ความต่างของเมืองท่องเที่ยวในเมียนมา

26 มิ.ย. 2565 | 22:30 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มิ.ย. 2565 | 05:38 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลังจากออกรายการ Good Morning Asian ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ซึ่งปกติทุกๆ สัปดาห์ ผมจะมีคำถามเข้ามาไม่มากนัก แต่ครั้งนี้ผมได้นำเอาของฝากจากประเทศเมียนมา มาแจกให้ท่านผู้ฟังที่อยู่ทางบ้าน พร้อมทั้งขอให้ช่วยบอกเรื่องที่ท่านผู้ฟังอยากทราบเกี่ยวกับเมียนมามาให้ผม เพื่อเป็นการเล่นสนุกในรายการ ปรากฎว่ามีคำถามหลั่งไหลเข้ามามากมาย มีทั้งหมดสอง-สามหน้ากระดาษเลยครับ ซึ่งส่วนใหญ่คำถามจะหลากหลายมาก จนผมคิดว่าบางคำถาม ผมคงจะไม่สามารถตอบในรายการได้หมด จึงนำบางส่วนของคำถามเหล่านั้น มาเล่าให้เพื่อนๆ แฟนคลับทางคอลัมน์นี้อ่านเล่น น่าจะดีกว่าครับ
 

มีคำถามหนึ่งถามว่า “มีรายการหนึ่ง (ไม่ทราบว่ารายการไหนนะครับ) บอกว่า ประเทศเมียนมาไม่น่าจะไปท่องเที่ยวแล้ว อยากทราบว่าในสายตาของคุณ ที่ไหนในประเทศเมียนมาน่าสนใจ เมืองไหนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากที่สุด เป็นอย่างไร?” เป็นคำถามจากคุณนุสาสนี อยู่ที่เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานครนี่แหละครับ
 

ผมต้องบอกว่าคำถามนี้คงจะไม่สามารถตอบสั้นๆ ไม่ได้แน่นอน เพราะเมืองทุกเมืองในประเทศเมียนมา ล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเกือบทั้งสิ้น เหตุผลเป็นเพราะว่า ประเทศเมียนมามีการแบ่งการปกครองออกเป็น 7 รัฐ 7 ดิวิชั่น

 

ในเขตดิวิชั่นนั้น ประชากรส่วนใหญ่จะเป็นชนชาติเมียนมา แต่ในรัฐแต่ละรัฐ จะเป็นชนชาติพันธุ์เสียเป็นส่วนใหญ่ ผมจะขอไล่ให้อ่านเล่นนะครับ ตัวอย่างเช่น รัฐกระหยิ่น จะมีชาวกระหยิ่นหรือกระเหรี่ยงเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่สุด รัฐมอญ ก็จะมีชนชาติพันธุ์มอญเป็นประชากรส่วนใหญ่ ส่วนรัฐฉาน ก็จะมีชนชาติพันธุ์ไทยใหญ่เป็นประชากรที่ใหญ่ที่สุด
 

ในขณะที่ไทยใหญ่ยังแตกแบ่งออกมาเป็นหลากหลายเผ่าพันธุ์อีก แล้วยังมีชนชาติพันธุ์อื่นๆอีกหลายสิบเผ่าพันธุ์อาศัยอยู่ที่รัฐนี้ นอกจากนี้ รัฐกระหย่า ก็มีชนชาติพันธุ์กระหย่า ที่เป็นกระเหรี่ยงอีกเผ่าพันธุ์หนึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ รัฐยะไข่ ก็มีชนชาติพันธุ์อะรากันเป็นประชากรส่วนใหญ่ รัฐกระฉิ่นก็มีชาวกระฉิ่น หรือชาวจิ่งโปเป็นประชากรส่วนใหญ่ ในขณะรัฐที่ 7 เป็นรัฐชิ่น มีชนชาติพันธุ์ที่หลากหลายที่สุด มีมากถึงห้าสิบกว่าเผ่าพันธุ์ จะเห็นว่าแต่ละรัฐแต่ละเมือง ชนชาติพันธุ์ก็แตกต่างกันออกไป จึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สถานที่ท่องเที่ยวก็มีความแตกต่างกันออกไปครับ
 

ส่วนที่ชาวไทยเรานิยมไปเที่ยวกันนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเมืองใหญ่ เช่น กรุงย่างกุ้ง เมืองมัณฑเลย์ เมืองเมาะละแมง เมืองพุกาม เป็นต้น ซึ่งเมืองที่เป็นที่นิยมเหล่านั้น มักจะเป็นราชธานีเก่าของประเทศเมียนมา และทางการเมียนมาเอง เขาก็ไม่ได้มุ่งเน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างจริงจังนัก
 

ในยุคอดีตที่ผมเข้าไปบุกเบิกตลาดใหม่ๆ เวลาจะเดินทางไปต่างจังหวัดที ก็ต้องขออนุญาตทางการก่อน ไม่ได้อิสระเหมือนช่วงหลังยุคปีค.ศ. 2010 เพราะเขายังอยู่ในความหวาดระแวงและระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งในยุคนั้นประเทศเมียนมาถูกทางประเทศยักษ์ใหญ่ตะวันตกแซงชั่นอยู่ ความเป็นอิสระจึงยังไม่ปลดปล่อยมากครับ 

 

พอประเทศเมียนมาเริ่มเปิดประเทศใหม่ในยุคปีค.ศ. 2010-2019 รัฐบาลเมียนมาได้เล็งเห็นความสำคัญของการท่องเที่ยว จึงได้มีการเปิดประเทศอย่างจริงจัง แต่เมืองรองลงมา ก็ยังไม่ค่อยมีใครเข้าไปถึงนัก ผมเองโชคดีที่ในยุคเข้าไปเปิดตลาดใหม่ๆนั้น ได้มีโอกาสเดินทางไปไหนมาไหนมาก เมืองห่างไกลที่ผมได้เดินทางไปเที่ยวนั้น บางเมืองแทบจะไม่มีคนต่างชาติเข้าไปถึง ลูกค้าของผมพอรู้ว่าเราเป็นชาวโยเดียหรือคนไทย เข้าจะตื่นเต้นมาก อยากเข้ามาคุยเข้ามาถาม ส่วนเรื่องชวนทานข้าว ถือเป็นเรื่องปกติมากเลยครับ 
 

มีอยู่เมืองหนึ่ง ที่ผมประทับใจไม่รู้ลืม คือเมืองเมี่ยวอู รัฐยะไข่ เมืองนี้ก็เป็นราชธานีเก่าของประเทศเมียนมา มีเจดีย์รูประฆังคว่ำอยู่เยอะมาก ที่เมืองนี้มีโรงแรมเก่าๆ อยู่แค่แห่งเดียว มีแม่น้ำไหลผ่านเมือง ตอนเย็นๆ ผมไปนั่งที่ศาลาริมแม่น้ำ ดูเด็กๆ กระโดดเล่นน้ำกัน ทำให้ระลึกถึงภาพตอนผมเป็นเด็กอยู่ที่ต่างจังหวัด มีความสุขมากเลยครับ
 

ที่เมืองนี้ผมได้ไปสองครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมไปกับคุณเอี่ยม ผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัท นันยาง จำกัด ที่ผลิตและจำหน่ายรองเท้าแตะฟองน้ำตราช้างดาวนั่นแหละครับ ตอนไปก็ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น แต่ขากลับนี่แหละครับ พวกเราเดินทางมาถึงครึ่งทาง ปรากฏว่าสะพานขาด รถไปต่อไม่ได้ ต้องรอให้ชาวบ้านมาซ่อมสะพานให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะสามารถเดินทางต่อได้ ระหว่างรอพวกเราก็หิวข้าวกัน ผมนึกได้ว่าบนถนนที่เราผ่านมาไม่ไกลนัก มีสวนแตงอยู่ข้างถนน จึงเดินกลับไปขอซื้อแตงชาวบ้านเพื่อมาทานกัน ปรากฎว่าเขาไม่ขายครับ แต่เขาให้เราทานฟรีหลังจากรู้ว่าเราเป็นคนไทยครับ
 

ที่น่ารักยิ่งกว่านั้น คือเอเย่นต์ขายรองเท้าแตะให้เราในเมืองชิตต่วย เมืองหลวงของรัฐยะไข่ เขามีบุตรสาวอยู่คนหนึ่ง อายุประมาณ 11 ขวบ เขาบอกผมว่าเขาอยากยกลูกสาวให้เป็นลูกผม ผมก็รับปากไปแบบพล่อยๆ ปรากฏว่าวันที่เราจะเดินทางกลับกรุงย่างกุ้ง เขาให้ลูกสาวเขาเก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋า จะตามผมกลับมาย่างกุ้งด้วย เล่นเอาผมตกใจแทบแย่เลยครับ จึงบอกเขาว่าผมนึกว่าเขาพูดเล่น จึงรับปากไปอย่างงั้นเอง ผมคงไม่สามารถรับลูกสาวเขาได้หรอกครับ เพราะด้วยเหตุผลทางด้านกฎหมายเข้าเมืองและอีกหลากหลายปัจจัย คงต้องขอขอบคุณเขาอย่างยิ่งที่ให้ความไว้วางใจผม แต่ผมรับไม่ได้จริงๆครับ (ถ้าขืนผมรับลูกสาวเขากลับมาเมืองไทยจริงๆ คงจะบ้านแตกแน่ๆเลยครับ!!!)