กิจกรรมฟื้นความทรงจำ

10 มิ.ย. 2565 | 23:00 น.

คอลัมน์ ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

มนุษย์เราเมื่อต้องแก่ตัวลง สิ่งที่จะตามมาคือปัญหาความทรงจำในอดีต ผู้สูงอายุบางท่านอาจจะสูญเสียความทรงจำไป ทำให้เกิดอาการสมองเสื่อม หรือบางท่านอาจจะมีความทรงจำหลงเหลืออยู่บ้าง ก็มักจะชอบเล่าเรื่องราวในอดีตให้คนใกล้ตัวได้รับฟัง 


ถ้ามีคนที่สนใจอยากจะรับฟัง ก็มักจะเล่าเรื่องราวได้อย่างออกรสออกชาติ แต่ก็มีที่คนใกล้ชิดอาจจะรำคาญใจไม่อยากฟัง หรือฟังมาแล้วหลายครั้งจนเบื่อที่จะฟัง ผู้สูงอายุในฐานะผู้เล่า ก็อาจจะเกิดอาการ “นอย”ได้เช่นกันครับ จึงเป็นที่มาที่คนทั่วไปมักจะพูดถึงคุณสมบัติของคนแก่ว่า “ชอบชมสาวสวย รวยความหลัง”นั่นเองครับ

ผมเคยอ่านเจอบทความชิ้นหนึ่ง ที่เขียนโดยนักวิชาการของญี่ปุ่น เขาอธิบายได้อย่างน่าสนใจว่า เมื่อผู้สูงอายุเกิดอาการหลงๆลืมๆ สิ่งที่จะเรียกความทรงจำของท่านกลับคืนมาอีกครั้งได้ คือ “ความมั่นใจ”ของผู้สูงอายุนั่นเองครับ 


ดังนั้นการที่จะเรียกความมั่นใจดังกล่าวกลับมาได้ จะต้องอาศัยลูกหลานหรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดตัวผู้สูงอายุ หรือผู้บริบาล ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่จะสร้างความมั่นใจก็ไม่ได้ยากเย็นนัก แต่อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุมักจะมีความรู้สึกกังวลใจ เพราะเขาจำอะไรไม่ค่อยได้ 

ทั้งๆที่ตนเองอยากจะจำให้ได้ จึงเกิดอาการขาดความมั่นใจนั่นเอง ดังนั้นแม้ว่าการดึงความรู้สึกให้กลับมาจะสามารถทำได้อย่างง่ายๆก็ตาม จึงต้องมีวิธีการทางเทคนิคอยู่บ้าง ตัวอย่างเช่น
        

1, ใช้กิจกรรมที่ไม่ต้องหนักมากจนเกินกำลัง การกำหนดให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายที่หักโหมมากเกินควร ถ้าหากผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองทำไม่ได้ ก็จะทำให้ผู้สูงอายุมีความรู้สึกขาดความมั่นใจมากขึ้นไปอีก แต่ถ้าทำง่ายจนเกินไป ก็จะทำให้เกิดการเบื่อหน่าย เสมือนกำลังถูกมองว่ากำลังถูกให้กระทำเหมือนเด็กๆ ดังนั้นการออกกำลังกายต้องทำให้พอเหมาะพอควรจึงจะเกิดผลดีที่สุด
 

2, การกำหนดโปรแกรมสันทนาการที่เหมาะสม เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ที่คุ้นชินกับการทำงานมาทั้งชีวิต อาจจะมองว่าการสันทนาการเป็นเรื่องที่ไร้สาระ ดังนั้นการสันทนาการจึงจำเป็นที่จะทำให้มีความเชื่อมโยงกับธรรมชาติให้มากที่สุด เช่นการพักผ่อนตามสถานที่ต่างๆ หรือการท่องเที่ยวในสถานที่ผู้สูงอายุชื่นชอบ เป็นต้น 


สิ่งนี้ผมเองได้พบเห็นมา จากเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้พาครอบครัวเดินทางไปอ่างศิลา เพื่อทานอาหารทะเลกัน ปรากฏว่าได้พบผู้สูงอายุกลุ่มหนึ่ง มีประมาณยี่สิบกว่าท่าน เข้ามาที่ร้านที่ผมนั่งทานอยู่ ผมเห็นแล้วน่าสนใจมาก จึงเดินไปสอบถามว่ามาจากไหนกัน ก็มีท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งอายุประมาณเจ็ดสิบกว่า ท่านตอบว่า มาจากอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง 


กลุ่มของท่านมีสมาชิกทั้งหมดยี่สิบกว่าคน ทุกเดือนจะชักชวนกันออกท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆในประเทศไทย โดยจะเหมารถบัสกันมา ซึ่งทริปนี้ท่านเดินทางไปจังหวัดจันทบุรี เพื่อทานผลไม้กัน ระหว่างทางกลับบ้าน พอตกค่ำจึงแวะทานข้าวกันที่อ่างศิลานี่แหละครับ นับว่าเป็นการสันทนาการที่ยอดเยี่ยมมากๆครับ 
    

3, การกำหนดเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งไม่ควรจะมีกำหนดเวลาที่เคร่งครัดจนเกินไป ไม่ว่ากิจกรรมนั้นๆ จะสนุกสนานแค่ไหน ก็ควรจะมีกำหนดเวลาที่ค่อนข้างจะเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด เมื่อถึงเวลาควรเลิกก็ต้องเลิก ให้คอยสังเกตว่าผู้สูงอายุเริ่มมีการเบื่อหน่ายหรือยังเป็นหลัก 


แต่ก็ไม่ควรจะบังคับหรือขัดจังหวะของความสนุกสนาน หรือไปขัดจังหวะของสมาธิที่ผู้สูงอายุกำลังมีความสุขอยู่ จึงไม่ควรจะมีการกำหนดเวลาตายตัว ให้ความสุขที่ท่านเหล่านั้นกำลังมีอยู่นั้น ได้เกิดขึ้นและจบลงอย่างเป็นธรรมชาติที่สุดนั่นเองครับ
     

4, การจัดให้มีเวทีการบอกเล่าประสบการณ์ ที่ประสบพบมาของชีวิต ผู้สูงอายุที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาทุกท่าน ล้วนแล้วแต่มีการผ่านประสบการณ์ชีวิตมาแล้วทั้งสิ้น จึงพบว่ามีทั้งที่ประสบผลสำเร็จและความล้มเหลว แต่สิ่งที่อยากจะจดจำมากๆ คือความสำเร็จ สิ่งที่อยากลืมคือความล้มเหลว 


ซึ่งก็จะเป็นเช่นนี้ทุกคน ดังนั้นเวทีดังกล่าว จะต้องไม่ไปรื้อฟื้นความล้มเหลว แต่ต้องให้สาธยายถึงความสำเร็จของแต่ละท่าน จะทำให้ผู้สุงอายุมีการรื้อฟื้นความทรงจำที่ดีที่สุด ซึ่งจะทำให้รับรองได้ว่าคืนนั้นทั้งคืน ผู้เล่าประสบการณ์จะมีความสุขมากในการได้พูดคุยหรือแสดงออกครับ
     

5,การใช้ดนตรีหรือบทเพลงในการรื้อฟื้นความทรงจำ แม้บางครั้งการร้องเพลงที่ไม่เป็นทำนอง หรือร้องผิดร้องถูกบ้าง ร้องผิดคีย์บ้าง ก็จงให้คิดเสมอว่า นี่เป็นเรื่องปกติของผู้สูงอายุ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ที่อยู่ดูแลเช่นผู้บริบาลหรือลูกหลาน จะต้องทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดี ต้องรู้จักปรบมือให้กำลังใจด้วยความเต็มใจ อย่าได้หัวเราะเยาะเย้ยหยันเป็นอันขาด 


การปรบมือให้กำลังใจนั้น จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นขึ้นมาอย่างมหาศาล มันเป็นสิ่งที่ดียิ่งกว่ายาวิเศษเสียอีก ดังนั้นผู้ฟังที่ดี แม้จะรู้ว่าผู้สูงอายุนั้นร้องไม่ได้เรื่องได้ราวเลย ก็ต้องให้กำลังใจกันไปนะครับ ส่วนบทเพลงที่นำมาร้องนั้น ควรจะเป็นเพลงในยุคของท่านผู้สูงอายุนั้นๆ หรือบทเพลงที่ร้องง่ายๆ แม้แต่เพลงกล่อมเด็ก ก็ไม่ควรรังเกียจ หากท่านเหล่านั้นต้องการนำมาร้องก็ตามครับ
      

6, กิจกรรมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่มีอายุขัยสั้นๆ ไม่ควรจะเลี้ยงเป็นอย่างยิ่ง เพราะการเลี้ยงสัตว์เลี้ยง แม้จะมีประโยชน์ในการคลายเหงา แต่สัตว์เลี้ยงเหล่านั้น เมื่อเลี้ยงไว้เป็นเวลานาน ก็จะเกิดความรักและผูกพันขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัตว์เลี้ยงที่มีความเฉลียวฉลาด หรือเชื่อฟังคำสั่งมนุษย์ได้ดี ยิ่งไม่ควรเลี้ยงเป็นอย่างยิ่ง 


เพราะจะทำให้ผู้สูงอายุหรือมนุษย์ปุถุชนทั่วไปหลงไหลได้ง่าย แต่เมื่อสิ้นอายุขัยของสัตว์เหล่านั้น มันก็จะตายไปตามธรรมชาติ ก็จะเกิดการสูญเสียสิ่งที่รักไป จะทำให้เกิดการเศร้าหมองโดยใช่เหตุ ดังนั้นจึงไม่ควรที่จะปล่อยให้ผู้สูงอายุเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นครับ
       

ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเชื่อมต่อความทรงจำอีกมากมาย เช่นกิจกรรมในการทำอาหาร หรือกิจกรรมทำงานอดิเรก อย่างไรก็ตาม การรื้อฟื้นความทรงจำของผู้สูงอายุ โดยใช้วิธีที่กล่าวมาทั้งหมด จะต้องใช้ความสมัครใจและจะต้องเคารพต่อการตัดสินใจของผู้สูงอายุ 


อีกทั้งผู้บริบาลและหรือลูกหลานผู้ดูแล ต้องคำนึงเสมอว่า การทำกิจกรรมต่างๆนี้ ไม่ใช่เป็นสิ่งพิเศษที่จะมีเพียงผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่ทำได้ แต่ทุกคนที่เป็นผู้ใกล้ชิดหรือผู้ดูแล ก็สามารถทำได้ทุกคน เพียงแต่ต้องมีความใส่ใจ จึงจะประสบผลสำเร็จเสมอครับ