นโยบายผ่อนคลายการควบคุมเงินตราระหว่างประเทศ

17 ก.ค. 2565 | 22:00 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 ที่ผ่าน ได้มีคำถามมาจากท่านผู้ฟังจากทางบ้าน ชื่อคุณจิตลดา ในรายการ Good Morning Asian ว่า “อยากทราบแนวโน้มว่าเมื่อไหร่รัฐบาลเมียนมา จะผ่อนคลายการควบคุมเงินตราสกุลต่างประเทศ เช่น เปิดให้ซื้อเงิน USD ได้” ผมก็ได้แต่ถอนหายใจลึกๆ ยาวๆ เลยครับ ระหว่างนี้มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นมากมายในประเทศเมียนมา คงยากสักหน่อยนะครับ จึงอยากจะขออธิบายถึงความกังวลใจจากภาครัฐของเขาให้อ่านเล่นนะครับ
 

แต่ต้องบอกก่อนนะครับว่า ผมไม่ได้เป็นกระบอกเสียงให้ฝ่ายใดเป็นพิเศษนะครับ ผมเป็นกลางแบบสุดๆ อยู่แล้ว เพียงแต่ในฐานะของประกอบการคนหนึ่ง เราก็อยากจะเห็นอนาคตที่ดีของประเทศเมียนมา เพื่อเราจะได้มีโอกาสในการทำมาหากินได้อย่างสะดวกและสบายใจที่สุดครับ
 

หลังจากที่เกิดการประท้วงใหญ่ในประเทศศรีลังกา และมีการบุกเข้าไปทำเนียบประธานาธิบดี จนกระทั่งรัฐบาลของศรีลังกา ต้องระเห็จออกจากประเทศไป ทางการเมียนมาเองก็คงจะไม่สบายใจ ที่ได้เห็นเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นในพื้นที่ใดในโลกแน่นอน แต่กระแสโลกาภิวัตน์นั้น ยากที่จะต่อกรได้ จึงทำให้เกิดการประกาศออกมา

 

โดยทางการเมียนมาเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการออกมาประกาศจากทางธนาคารกลางแห่งประเทศเมียนมา ให้ธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดของประเทศ ระงับการชำระเงินคืนในส่วนของเงินกู้ระหว่างประเทศทั้งหมด รวมทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน งดการชำระค่าสินค้าทุกชนิดที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศด้วย ยกเว้นการค้าชายแดนที่ให้ใช้ระบบหยวน-จ๊าดกับบาท-จ๊าด ดังนั้นเอวังจึงเป็นด้วยประการฉะนี้แล!!!!
 

ส่วนเหตุผลและวัตถุประสงค์หลักของประกาศฉบับดังกล่าว ผมเชื่อโดยส่วนตัวว่า เป็นเพราะทางการเมียนมาคงเกรงว่า เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศเมียนมาเองซึ่งมีน้อยอยู่แล้ว จะต้องไหลออกนอกประเทศอีก อีกทั้งระบบการเงินในประเทศเมียนมาเอง วันนี้ธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ก็ทำงานไม่ได้เต็มที่อยู่แล้ว เพราะยังคงต้องมาคอยระแวดระวังกลุ่มประชาชน ที่ขาดความเชื่อมั่นในระบบธนาคาร ที่พร้อมที่จะถอนเงินออกมาจากธนาคาร เพื่อเอาเงินสดไปเก็บไว้ที่บ้าน
 

ซึ่งในอดีตยุคปีค.ศ. 1962-2000 ต้นๆ ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เพราะในยุคนั้นประชาชนต่างได้รับชะตากรรมที่รัฐบาลกลางได้ประกาศยกเลิกแบงค์มูลค่าต่างๆ หลายใบ ทำให้หลายครอบครัวแถบจะสิ้นเนื้อประดาตัวไปก็มี ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูง ที่หากจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ในความเชื่อของประชาชนบางส่วน 

อีกประการหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นที่หนักใจของทางการเมียนมาในปัจุบันนี้ นั่นก็คือการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ ซึ่งไม่เพียงแต่จะไม่มีการลงทุนจากผู้ประกอบกการจากภายในประเทศ ที่ถดถอยลงอย่างมากแล้ว การลงทุนจากต่างประเทศที่ทำเงินรายได้ให้กับประเทศเมียนมา นับตั้งแต่สองทศวรรษที่ผ่านมาอย่างเป็นกอบเป็นกำ ก็ได้หนีหายไปกับสายลมเป็นที่เรียบร้อย
 

เหตุเพราะการแซงชั่นจากชาติตะวันตก และสภาวะเศรษฐกิจที่มีปัญหาไปทั่วโลก แต่ประเทศเมียนมาเองโดนไปสองดอกเต็มๆ ทำให้ส่งผลไปทั่วทุกวงการ นอกจากส่งผลทำให้แรงงานมีอัตราว่างงานสูงมากเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา อีกทั้งรายได้ของประชาชนก็ลดลงไป
 

สังเกตุได้ง่ายๆคือ จากการจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชน ที่สินค้าฟุ่มเฟือยจะขายยากมาก จากการบอกเล่าของพนักงานขายของผม ได้เล่าว่าสินค้าทุกประเภทที่แม้จะเป็นสินค้าราคาถูก แต่ถ้าหากไม่ใช่สินค้าที่มีความจำเป็นในการดำรงค์ชีวิต จะขายลดลงอย่างน่าใจหาย ดังนั้นกระแสเงินสดในท้องตลาดจึงหดหายไปอย่างมาก
 

อีกเรื่องที่ตามรบกวนใจของผู้บริหารประเทศอย่างมาก คือเรื่องของเงินเฟ้อ ที่ไม่ได้มีการประกาศออกมาสู่สาธารณะ หรืออาจจะมีประกาศแต่ผมไม่เห็นก็ได้ ซึ่งต่างจากช่วงที่ผ่านๆ มา ผมเชื่อว่าเงินเฟ้อที่เกิดจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น ทำให้ทางการของเมียนมาโดยธนาคารกลางแห่งชาติเมียนมา ได้ตัดสินใจประกาศใช้นโยบายดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะนักเศรษฐศาสตร์ของรัฐบาลเมียนมา คงจะคิดหาทางแก้ปัญหาที่ติดกับดักอยู่
 

โดยคิดแบบง่ายๆไม่ต้องคิดลึกว่า หากปล่อยให้นำเข้าสินค้าอย่างเสรีเหมือนที่ผ่านๆ มา ทางการเมียนมาจะต้องเสียดุลการค้าที่เกิดจากการที่ปล่อยให้นำเข้าสินค้าเข้าทดแทนสินค้าที่ผลิตภายในประเทศนั่นเอง ซึ่งถ้าหากมองให้ลึกๆ ลงไปอีกนิด ถึงสาเหตุว่าทำไมประเทศเมียนมา ถึงต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ  ผมก็ต้องบอกว่าสินค้าที่ผลิตจากต่างประเทศ คุณภาพดีกว่าสินค้าที่ผลิตภายในประเทศเมียนมาอย่างห่างชั้นมาก
 

ราคาสินค้าที่มีการผลิตที่จำนวนมาก ต้นทุนย่อมถูกกว่าสินค้าที่ผลิตในขนาดหรือจำนวนที่น้อยกว่า ตามหลักของเศรษฐศาสตร์ ด้าน Economics of Scale ดังนั้นหากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่ปกติเหมือนในอดีตที่ผ่านมา รับรองว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศเมียนมา ต้องตายยกแผงนั่นเอง แต่วันนี้ยังมีอัตราแลกเปลี่ยนที่มาช่วยผยุงอยู่ จึงยังพอทำเนาอยู่ได้บ้าง 
 

เมื่อเป็นไปในทิศทางเช่นนี้ การที่นโยบายรัฐบาลเมียนมา กำหนดให้สกัดกั้นการไหลออกของเงินตราต่างประเทศ หรือไม่ยอมผ่อนปรนนโยบายในเรื่องของการซื้อ-ขายเงินสกุลต่างประเทศเกือบทั้งหมด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยครับ เพราะรัฐบาลทหารในวันนี้ คงจะคิดได้ดีที่สุดก็เพียงแค่นี้แหละครับ ก็ได้แต่เห็นใจประชาชนชาวเมียนมา ที่โชคร้ายกว่าเพื่อนบ้านประเทศอื่นๆ นะครับ 
 

แล้วถามว่าคนที่ไปลงทุนอยู่ก่อนแล้ว จะทำอย่างไร? ผมก็ต้องบอกว่า ถ้าเป็นการลงทุนทางตรงไปแล้ว คงต้องปรับเปลี่ยนนโยบาย  ที่จะต้องผลิตสินค้าที่ตลาดต้องการไว้ก่อน ตัวอย่างเช่น สินค้าที่หากไม่ซื้อไม่หามาใช้ในชีวิตประจำวันก็อยู่ลำบาก แต่ต้องเป็นสินค้าที่ราคาพอจับต้องได้ไว้ก่อนเท่านั้นนะครับ ส่วนท่านใดที่เข้าไปทำธุรกิจด้านซื้อมา-ขายไป หรือนำเข้าสินค้าไปขายเหมือนอย่างผม ก็คงต้องอดทนกันต่อไป หรือต้องเปลี่ยนแนวทางในการซื้อภายใน-ขายภายในให้ได้ เพราะถ้าฝืนนำเข้าสินค้าไปขาย คงต้องใช้เทคนิคที่เคยใช้เมื่อสามสิบปีก่อนมาใช้ จึงจะสามารถอยู่รอดได้ละครับ
 

ส่วนเทคนิคจะเป็นอย่างไร? คงจะอธิบายกันยาวๆไปเลยครับ ในฐานะที่ผมได้ผ่านประสบการณ์นั้นมาก่อน ไว้มีโอกาสจะจัดสัมมนาสักครั้ง ให้คนที่สนใจเรื่องนี้โดยเฉพาะมารับฟังนะครับ