เหรียญและพัดรัตนาภรณ์ในรัชกาลที่ ๙

19 มี.ค. 2565 | 01:35 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มี.ค. 2565 | 08:39 น.

คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

ต่อจากฉบับก่อนๆที่ว่าด้วยเรื่องพัดยศ ของพระภิกษุสงฆ์ซึ่งทรงสมณศักดิ์สมณคุณก็ให้นึกถึงว่าแม้องค์พระปฏิมาสำคัญในแผ่นดินนั้นท่านก็ได้รับพระราชทานถวายพัดเหมือนกัน แต่ครานั้นเปนพัดพิเศษอย่างหนึ่ง เปนพัดยศก็มิใช่เปนพัดรองก็มิเชิง เรียกกันว่าพัดรัตนาภรณ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร์ฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานอุทิศถวายไว้แต่พระพุทธชินราชปฏิมา เมืองพิษณุโลกเปนพุทธบูชา จึงเปนที่มาว่าจะกล่าวบทไปถึงคำว่า รัตนาภรณ์ซึ่งเปนชื่อพัดนี้เสียก่อน 
 

ตามธรรมเนียมแล้วพระบรมกษัตราธิราชเจ้าซึ่งเสด็จผ่านพิภพในแผ่นดินต่างๆมีพระปรมาภิไธยที่ค่อนข้างยาว เจ้าแผ่นดินเครือจักรภพทรงพระนามแต่เดิมว่า อลิซาเบธ อเล็กซานดร้า แมรี่เมาท์แบตเต่น_วินด์เซอร์ มีอิสริยยศและฐานันดรศักดิ์อื่นตามมาอีกมากมายก็จำเปนจะต้องมีคำย่อ พระปรมาภิไธย เปนอักษร เรียกอักษรย่อนี้ว่า Cypher 

พระบรมราชินีนาถ อลิซาเบธ ที่ 2 ทรงมี Cypher ว่า E II R อยู่ภายใต้พระมหามงกุฎนักบุญเอ็ดเวิร์ด ส่วนพระบรมชนกนาถพระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงมี Cypher ว่า G v R อยู่ภายใต้พระมหามงกุฎเช่นกัน โดยตัว R นี้ย่อมาจากคำโรมันว่า REX แปลว่าบรมราชาธิราช  ในเมืองไทยเรา พระปรมาภิไธยย่อ ชนิดว่าประดิษฐเปนอักษรตัวเกาะเกี่ยวกันนี้มีมานานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และมีต่อเนื่องมาทุกรัชกาลนับแต่นั้น เรียงมาแต่ พระปรมาภิไธยย่อ จปร , วปร , ปปร, อปร, ภปร (มิได้ใส่จุดในบทความนี้ด้วยเจตนาเขียนแสดงความเชื่อมโยงเกาะเกี่ยวกันของตัวอักษร) โดย -ปร-ที่ปรากฏนี้ก็คือคำทำนองเดียวกับคำว่า REX หรือ ตัว R ฝรั่งนั่นเอง, ปรมราชาธิราชา ซึ่งมีนัยสำคัญขยายออกไปกว้างกว่าอีก ท่านผู้สนใจสามารถศึกษาต่อได้เอง
 

ทั้งนี้เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อักษรย่อพระปรมาภิไธยนำสร้างขึ้นเปนเหรียญตราประดับแพรแถบกลัดหน้าอกแล้ว เรียกเปนภาษาทางการว่า เหรียญรัตนาภรณ์ (ประจำ) รัชกาล ส่วนภาษาอังกฤษโรมัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้คำว่า ‘Royal Cypher Medal’

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร์ฯนั้น ยังมีศิลปินครูช่างผู้หนึ่งสืบวิชาสำคัญมาจากทั้งครูไทยครูเทศ ท่านผู้นี้สามารถออกแบบก่อสร้างสถาปัตยกรรมไทยโดยใช้คอนกรีต ได้อย่างวิจิตรน่าพิศวง เปนผู้ออกแบบอาคารและวางผัง วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซุ้มประตูสวัสดิโสภา ประตูดุสิตศาสดาณ พระบรมมหาราชวัง ซึ่งผู้นิยมงานศิลปะน่าจะย่อมปรารถนาที่จะใช้คำว่า มีกลิ่นอาย modernism แทรกซึมอยู่ในงานสถาปัตยกรรมและงานศิลปะออกแบบของท่านอยู่มาก ด้วยท่านได้“ปรุง” รูปทรง สัดส่วน ลักษณะ และจังหวะของชิ้นงานให้เหมาะสมกับคุณสมบัติของวัสดุเฉพาะสมัยใหม่อยู่เสมอ ซึ่งมิใช่งานง่ายเลยที่จะดึงเอาลวดลวยสวยงามที่เคยมีอยู่แต่ในการจำหลักไม้มาใส่ในปูนเมื่อเวลานั้น
 

ท่านผู้นี้คือ ศาสตราจารย์พระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) ราชบัณฑิตผู้ซึ่งเปนผู้ออกแบบดีไซน์เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๙ ที่กำลังกล่าวถึง ลักษณะของเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๙ นี้มีความวิจิตรงดงามในทางศิลปะมาก มีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. อยู่ในขอบวงกลมซึ่งมีรัศมี ๒๘แฉก และมี ‘หูทำด้วยทองคำ’ สำหรับร้อยแพรแถบข้างบน หูนี้มีคานตรงกระดับกระหนกคู่ก่อนจะตีวงโค้งลงมารอรับตัวเหรียญอีกทีหนึ่ง
 

ตามพระราชบัญญัติ เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๙๕ กำหนดให้แพรแถบกว้าง ๒๓ มิลลิเมตร พื้นสีเหลือง มีริ้วขาว ๒ ข้าง สอดร้อยหูเหมือนกันทั้ง ๕ ชั้น สำหรับพระราชทานสตรี ผูกเป็นรูปแมลงปอ สำหรับพระราชทานบุรุษ ไม่ผูก ใช้กลัดอกเสื้อเบื้องซ้าย
 

อนึ่งเมื่อสืบค้นราชกิจจานุเบกษา เล่มที่๑ วันอาทิตย์ เดือน๘ แรม ๑๒ค่ำปีจอ พ.ศ. ๒๕๑๗ หน้า๑๒๐ ก็ได้พบข้อความว่า“เหรียนสำรับผู้มีวิชาช่างต่างๆแลความชอบในพระองค์ อนึ่งทรงพระราชดำริห์ ให้สร้างดวงตราสำหรับพระราชทานผู้มีความชอบในพระองค์ แลทำการช่างต่างๆ ฝีมือดี อีก ๒ อย่าง ที่ ๑ ชื่อรัตนาภรณ์...”
 

อาจกล่าวได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์นี้เป็นบำเหน็จความชอบในองค์พระมหากษัตริย์ ต่างจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลอื่นเช่น เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเปนที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกหรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยซึ่งพระราชทานเปนบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน
 

ประกาศนียบัตรที่พระราชทานกำกับไว้ให้โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการนั้นก็แตกต่างจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลอื่นทั้งในส่วนเนื้อหาข้อความในประกาศนียบัตรและตราสำคัญพระราชลัญจกร กล่าวคือประกาศนียบัตรเหรียญรัตนาภรณ์ ระบุว่า “...ทรงพระราชดำริถึงความจงรักภักดี ต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท...เพื่อให้ปรากฏเป็นเครื่องหมายพระมหากรุณาเฉพาะพระองค์...ให้ได้รับและประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันนี้เป็นเครื่องเชิดชูปรากฏความที่ทรงพระมหากรุณาสืบไป...”


 

ประกาศนียบัตรนี้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยด้วยพระราชลัญจกรประจำพระองค์ทรงรีรูปพระมหาอุณาโลมประกอบวงจักรมีรัศมีเปล่งออกโดยรอบ เหนือจักรเป็นรูปเศวตฉัตรเจ็ดชั้น ฉัตรตั้งอยู่บนพระที่นั่งอัฐทิศ แทนที่จะเป็นพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประจำแผ่นดินทรงกลมอย่างประกาศนียบัตรเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลอื่นซึ่งประทับกำกับพระปรมาภิไธยเหนือข้อความระบุ “...สมควรจะรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์...ได้เป็นเกียรติยศสืบไป...”
 

เหรียญรัตนาภรณ์ในแต่ละรัชกาลมีความคล้ายกันอย่างหนึ่งคือ มีลำดับเป็น ๕ ชั้น ชั้นที่๑ เป็นชั้นสูงสุด สำหรับเหรียญรัตนาภรณ์ในรัชกาลที่ ๙ นั้น ชั้นที่ ๑ อักษรพระปรมาภิไธยและขอบเรือนประดับเพชรทั้งดวง ชั้นที่ ๒ อักษรพระปรมาภิไธยทองคำ ลงยาสีขาว ขอบเรือนประดับเพชร ชั้นที่ ๓ อักษรพระปรมาภิไธยทองคำ ลงยาสีขาว ขอบสร่งทองคำ ชั้นที่ ๔ อักษรพระปรมาภิไธยทองคำ ขอบสร่งเงิน ชั้นที่ ๕ อักษรพระปรมาภิไธยเงิน ขอบสร่งเงิน (สร่ง, ตัดสร่ง คือการแกะแรให้ผิวเป็นเหลี่ยมขึ้นเงาดูเหมือนฝังเพชร)
 

จากราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๙ วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ เป็นต้นมานั้น พบว่านอกจากได้พระราชทานแก่ พระบรมวงศานุวงศ์ เจ้าจอมมารดาเจ้านายฝ่ายเหนือ บุคคลสำคัญ ขุนนางข้าราชการ ข้าราชบริพาร แพทย์ ครู ทหาร ตำรวจนายช่างศิลป์ นายช่างชลประทาน นายช่างทางหลวง สถาปนิกชนชาวเขาศิลปิน คหบดี พราหมณ์ แล้วยังได้พระราชทานให้แก่ชาวต่างประเทศเช่น เจ้าชายแห่งเดนมาร์ค เจ้าหญิงฉวีวรรณ แห่งประเทศลาว เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจชั้นสัญญาบัตรอินโดนีเซียเจ้าหน้าที่ทหารชั้นสัญญาบัตรพม่านายทหารออสเตรเลีย เอกอัครราชทูตอเมริกันเคนเนธ ยัง ช่างออกแบบฉลองพระองค์ชาวฝรั่งเศส หัวหน้าพ่อครัวชาวอิตาเลี่ยนเป็นอาทิ
 

และนอกจากบุคคลแล้ว ยังพระราชทานให้แก่ หน่วยทหารรักษาพระองค์ต่างๆจำนวน ๑๐ หน่วยซึ่งได้นำไปประดับธงไชยเฉลิมพลประจำกองพัน จนในปี ๒๕๒๔ ได้พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ชั้นที่ ๑ แก่หน่วยทหารที่นำความสงบสุขสู่แผ่นดินเพิ่มเติมอีกข้อที่น่าสังเกตคือ บุคคลผู้ได้รับพระราชทานหากวายชนม์แล้วไม่ต้องส่งคืนดวงตรา ให้ทายาทเก็บรักษาไว้เปนที่ระลีกในวงศ์ตระกูลพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้แต่ดวงเหรียญร้อยสร้อยสวมคอได้ดังปรากฏใน มาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้นเอง


 

ท่านที่พบเห็นเหรียญรัตนาภรณ์นี้สมควรได้พิจารณาศึกษาโดยละเอียดงานศิลป์ ด้วยว่าตั้งแต่ชั้นที่ ๔ ขึ้นไปนั้นสร้างขึ้นด้วยโลหะมีค่าได้แก่ทองคำเป็นหลัก ไม่ได้เป็นกะไหล่ทองอย่างเช่นดวงตราตระกูลอื่นและแม้กระทั่งจะเป็นขอบเรือนเงินก็เป็นด้วยเรือนเงินนั้นประดับเพชร นอกจากนี้ทุกชั้นตรายังมี“หู” เป็นทองคำอีกด้วย เป็นของที่มีมูลค่าไม่ธรรมดาเลย
 

หากสังเกตว่าเหรียญรัตนาภรณ์นี้เคยได้พระราชทานแก่พระราชครูพราหมณ์ซึ่งรักษาเทวสถานโบสถ์พราหมณ์แล้วไซร้ แล้วพระภิกษุสงฆ์ในบวรพุทธศาสนานั้นเล่าจะเป็นประการใด
 

ตามที่ได้เรียนแล้วว่าเหรียญนี้สร้างขึ้นด้วยโลหะและอัญมณีมีค่า เมื่อคิดเอาด้วยสติปัญญาอันน้อยว่า คงไม่เหมาะสมด้วยสมณเพศ ในศีลสิกขาข้อชาตะรูปะ ระชะตะ ปฏิคคหณาฯด้วยเหตุสงสัยนี้ จึงได้สืบค้นข้อมูลต่อไปได้รับความอนุเคราะห์จากท่าน ฐิตสังวโรภิกขุ เลขานุการเจ้าคณะภาค ๘ (ธรรมยุต) จึงได้ทราบว่า
 

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้าง “พัดรัตนาภรณ์” ขึ้นสำหรัพระราชทานแก่พระสงฆ์ที่ทรงเคารพคุ้นเคยโดยเฉพาะ ลักษณะเป็น พัดหน้านาง พื้นเป็นผ้าต่วนสีน้ำเงิน ตรงกลางปักรูปดวงตรารัตนาภรณ์ที่ศาสตราจารย์พระพรหมพิจิตรออกแบบ (พระปรมาภิไธยในขอบวงกลมซึ่งมีรัศมี ๒๘ แฉก ด้านบนมีสัญลักษณ์เลข ๙ เกี่ยวหูโค้งเสี้ยว) รอบนอกเป็นแถบเหลืองปักริ้วขาวขนาน ๒ ริ้ว ด้านบนปักดิ้นเงินลายเกียรติมุข ประดับเครื่องหมายมหาจักรีบรมราชวงศ์นมพัดเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎในกลีบบัว
 

พัดนี้ท่านเลขานุการเจ้าคณะภาค ๘ กรุณาอธิบายว่า เป็นพัดที่ใช้ได้เฉพาะตัวผู้ได้รับพระราชทานเท่านั้น ผู้อื่นจะนำไปใช้ไม่ได้  ส่วนการนำไปใช้จะใช้ในงานราษฎร์ไม่ได้ และแม้จะเป็นงานหลวง ก็มีระเบียบกำหนดให้ใช้พัดนี้เฉพาะเวลาถวายอนุโมทนาในการพระราชพิธีฉัตรมงคลเพียงงานเดียวเท่านั้น ในรัชกาลนั้นพระมหาเถระผู้ได้รับพระราชทานพัดรัตนาภรณ์ มี๕ รูปได้แก่
 

1. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
 

2. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (ญาโณทยมหาเถร)
 

3. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (อุฏฺฐายีมหาเถร)
 

4. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (วาสนมหาเถร)
 

5. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินาย (สุวฑฺฒนมหาเถร) ซึ่งต่อมาในรัชกาลปัจจุบันโปรดเกล้าฯสถาปนาพระอัฐิเปนพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงฯ
 

นอกจากพระมหาเถระซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานพัดรัตนาภรณ์แล้ว ยังมีพระพุทธปฏิมาสำคัญอีกองค์หนึ่งที่ได้มีพระราชศรัทธาถวายพัดรัตนาภรณ์เป็นพุทธบูชา กล่าวคือ เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๑ ณ วิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลกในพระราชพิธีสมโภชพระพุทธชินราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้ถวายพัดรัตนาภรณ์บูชาพระพุทธชินราช ซึ่งมีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าพัดนี้ปักเลขปีพุทธศักราช ๒๕๐๑ไว้ที่กลางพัดแตกต่างจากพัดรัตนาภรณ์อื่นที่พระราชทานสมเด็จพระสังฆราชเจ้าและสมเด็จพระสังฆราชดังได้กล่าวแล้วข้างต้น


นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18 ฉบับที่ 3,767 วันที่ 20 - 23 มีนาคม พ.ศ. 2565