คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยี “บล็อกเชน” (Blockchain Technology) ในการ “บันทึก” ข้อมูลธุรกรรม (Transaction Data) ทั้งหมดที่เกิดขึ้น โดยเทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่ปฏิวัติการบันทึกข้อมูลแบบเดิมๆ จากการอาศัย “คนกลางที่มีความน่าเชื่อถือ” ในการบันทึกข้อมูลแต่ละชุดข้อมูลอย่างเป็นอิสระต่อกัน สู่การบันทึกข้อมูลรูปแบบใหม่ที่ไม่ต้องอาศัยคนกลางแบบเดิมๆ ที่อาจจะ “ไว้ใจไม่ได้” แต่อาศัยตัวกลางที่เป็นระบบเครือข่าย (Network System) ที่เชื่อมโยงคอมพิวเตอร์จากผู้คนทั่วทั้งโลกในการบันทึกข้อมูล
โดยทุกชุดข้อมูลจะถูกสร้างความสัมพันธ์ให้เชื่อมโยงกัน (โดยการสร้างลายเซ็นดิจิทัล) เสมือนการสร้าง “ห่วงโซ่” ที่ผูกทุกชุดข้อมูลเอาไว้อย่างแน่นหนาเพื่อทำให้ชุดข้อมูลเหล่านี้กลายเป็นชุดข้อมูลที่ “แข็งแกร่ง” ที่ทุกคนในโลกเชื่อถือได้อย่างสมบูรณ์
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) และเทคโนโลยีบล็อกเชน ได้กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วทั้งโลกให้ความสนใจ และกำลังหาทางในการประยุกต์ใช้เพื่อสร้างมูลค่าให้กับตนเอง องค์กร และสังคม
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีทุกเทคโนโลยีก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เปรียบเสมือนมีดหรือดาบที่สามารถใช้ในการตัดสิ่งของต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถบาดมือและสร้างบาดแผลให้กับผู้ใช้ที่ไม่ระมัดระวังได้
ดังเช่นในคำสุภาษิตไทยคำว่า “ดาบสองคม” แต่สำหรับคริปโตเคอร์เรนซีนั้น ผู้เขียนคิดว่าคำว่า “ดาบสองคม” น่าจะยังไม่เหมาะสมและไม่เพียงพอที่จะสะท้อนถึงลักษณะของข้อดีและข้อเสียที่แท้จริงของคริปโตเคอร์เรนซีได้
ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอเสนอการใช้คำว่า “ดาบแสนคม” ในการเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของคริปโตเคอร์เรนซี โดยผู้เขียนต้องการที่จะสื่อให้เห็นว่า คริปโตเคอร์เรนซีนั้น ถึงแม้จะมีประโยชน์ในด้านต่างๆ อยู่หลายด้าน แต่ถ้าถูกใช้อย่างไม่ระมัด ระวังหรือไม่ถูกต้อง ก็สามารถสร้างผลเสียอย่างรุนแรงในรูปแบบที่หลายคนอาจจะไม่ได้ตระหนักมาก่อน เปรียบเสมือนดาบที่มีความ “คมกริบ” ที่ผู้ใช้จะต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญอย่างแท้จริงเท่านั้นถึงจะควรใช้ดาบเล่มนี้
ประโยชน์จริงๆ ของคริปโตเคอร์เรนซีในปัจจุบัน (และอีกหลายปีในอนาคต)
มีบทความมากมายที่กล่าวถึงคริปโตเคอร์เรนซี โดยเฉพาะในด้านประโยชน์ของคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งประโยชน์ของคริปโตเคอร์เรนซีที่ถูกพูดถึงค่อนข้างมาก ได้แก่ ความปลอดภัยในการทำธุรกรรมที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนที่มีความปลอดภัยสูง ความสะดวกรวดเร็วในการทำธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น
เนื่องจากสามารถใช้คอม พิวเตอร์ทำโดยอัตโนมัติได้ วันละ 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ และค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมต่างๆ ที่จะถูกลง เนื่องจากไม่ต้องทำผ่านสถาบันทางการเงินที่อาจจะคิดค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูง (เพราะสถาบันทางการเงินเองก็มีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ต้องจ่ายอยู่มาก เช่น เงินเดือนพนักงาน และค่าเช่าสำนักงาน) ทำให้คนจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ เนื่องจากค่าธรรมเนียมมีอัตราสูงสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ประโยชน์อีกประการหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนมาก “ต้องเล่นคริปโตฯ” คือ โอกาสในการได้รับผลตอบแทนในการลงทุนในระดับสูง เพราะเชื่อว่าคริปโตเคอร์เรนซี คือ สกุลเงินแห่งอนาคต ที่อาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตเช่นกัน
แต่ถ้าหากพิจารณาดูให้ดี ประโยชน์ที่กล่าวข้างต้นไม่ใช่ประโยชน์ “จริงๆ” ของคริปโตเคอร์เรนซีโดยเฉพาะประโยชน์ในปัจจุบัน (และอีกหลายปีในอนาคต) ที่คนๆ หนึ่ง หรือองค์กรหนึ่งๆ ควรหันมาใช้ หรือ ถือครองคริปโตเคอร์เรนซี เพราะในปัจจุบันธุรกรรมทางการเงินที่ทำผ่านสถาบันทางการเงิน ก็มีความปลอดภัยในระดับที่สูงมาก
แถมยังต้องได้รับการกำกับดูแลจากหน่วยงานตรวจสอบของภาครัฐ ในทางกลับกันธุรกรรมทางการเงินที่ใช้คริปโตเคอร์เรนซีนั้น แทบจะตรวจสอบไม่ได้เลย ซึ่งในอดีตก็เคยเกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายให้กับผู้ใช้คริปโตเคอร์เรนซี เช่น เหตุการณ์การโจรกรรมคริปโตเคอร์ เรนซีครั้งใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นกับ Mt. Gox ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีที่เคยมีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก
นอกจากนี้ ความสะดวกรวดเร็วในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านสถาบันทางการเงินที่ใช้ระบบ Mobile Banking ก็มีความสะดวกรวดเร็วในระดับที่สูงมาก ซึ่งค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมหลายประเภทนั้น แทบจะไม่มีค่าธรรมเนียมอยู่แล้ว เช่น การโอนเงินระหว่างบุคคล หรือการจ่ายค่าสินค้าและบริการต่างๆ ผ่าน QR Code หรือ ระบบ Online Payment
ส่วนประโยชน์ในด้านการลงทุนนั้น คริปโตเคอร์เรนซีไม่ใช่เครื่องมือสำหรับการ “รวยทางลัด” หรือ “รวยเร็ว” จากการได้รับผลตอบแทนในระดับสูง เพราะผลตอบแทนของคริปโตเคอร์เรนซีมีความผันผวนสูงมาก และไม่มีอะไรมายืนยันหรือรองรับว่า ราคาของคริปโตเคอร์เรนซีนในแต่ละตัวนั้น จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ตลอดไป
อันที่จริงประโยชน์ในด้านการลงทุนของคริปโตเคอร์เรนซี ที่พอจะมีความน่าเชื่อถืออยู่บ้าง คือ ประโยชน์ในด้านการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน โดยมีงานวิจัยชั้นนำหลายชิ้นพบว่า คริปโตเคอร์เรนซี สามารถช่วยป้องกัน หรือ ลดความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุนได้
เช่น งานวิจัยของ Akhtaruzzaman และคณะ (2020) ที่ศึกษาข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริการะหว่างปี 2011 ถึง 2018 และพบว่า Bitcoin สามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุนที่ลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและดัชนีหุ้นกู้ได้
เพราะราคาของ Bitcoin ไม่มีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับสินทรัพย์อื่นอย่างสมบูรณ์ งานวิจัยของ Urquhart และ Zhang (2019) พบว่า Bitcoin สามารถช่วยป้องกัน (Hedge) และช่วยกระจายความเสี่ยง (Diversify) ในการซื้อขายระหว่างวันในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
นอกจากนี้ Bouri และคณะ (2020) ยังพบอีกว่านอกจาก Bitcoin แล้วยังมี Ethereum และ Litecoin ที่มีคุณลักษณะของการป้องกันความเสี่ยงสำหรับการลงทุนในหุ้นสามัญในตลาดเอเซียแปซิฟิกและญี่ปุ่นได้
อย่างไรก็ดี Goodell และ Goutte (2021) กลับพบว่า Tether ซึ่งเป็นหนึ่งใน Stable Coin ตัวหลักของโลกมีคุณลักษณะในการเป็น Safe Haven (สินทรัพย์ที่ราคาไม่มีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับสินทรัพย์อื่นในพอร์ตการลงทุน) ได้ดีในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง
เช่น ในช่วงการระบาดของ Covid-19 ในขณะที่ Bitcoin ไม่มีคุณลักษณะในการเป็น Safe Haven เพราะราคามีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับสินทรัพย์หลักตัวอื่นๆ เช่น หุ้นสามัญ เป็นต้น
ดังนั้นแม้ว่าคริปโตเคอร์เรนซีมีแนวโน้มที่จะมีประโยชน์ในด้านการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน แต่เนื่องจากคริปโตเคอร์เรนซีเป็นนวัตกรรมทางการเงินชนิดใหม่มากๆ ที่ยังต้องมีการศึกษาวิจัยอีกมาก แถมข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์มีระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น ดังนั้น จึงยังมีอีกหลายอย่างที่เราทุกคนควรตระหนักว่า “เรายังไม่รู้” อีกมากเกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซี (อ่านตอนจบฉบับถัดไป)
หน้า 6 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,796 วันที่ 30 มิ.ย.- 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2565