นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมาถือเป็น “ยุคทอง” ของประเทศไทย เพราะเศรษฐกิจไทยขยายตัวสูง7-10% ต่อปี เติบโตโดดเด่น มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศภาคการผลิต ภาคการส่งออก ภาคการลงทุนใน Eastern seaboard อุตสาหกรรมปิโตรเลียม และ ปิโตรเคมี สินค้าเกษตรแปรรูปขยายตัวอย่างมาก
เงินทุนไหลเข้าโดยตรง FDI เติบโตมากกว่าปีละ 100% มูลค่ามากกว่าปีละ 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในตอนนั้นมากกว่าเวียดนาม 500 เท่า ส่วนการส่งออกอยู่ที่ปีละมากกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญ มากกว่าประเทศเวียดนาม 10 เท่า
ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตมาไทยจำนวนมาก เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน อุตสาหกรรมยานยนต์ จึงกลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของไทย
กระทั่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่เงินบาทอ่อนค่าอย่างรุนแรง การส่งออกในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ปิโตรเคมี และการท่องเที่ยว ถีบตัวขึ้นมากลายมาเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวมาเกินปีละ 10 ล้านคน
มาถึงวันนี้ 40 ปีผ่านไป โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังเหมือนเดิม กล่าวคือ ยังพึ่งพาการส่งออกในภาคอุตสาหกรรมและการเกษตรแบบเดิม อุตสาหกรรมอาหาร ยานยนต์ ปิโตรเลียม และ ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และการท่องเที่ยว
ขณะที่บริบทของโลกกลับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง แต่ไทยไม่เปลี่ยนเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและการลงทุน
ปัจจุบันภาคการส่งออกเวียดนามแซงหน้าไทยไปเรียบร้อยโรงเรียนญวนแล้วช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวสูงกว่าไทย 6 เท่า เฉพาะปี 2563-2564 เวียดนามส่งออกได้มากกว่าไทยถึง 5 หมื่นล้านเหรียญ
ขณะที่การส่งออกของภาคอุตสาหกรรมไทยกว่า 60% ยังอยู่ในอุตสาหกรรมในโลกเดิมการเกษตรแบบเดิม อุตสาหกรรมอาหาร ยานยนต์ ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ
ขณะที่เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ FDI ประเทศเวียดนาม ก็แซงหน้าไทยไปเช่นเดียวกัน โดยแซงนำลิ่วมาตั้งแต่ปี 2557 ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา FDI ของเวียดนามสูงกว่าไทยเกือบ 2 เท่า สะท้อนความน่าสนใจในการลงทุนของไทยที่น้อยลง
โชคดีที่ภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เติบโตขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดจนจำนวนนักท่องเที่ยวทะลุหลัก 40-3 ล้านคน แต่หลังโควิดการจะหวังพึ่งรายได้การท่องเที่ยวต่างชาติที่สูงแบบเดิมคงเป็นไปการยาก
คนไทยจึงจมปลักกับดักรายได้ปานกลาง “Middle Income Trap” มายาวนานร่วม 30 ปี ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
“กับดักรายได้ปานกลาง” ในความหมายผมคือ ประเทศไทยยังไม่สามารถยกระดับเศรษฐกิจไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวเชื่องช้าลดลงจากระดับ 5- 7-10% เหลือเฉลี่ยแค่ 3-4% ต่อปีเท่านั้น ในช่วงพ.ศ.2540-2560
สาเหตุหนึ่งที่ไทยยังไม่หลุดจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” คือ ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศที่ขาดการวางแผนที่ต่อเนื่องและขาดการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศ ขาดพัฒนาทักษะแรงงาน ขาดการสร้างนวัตกรรมการผลิต ขาดการสนับสนุนหรือการสร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์ทางเทคโนโลยี
แม้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะประกาศนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” เป็นโมเดลในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ เพื่อวางโรดแมปในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ผ่าน 3 ยุทธศาสตร์
หนึ่ง เปลี่ยนการผลิตสินค้าเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการและการนำเทคโนโลยีมาใช้
สอง เปลี่ยนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาคอุตสาหกรรมหลักแบบเดิม อุตสาหกรรมอาหาร ยานยนต์ ปิโตรเลียม และ ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และ การท่องเที่ยว ไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม
สาม เปลี่ยนภาคการผลิตแบบดั้งเดิม ไปสู่ภาคบริการให้มากขึ้น
แต่ทว่า ในทางปฏิบัติและการกำหนดแนวทางการส่งเสริมจากภาครัฐกลับ “เงียบเชียบ” ประดุจป่าช้า
ภาพที่เด่นชัดว่าประเทศไทยและชีวิตของคนไทย นับวันอยู่ในภาวะสาละวันเตี้ยลง หากไม่มีการจัดการอย่างเป็นระบบและกำหนดขึ้นมาเป็น “วาระแห่งขาติ” คือข้อมูลล่าสุดที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมใน
ประเทศไตรมาสที่ 4 /2564 พบว่า ขยายตัว 1.9% เมื่อนำมารวมกันทั้งปีพบว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้แค่ 1.6% และได้ตั้งคาดหวังเอาไว้เลิศเลอว่าในปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.5 – 4.5%
แต่หากใครไปดูรายละเอียด "รายได้ต่อหัว" ของคนไทย ที่สภาพัฒน์ได้แถลงออกมา จะตกตะลึงอ้าปากค้างแน่นอน
ปี 2562 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 243,705 บาทต่อคนต่อปี
ปี 2563 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 224,962 บาทต่อคนต่อปี
ปี 2564 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 232,176 บาทต่อคนต่อปี
ประมาณการณ์ว่าใน ปี 2565 รายได้ต่อหัวคนไทยจะขึ้นมาอยู่ที่ 244,838 บาทต่อคนต่อปี....อ้าปากค้างกันมั้ยครับ
ถ้ายังไม่เห็นภาพ ผมแจกแจงให้เห็นอีกที ปี 2562 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 243,705 บาทต่อคนต่อปี พอปี 2563 รายได้ต่อคนต่อปีลดลง 18,743 บาท ถึงปี 2564 รายได้ต่อหัวต่อคนต่อปี ก็ยังไม่เท่าปี 2562 คือยังหายไป 11,529 บาท ท่ามกลางต้นทุนชีวิตและค่าครองชีพที่สูงขึ้น
ถ้าเทียบข้อมูลรายปีจะพบว่า ในปี 2564 รายได้ต่อหัวของคนไทยที่ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 232,176 บาทต่อคนต่อปีนั้น เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 224,962 บาทต่อคนต่อปี แค่ 7,214 บาทต่อคนต่อปีเท่านั้น...ไม่พอยาไส้
ช่วงปี 2564 เหล่ามนุษย์เงินเดือนจากวิกฤติโควิดที่เริ่มส่งผลกระทบอย่างเต็มที่ต่อรายได้ รายได้จากทั้งเงินเดือน โอที และ โบนัส ของมนุษย์เงินเดือน ลดลง -8.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หมวดเงินเดือนที่ไม่เคยปรับลดลงติดต่อกันมาเป็นเวลา 12 ไตรมาส กลับมาลดลงติดลบ -2.9% และเป็นการลดลงในทุกอุตสาหกรรมอีกด้วย
ขณะที่ปี 2565 มีการตั้งเป้าหมายว่า รายได้ต่อหัวของคนไทยจะขึ้นมาอยู่ที่ 244,838 บาทต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี2564 ราว 12,662 บาทต่อคนต่อปี ถ้าทำได้แสดงว่ารายได้ของผู้คนในประเทศนี้กลับมาเท่าเดิมเมื่อ 4 ปีก่อนหน้าเท่านั้น
ข้อมูลเหล่านี้ ถ้าไม่นำมาไล่เรียงต่อจิ๊กซอว์กัน จะมองไม่เห็นอนาคตคนไทย แต่พอมาต่อกันยิ่งทำให้มืดทมนเข้าไปอีก
ธนาคารโลกเคยบอกว่า ถ้ารัฐบาลจะกำหนดเป้าหมายในการนำพาประเทศให้พลิกฟื้นขึ้นมา และนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ทุกภาคส่วนปรับเปลี่ยนกลไกทางเศรษฐกิจใหม่นั้น จะต้องปรับเปลี่ยน 2 อย่างก่อน
หนึ่ง รัฐบาลต้องกล้าประกาศเป็นธงหลักในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยี ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน มาปรับใช้กับภาคธุรกิจ โดยมีเงื่อนไขทางนโยบายที่สนับสนุนเป็นพิเศษ (Digital & Disruptive Technology)
สอง รัฐบาลต้องกล้านำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในการจัดการภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคธุรกิจหลักของประเทศ
ทำแค่ 2 ด้านนี้ ธนาคารโลกประเมินว่า รายได้ประเทศไทยจะโตได้อีกไกล
กล่าวคือ แค่สนับสนุนให้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วย จะส่งเสริมเงินทุนไหลเข้าไทยได้อีกอย่างน้อย 1,800-2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยประหยัดต้นทุนและสร้างรายได้ให้ภาคเอกชนสูงถึง 1,600-2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทำแค่ 2 ด้านไม่พอ รัฐบาลจะต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อเปลี่ยนใหม่เพื่อนำประเทศพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เป็นรายได้สูง ผ่านยุทธวิธีดังนี้...
1.แก้ปัญหาการบิดเบือนการแข่งขันในตลาด
2.ลดข้อจำกัดหลักเกณฑ์การลงทุนให้กับต่างชาติ
3.เพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนานวัตกรรม
4.เตรียมความพร้อมทักษะแรงงานเพื่ออนาคต และกาทางพัฒนาทักษะแรงงานที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
5.เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนอาชีวะศึกษา มิใช่เน้นปริญญาบัตรจนเกลื่อนตลาดแต่ทำงานไม่เป็น
6.เพิ่มช่องทางพัฒนาอาชีพด้านเทคโนโลยี
7.สร้างกฎระเบียบในการก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และเพิ่มความสามารถแข่งขันในตลาดดิจิทัล
สุดท้ายคือ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเศรษฐกิจหมุนเวียน ออกกฎกติกาในการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน
ปัญหามาแล้ว แต่ปัญญามีในการทำนะมีมั้ยครับ....