รับมือ “Perfect Storm”

01 มิ.ย. 2565 | 07:45 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มิ.ย. 2565 | 14:49 น.

บทบรรณาธิการ

นักเศรษฐศาสตร์และองค์กรการเงินชั้นนำระดับโลก ออกมาแสดงความกังวล โลกจะเผชิญปัญหาเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ ที่เรียกกันว่าอยู่ในระดับ“มหาพายุ” หรือ Perfect Storm โดยมรสุมเศรษฐกิจกำลังก่อตัว ถือเป็นความท้าทายของเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือในรอบ 80 ปี ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ ) ออกมายอมรับสถานการณ์การเศรษฐกิจโลกขณะนี้ กำลังเข้าสู่ความยุ่งเหยิงอย่างยิ่ง 
 

มรสุมที่กำลังเกิดขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน นำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจ ยกระดับขึ้นเป็นการแบ่งขั้วทางการเมือง การแยกส่วนของระบบเศรษฐกิจโลก และผลพวงสงครามก่อให้เกิดวิกฤตราคาพลังงาน ซึ่งราคาน้ำมันพุ่งไปอยู่ที่ 110-120 ดอลลาร์/บาเรล กดดันให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อสูงทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย และสงครามยังนำไปสู่วิกฤตอาหารโลก ที่จะส่งผลกระทบคนนับร้อยล้านคน และอาจนำไปสู่การประท้วง รวมถึงวิกฤตเชิงสังคมและการเมืองในประเทศต่างๆ

 

มรสุมในอเมริกา ที่เกิดจากความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ในการประเมินผลกระทบจากโควิด ส่งผลให้มีการอัดฉีดเงินเข้าในระบบมาก เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาจากโรคโควิด-19 แต่ภายหลังเศรษฐกิจฟื้นตัว มีปัญหาในการควบคุมเงินเฟ้อตามมา ซึ่งในการควบคุมเงินเฟ้ออย่างรวดเร็ว ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั้งในสหรัฐและขยายวงออกไปทั่วโลก เหมือนกับที่กำลังเกิดขึ้นในศรีลังกา ปากีสถาน
 

มรสุมถัดมาเกิดปัญหาในจีน ที่มีความเปราะบางจากฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่สะสมมานาน และเริ่มประสบปัญหาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนที่เป็นอันดับ 2 ของโลก ชะลอตัวลงอย่างมาก ประกอบกับนโยบาย Zero-Covid กระทบต่อการนำเข้า การส่งออก และห่วงโซ่การผลิตของโลก มีโอกาสที่ระเบิดลูกนี้จะแตกขึ้นและกลายเป็นผลกระทบต่อเนื่องในประเทศเอเชียและโลกที่เป็นคู่ค้าสำคัญจีนได้ โดยเฉพาะกำลังซื้อของในหลายประเทศที่อ่อนแอลงและเกิดความผันผวนตามมาอย่างมากในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก 

 

มหาพายุ Perfect Storm นี้ ไทยเองก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ด้วยระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกันเข้ากับโลกอย่างแยกไม่ออกในปัจจุบัน เราจึงต้องการเห็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำงานร่วมกันกับหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจ สภาพัฒน์ แบงก์ชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงบประมาณ วางแผนรับมือผลกระทบรอบนี้อย่างรวดเร็ว รอบคอบ และเป็นเอกภาพ โดยเฉพาะรัฐบาลที่ต้องเริ่มต้นจากการจัดทำงบประมาณปี 2566 ให้สามารถรองรับวิกฤต ปรับกระบวนการทำงานให้เป็นลักษณะเชิงรุกมากกว่าการตั้งรับ นำพาคนไทยฝ่ามหาพายุครั้งนี้ไปให้ได้