ซึ่งคำว่าอัตราเงินเฟ้อนั้นถ้าดูในหน้าข่าวทั่วไปเราจะเห็นอัตราเงินเฟ้อมี 2 อัตรา คือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ทั่วไปถ้าจะดูว่าอัตราเงินเฟ้อซึ่งเกี่ยวข้องกับค่าครองชีพของเรานั้นก็ให้ดูที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปซึ่งก็คือระดับราคาสินค้าทั่วไปที่ชาวบ้านอย่างเราเผชิญอยู่ในการซื้อสินค้า
ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน คนที่ใช้มีอยู่เจ้าเดียวในประเทศไทย คือธนาคารแห่งประเทศไทย ก็คือเอาค่าเงินเฟ้อทั่วไปนั่นแหละมาหักระดับราคาสินค้าบางรายการออกไป โดยเฉพาะหมวดอาหารและพลังงาน เพราะราคาสินค้าเหล่านี้มีมาตรการของรัฐเข้าไปเบี่ยงเบนราคาสินค้า จึงไม่สามารถแสดงระดับอุปสงค์และอุปทานที่แท้จริงได้
โดยทั่วไประดับอัตราเงินเฟ้อที่ผิดปกติในประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะราคาพลังงานหรือค่าแรง ในแนวทางการแก้ไขเชิงมหภาคแล้ว หน่วยงานที่ดูแลก็คือธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าของนโยบายการเงิน และเครื่องมือที่สำคัญที่สุดก็คือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือการพยายามลดเครดิตต่างๆ
เอาง่ายๆ ก็คือการดึงปริมาณเงินออกจากตลาดหรือลดสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจนั่นเอง ซึ่งแนวคิดนี้เป็นสิ่งที่พวกเราใช้กันมานานแล้วในยามเงินเฟ้อ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้สร้างความขัดแย้งกับทางกระทรวงการคลัง ซึ่งก็คือตัวแทนฝ่ายรัฐบาลนั่นเอง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ขึ้น แม้ว่าจะช่วยในเรื่องของการชะลอการจับจ่ายใช้สอย ชะลอการลงทุนเพื่อลดความร้อนแรงของการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ
แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อการบริโภคของประชาชน หนี้สินครัวเรือน และส่งผลไปยังระดับของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่วัดโดย GDP ของประเทศ ซึ่งวันนี้ก็ได้กลายเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จทางการเมืองในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย
จึงไม่แปลกใจที่เห็นผู้ว่าแบงก์ชาติและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีปัญหากันทุกครั้งในทุกยุคที่แบงก์ชาติจะขึ้นดอกเบี้ยในยามเงินเฟ้อ ซึ่งใครถูกใครผิดที่ผ่านมาก็ขึ้นอยู่กับว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อนั้นยุ่งยากซับซ้อนและยืดยาวเพียงใด
แต่เงินเฟ้อครั้งนี้ ไม่เหมือนที่ผ่านมา ปัจจัยที่เกี่ยวข้องไม่ได้มาจากด้านเศรษฐกิจเท่านั้น และเกินกำลังการควบคุมของประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งเดิมการเข้าไปแทรกแซงและแก้ไขปัญหาอัตราเงินเฟ้อโดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยซึ่งเป็นแนวคิดของพวกการเงินนิยม ตั้งแต่ Milton Friedman มาแล้ว แต่วันนี้ อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นนั้นแม้มาจากสาเหตุทางด้านอุปทานเหมือนที่ผ่านมา
แต่ปัจจัยมีความซับซ้อนและยุ่งยากมากกว่าเดิมมาก ไม่ว่าเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศที่ส่งผลให้ปัจจัยการผลิตสูงขึ้นทุกตัว และโครงสร้างเศรษฐกิจไทยวันนี้ยังพึ่งพิงปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศตั้งแต่อุตสาหกรรมยันเกษตรกรรม เพราะระบบการผลิตในปัจจุบันที่แบ่งงานกันทำทั่วโลกนั้นทำให้ตลอดห่วงโซ่อุปทานนอกจากชะงักแล้วยังมีราคาแพงทั้งจากตัวสินค้าเองและการขนส่ง
แม้ว่าปัญหาของ COVID (โควิด-19) กำลังค่อย ๆ คลี่คลาย แต่ก็ทิ้งรอยแผลไว้มากและกำลังถูกซ้ำเติมด้วยสงครามที่เราไม่คิดว่าจะจบในเร็ววัน จะเห็นว่าวันนี้การเมืองระหว่างประเทศมีการแบ่งขั้วชัดเจนและโยงกับเศรษฐกิจแบบเนื้อเดียวกัน จนกังวลว่าจะนำไปสู่การล่มสลายของยุคโลกาภิวัตน์ก็ได้
สำหรับปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศยังเป็นปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาอย่างหนัก เช่น หนี้ครัวเรือนวันนี้แตะ 90% ของ GDP และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวกว่า 5% ซึ่งนับว่าเป็นอัตราเร่ง โดยเฉพาะ 3 ปีหลังที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะชะงักงันจากการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศและรวมไปถึงในช่วง 2 ปีของ COVID ที่ครัวเรือนเจอปัญหารายได้ชะงักหรือ Income Shock ซึ่งส่งผลกระทบต่อระดับการบริโภค
และยิ่งถูกซ้ำเติมด้วยระดับราคาที่สูงขึ้น ผลเหล่านี้กระทบต่อไปยังผู้ขาย ผู้ผลิต และยาวไปถึงต้นน้ำ คือภาคเกษตรกรที่กำลังประสบปัญหาอย่างอื่นซ้ำเติมจากต้นทุนการผลิต เช่น ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงราคาแพง ส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิตที่ลดต่ำลงเรื่อยๆ
นอกจากนี้ หนี้ครัวเรือนที่บริษัทเครดิตแห่งชาติเปิดเผยนั้นกว่า 12 ล้านล้านบาทมีอัตราหนี้เสียเกือบ 8% และเกือบ 5% ก็ร่อแร่เต็มที่ แถมไม่พอการกู้หนี้ของครัวเรือนไทยก็หนักไปทางการบริโภคเป็นส่วนมากอีกด้วย ซึ่งไม่ได้นำไปสร้างรายได้ให้กับตัวเอง ทำให้ไม่มีความสามารถในการใช้หนี้ยามวิกฤติจึงมีปัญหาซับซ้อนไปอีก
ซึ่งจะโทษครัวเรือนฝ่ายเดียวก็ไม่ค่อยถูกนัก เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลก็พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภค โดยส่งเสริมให้คนนำเงินในอนาคตมาใช้ผ่านมาตรการต่าง ๆ ตั้งแต่เที่ยวด้วยกัน เที่ยวก่อนผ่อนที่หลัง และสารพัดดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์ ฯลฯ
แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะรู้ดีว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็คงไม่สามารถยั้งระดับอัตราเงินเฟ้อได้ แต่ภาพที่อัตราดอกเบี้ยของประเทศต่างๆ ในโลกได้ขยับสูงขึ้นไปแล้ว หากไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก็ยิ่งจะสร้างปัญหาต่อเนื่องไปยังปัจจัยเศรษฐกิจอื่น ๆ อาทิ อัตราแลกเปลี่ยน เพราะตอนนี้ก็อ่อนค่าไปมากที่สุดในรอบ 5 ปีแล้ว หากไม่ทำก็คงได้เห็นเงินไหลออก ตลาดหุ้นทรุดต่อไปไม่หยุด ดังนั้นเราคงเห็นอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้
แต่ปัญหาที่ท้าทายหน่วยงานเศรษฐกิจของรัฐก็คือ ถ้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว รัฐจะมีมาตรการอะไรออกมาเพื่อลดผลกระทบของต่อผู้ประกอบการและครัวเรือน เพราะทุกวันนี้ก็แทบจะไม่มีปัจจัยไปดันด้านอุปสงค์รวมให้ขยับขึ้นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภค อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นยิ่งทำให้อุปสงค์รวมทรุดลงไปอีก
แถมด้านอุปทานก็คงไม่ขยับใด ๆ เพราะปัจจัยด้านนี้ยากที่จะควบคุม ไม่ว่าราคาน้ำมัน ราคาปุ๋ย ค่าขนส่งระหว่างประเทศ ฯลฯ ซึ่งทำให้ตามมาด้วยการลดลงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หากไม่ออกแบบมาตรการดี ๆ
อีกประการหนึ่ง ความยุ่งยากซับซ้อนของปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้ ถูกสร้าง และสะสมมามากกว่า 20 ปี ตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งสำคัญในช่วงปี 2540 ซึ่งจากนั้นมา เราเป็นคนบ้ามาตรการทางการคลังของเคนส์มาตลอด การใช้จ่ายภาครัฐถูกใช้เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการลากจูงเศรษฐกิจไม่พอ ยังเป็นการโอนทรัพยากรใส่มือผู้บริโภคแบบง่าย ๆ สไตล์ประชานิยม
ส่งผลทำให้หนี้ภาครัฐและครัวเรือนสูงขึ้นต่อเนื่อง และยังไม่พอมาตรการเงินที่เพิ่มสภาพคล่องในระบบยังสนับสนุนไปในทิศทางเดียวกัน และมาถึงวันนี้ เรากำลังจะพลิกกลับมาตรการ โดยทำทุกอย่างที่ตรงข้ามกับสิ่งที่เราเคยทำมาในอดีต ยิ่งประเทศใหญ่ ๆ จาก quantitative easing to quantitative tightening ซึ่งแน่นอนคนที่อยู่ภาคธุรกิจต้องกังวลดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
การระดมทุนที่ยากขึ้น การบริโภคที่ลดลง และในส่วนของเศรษฐกิจโดยรวมนั้น เราก็คงจะเห็นการบริโภคที่ลดลง ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าที่สูงขึ้น และลามไปถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่เติบโตมากเหมือนที่เคยคาดไว้ และเราคงได้เห็นหน่วยงานต่างๆ ปรับตัวเลขพยากรณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงทุกสำนัก
การใช้มาตรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอดีตที่ได้ผลจากอัตราเงินเฟ้อที่มาจากด้านอุปสงค์หรือต้นทุนสูงนั้น อาจได้ผลในกรณีที่ปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนสูงนั้นเป็นเหตุการณ์ shock ชั่วคราวและใช้เวลาไม่นาน
แต่การ shock ครั้งนี้ซับซ้อนและโยงกับหลายด้านที่ไม่ใช่เศรษฐกิจและดูเหมือนจะแก้ไม่ง่ายและใช้เวลานานในการหาทางออก แต่อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้อาจเป็นครั้งแรกก็เป็นไปได้ที่การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในยามเศรษฐกิจชะลอตัวและใกล้เลือกตั้ง จะไม่เป็นชนวนโต้เถียงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าแบงค์ชาติเหมือนที่เราเคยเห็นมาบ่อย ๆ ในอดีต