ลุ้น ลดเตือนภัยโควิดอีก

13 พ.ค. 2565 | 23:30 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...ว.เชิงดอย

*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3782 โดย “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย...


*** ถือเป็นข่าวดีมาก ที่ “กระทรวงสาธารณสุข” ได้ประกาศลดระดับเตือนภัยการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ภายในประเทศไทย ลงสู่ระดับ 3 จาก 4 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ คลายล็อกให้ทำกิจกรรมได้เกือบหมด ยกเว้นกลุ่ม 608 ที่ยังรับวัคซีนไม่ครบ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) พูดถึงเรื่องดังกล่าว ภายหลังที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณ์โรคโควิด-19 ที่มี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เห็นชอบให้มีการประกาศลดระดับเตือนภัยโควิด-19 จากระดับ 4 เหลือระดับ 3 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ภาพรวมในประเทศมีแนวโน้มลดลงชัดเจน จึงสามารถลดระดับการเตือนภัยลงได้ รวมถึงทั่วโลกก็มีการลดระดับลงแล้วเช่นกัน 

*** สำหรับคำแนะนำประชาชนในการเตือนภัยที่ระดับ 3 คือ 1.งดการไปในสถานที่เสี่ยง ทุกคนงดเข้าสถานบันเทิง เลี่ยงเข้าสถานที่ระบบปิด มีการระบายอากาศไม่ดี และสถานที่แออัด 2.การร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก กลุ่มเสี่ยง 608 หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ซึ่งนับที่วัคซีน 3 เข็ม ให้เลี่ยงการรวมกลุ่มกับคนจำนวนมาก 3.การเดินทางข้ามพื้นที่/ข้ามจังหวัด กลุ่มเสี่ยง 608 หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์เลี่ยงใช้บริการขนส่งสาธารณะทุกประเภท และ 4.เดินทางเข้า-ออกประเทศ กลุ่มเสี่ยง 608 หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ งดเดินทางไปต่างประเทศ คนทั่วไปเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศ


*** อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) บอกว่า สถานการณ์โควิด-19 สำหรับประเทศไทย หลัง “สงกรานต์” แนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยกำลังรักษาไม่เพิ่มขึ้น โดยผู้ป่วยหนักเริ่มมีแนวโน้มลดลงในหลายจังหวัด ขณะที่ผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ยังพบในกลุ่มผู้สูงวัยอายุ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือได้รับ 2 เข็มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นภายใน 3 เดือน ยังจำเป็นเน้นฉีดวัคซีนในกลุ่ม 608 ต่อเนื่อง และกลุ่มเด็กวัยเรียนในช่วงเปิดภาคเรียนนี้ด้วย ทั้งนี้จากระยะการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระยะ Post-pandemic หรือ การเป็น “โรคประจำถิ่น” ขณะนี้ภาพรวมประเทศอยู่ใน ระยะที่ 2 คงตัว (Plateau) โดยมี 23 จังหวัดอยู่ในระยะนี้ และอีก 54 จังหวัดอยู่ในระยะที่ 3 ดีขึ้น มีสถานการณ์ที่ลดลง มีแนวโน้มเข้าสู่หลังการระบาดใหญ่ หรือ การเป็นโรคประจำถิ่นเข้าไปทุกขณะ โดยหนึ่งในเกณฑ์สำคัญที่จะพิจารณาการเป็นโรคประจำถิ่น คือ อัตราการฉีดวัคซีน ซึ่งมีหลายจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องการให้เป็นจังหวัดนำร่อง 

*** ทั้งนี้ 23 จังหวัดที่สถานการณ์โควิดอยู่ในระยะคงตัว ประกอบด้วย พะเยา ลำปาง พิษณุโลก พิจิตร อุทัยธานี ชัยนาท กำแพงเพชร มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น อุดรธานี หนองลัวลำภู สกลนคร นครพนม บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ ยโสธร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และมุกดาหาร ที่เหลืออีก 54 จังหวัดอยู่ระยะลดลง


*** สำหรับระบบเตือนภัยโรคโควิด มีทั้งหมด 5 ระดับ คือ ระดับ 1 ใช้ชีวิตได้ปกติ แบบ COVID-19 Free Setting, ระดับ 2 เร่งเฝ้าระวัง คัดกรอง เลี่ยงกิจกรรมรวมกลุ่ม 1,000 คนขึ้นไป, ระดับ 3 จำกัดการรวมกลุ่ม ทำงานจากที่บ้าน 20-50% คัดกรองก่อนเดินทาง เลี่ยงกิจกรรมรวมกลุ่ม 200 คนขึ้นไป, ระดับ 4 ปิดสถานที่เสี่ยง ทำงานจากที่บ้าน 50- 80% ชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่ ใช้ระบบกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศ และ ระดับ 5 จำกัดการเดินทางและกิจกรรมต่างๆ รวมถึงเคอร์ฟิว 


*** ปัจจุบันเมื่อ สธ.ปรับระดับการเตือนภัยโควิดไปอยู่ที่ระดับ 3 การปฏิบัติตัวคือ สามารถไปสถานที่เสี่ยง อย่างร้านอาหารได้ แต่ถ้าจำเป็นควรเป็นร้านอาหารเปิด ไม่แออัด แต่สถานที่ที่รวมตัวกันหมู่มากต้องไม่เกิน 200 คน และทุกอย่างต้อง COVID-19 Free Setting เดินทางข้ามจังหวัดทำได้ Work From Home (WFH) 20-50 % ขอให้มีการตรวจ ATK ส่วนการเดินทางไปต่างประเทศ ขอให้ชะลอไปก่อน 


*** เมื่อคลายความเข้มข้นในการควบคุมโรคโควิดจากระดับ 4 ลงมาสู่ระดับ 3 ก็ได้แต่หวังว่า ขอให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคร้ายตัวนี้ในประเทศไทย “คลี่คลายลง” ให้มากที่สุดและโดยเร็ว เพื่อที่จะได้ค่อยๆ ลดระดับการเตือนภัย จากระดับ 3 ลงไปสู่ระดับ 2 คือ เฝ้าระวัง คัดกรอง เลี่ยงกิจกรรมรวมกลุ่ม 1,000 คนขึ้นไป และ กลับสู่ระดับที่ 1 คือ การใช้ชีวิตได้ตามปกติ …ขอให้คนไทยได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็วที่สุดด้วยเถิด...


*** ไปที่ข่าวประชาสัมพันธ์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ.2565 ตั้งแต่ 1 พ.ค. จนถึง 31 ส.ค.2565 เพื่อให้ประเทศมีสถิติที่สำคัญสำหรับใช้ในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น ตลอดจนยกระดับศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้ในระยะยาว จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกคนให้ความร่วมมือแก่สำนักงานสถิติฯ ในการเก็บข้อมูลที่จะประกอบด้วย ข้อมูลรายละเอียดของสถานประกอบการธุรกิจ ทางการค้า การบริการ ผลประกอบการของธุรกิจและอุตสาหกรรมจำนวนแรงงานและค่าตอบแทนแรงงาน ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นต้น ติดตามข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานสถิติฯ ได้ที่ www.nso.go.th


*** ปิดท้ายกันที่ ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร รองผอ.หลักสูตร วิทยาการเกษตรระดับสูง ( วกส ) แจ้งว่า ได้เปิดรับสมัครผู้เข้าอบรมวิทยาการเกษตรระดับสูง รุ่นที่ 2 ตั้งแต่วันนี้ - 15 พ.ค. 2565 นี้ โดยพิธีเปิดหลักสูตร วกส รุ่นที่ 2 จะมีขึ้นในวันที่ 1 ก.ค. 2565 ระยะเวลาการฝึกอบรมทุกวันศุกร์  ณ กรมชลประทาน (สามเสน)  และหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดรับผู้สมัครจากภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้แทนภาคการเกษตร จำนวน 96 ท่าน อบรมตั้งแต่วันศุกร์ที่ 1 ก.ค. ไปจนถึง 1 พ.ย. 2565 ค่าธรรมเนียมการฝึกอบรม 200,000 บาท ตลอดโครงการ รวมศึกษาดูงานในและต่างประเทศ (ภายใต้เงื่อนไขและประกาศสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด) สามารถสมัครเข้าร่วม วกส.2 ได้ที่ https://bit.ly/ACE-MOAC-Application-Batch2 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ผู้ประสานงานหลักสูตรวิทยาการเกษตรระดับสูง (วกส.) มือถือ : 063-059-9329, 082-606-4581 Email : [email protected]