก และต้องร่วมพลังกันในการสร้างระบบนิเวศการเกษตรสีเขียว ที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร
ยุทธศาสตร์ทั้งหมดมีเป้าหมายหลักคือ “ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร” ให้เกษตรกรในชนบท มีความสำคัญเท่ากับประชากรที่ทำมาหากินในเขตเมือง โดยกำหนดว่า ภายใน 8 ปีเกษตรกรในชนบทบทจะมีโอกาสมั่งคั่งและยั่งยืนเท่ากับคนเมือง
ผมลองไปตรวจสอบพบว่า ในปี 2564 มูลค่าสินค้าฟาร์มส่งออกของเวียดนาม เท่ากับ 48,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือตกประมาณ 1.6 ล้านล้านบาทเท่านั้น แต่เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึงร้อยละ 15 กลุ่มสินค้าหลักที่ทำรายได้ดีเช่น ผลิตภัณฑ์ไม้ มูลค่า 15,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 510,000 ล้านบาท สินค้าประมง มูลค่า 8,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ราว290,000 ล้านบาท น้อยกว่าไทยมาก
แต่อย่างน้อยเวียดนามกล้าประกาศยุทธสาสตร์ของเกษตรกรที่เป็นเป้าหมายชัดเจน
คราวนี้ไปดูจีน ข้อมูลล่าสุดสำนักข่าวซินหัวรายงานเมื่อปลายเดือนม.ค.2565 ว่า ทางการจีนประกาศมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรโดยรวม และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรมีสัดส่วนทั้งสิ้นร้อยละ 16.47 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ มีมูลค่าราว 16.69 ล้านล้านหยวน หรือเป็นเงินบาทตกราว 87.5 ล้านล้านบาท
ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มของการเกษตร ป่าไม้ เลี้ยงสัตว์ การประมงในสัดส่วนราวร้อยละ 48 อยู่ในกลุ่มของภาคเกษตรที่มีการแปรรูปเพื่อการรับประทานราวร้อยละ 20 ….ใหญ่จริงๆ ครับ
แล้วพี่ไทยละอยู่ตรงไหนของยุทธศาสตร์ ต้องยอมรับว่าโครงสร้างของ GDP ในประเทศไทยนั้น มาจากจีดีพีภาคอุตสาหกรรม ภาคการส่งออกจะมีสัดส่วนมากสุดถึงร้อยละ 40-50% จีดีพีด้านการค้าปลีก ค้าส่งและยานยนต์มีสัดส่วนอยู่ร้อยละ 14 จีดีพีภาคเกษตรนั้นอยู่ในอันดับ 3 มีสัดส่วนอยู่เพียงร้อยละ 11 ของจีดีพีประเทศ
แต่หากพิจารณาจากผลิตภาคเกษตรที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องและภาคบริการที่เกี่ยวข้อง ในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอ ยาสูบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และร้านอาหาร มูลค่าของภาคเกษตร รวมอุตสาหกรรมและการบริการต่อเนื่องคิดเป็นร้อยละ 21-23 มูลค่าจะตกประมาณ 3.5-4 ล้านล้านบาท
อันดับสี่เป็นจีดีพีที่เกิดขึ้นจากการอุปโภคบริโภคในประเทศ และจีดีพีด้านการท่องเที่ยว บริการ
คราวนี้มาดูไส้ใน ในประเทศไทยนั้น ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2564 ขยายตัวได้ร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน
ภาคการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ยังขยายตัวได้ไม่มากนัก สาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 3.3 สาขาปศุสัตว์ หดตัวร้อยละ 2.4 สินค้าปศุสัตว์ที่สำคัญลดลง ได้แก่ไก่เนื้อ สุกร และไข่ไก่ ผลผลิตไก่เนื้อ เนื่องจากความต้องการบริโภคที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลผลิตสุกรลดลง
สาขาประมง หดตัวร้อยละ 3.0 เป็นผลจากผลผลิตประมงทะเลในส่วนของปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือลดลง เนื่องจากสภาพอากาศมีความแปรปรวน รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมง
มีการประเมินว่า เศรษฐกิจการเกษตรในปี 2565 จะขยายตัวได้ร้อยละ 2.0-3.0 แต่ต้องเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงที่จากภัยธรรมชาติ ความแปรปรวนของสภาพอากาศ สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันทางการค้าสินค้าเกษตรไทย
ที่ผ่านมานโยบายและมาตรการของภาครัฐของไทย จึงเน้นการสนับสนุนผ่านการขยายช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ มาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งเสริมอาชีพเกษตร การพักชำระหนี้ และการประกันรายได้ เพื่อทำให้เกษตรกรสามารถทำการผลิตและบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้ออกสู่ตลาดได้
อย่างไรก็ตาม ไม่เคยมีการประกาศภาพยุทธศาตร์ที่เป้าหมายเหมือนเวียดนาม แต่จะยึดตามแผนพัฒนาการเกษตรของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) นั้น ที่ส่วนใหญ่จะเน้นการยกระดับรายได้ของครัวเรือนเกษตรให้สูงขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในภาคเกษตร ส่งเสริมการรวมกลุ่มทางการตลาด สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนการส่งเสริมการจัดทำบัญชีครัวเรือนและสร้างอาชีพเสริมเป็นด้านหลัก
ประเทศไทยจึงได้กำหนดเป้าหมายในการยกระดับรายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตรให้เพิ่มขึ้นเป็น 59,460 บาทต่อครัวเรือนต่อปี
ประเทศไทยจึงทำได้ประมาณนี้ และนี่คือต้นตอของปมปัญหาจนกระจุกรวยกระจาย เพราะคนในภาคการเกษตรมีอยู่ราว 8.5 ล้านครอบครัว ถ้าครัวเรือนมีประชากรเฉลี่ย 4 คนเศษ จะมีประชากรราว 33-35 ล้านคน ยืนอยู่บนเส้นของรายได้ไม่พอยาไส้
เพราะเงินได้ 59,460 บาท/คนต่อปีนั้น จะตกเดือนละ 4,955-5,000 บาทเท่านั้น
ขณะที่นโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกนั้นเคยทำรายได้สูงสุด 1.2 ล้านล้านบาท อยู่ในอันดับ 10-11 ของโลก…เราจักทำอย่างไรกันดีครับ!!!