ไม่ให้ชั่งน้ำหนักแข่งเทควันโด ตัดสิทธิโดยไม่มีอำนาจ เหตุผิดพลาดที่ต้องชดใช้!

21 ธ.ค. 2567 | 23:30 น.

ไม่ให้ชั่งน้ำหนักแข่งเทควันโด ตัดสิทธิโดยไม่มีอำนาจ เหตุผิดพลาดที่ต้องชดใช้! : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...ลุงถูกต้อง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4055

ปัจจุบันเด็กไทยหันมาสนใจกีฬาเทควันโด (Taekwondo) มากขึ้น ดังจะเห็นได้จากคุณพ่อคุณแม่ ที่พาน้อง ๆ หนู ๆ ทั้งหลายมาเรียนเทควันโดในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์กันเป็นจำนวนมาก ด้วยเป็นกีฬาที่ใช้ศิลปะในการต่อสู้ และการป้องกันตัว ที่ประยุกต์รวมศาสตร์ต่อสู้โบราณ จึงได้ทั้งออกกำลังกาย ฝึกสมาธิ ฝึกทักษะ การป้องกันตัว รวมทั้งยังอาจเป็นใบเบิกทางสำหรับการศึกษาและอาชีพที่มั่นคงในอนาคตต่อไป

พาให้นึกถึง “น้องเทนนิส” หรือ พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโดคนแรกของไทยที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกสองสมัยติดต่อกัน อันเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ ใครที่ตามเชียร์นักกีฬาไทย คงจะเห็นตรงกันว่า น้องเทนนิส ไม่ใช่แค่นักกีฬาที่เก่งและประสบความสำเร็จเท่านั้น ... แต่เธอยังเป็นแบบอย่างที่ดี และเป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทยอีกมากมายด้วย

แต่การจะก้าวไปสู่ความสำเร็จนั้น นักกีฬาต้องมีความมุ่งมั่น ทุ่มเท และอดทนฝึกซ้อมตนเองให้แข็งแกร่ง พร้อมเข้าแข่งขันเพื่อทำผลงานให้เหนือกว่าคู่แข่ง แต่ก็มีที่ตกม้าตาย เพราะปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ทำให้ถูกตัดสิทธิที่จะเข้าร่วมการแข่งขัน เช่น อุทาหรณ์ที่หยิบมาเล่าในวันนี้ 

เหตุของคดีนี้เกิดจาก ... ผู้ฟ้องคดีเป็นนักเรียนที่สมัครเข้าแข่งขันกีฬานักเรียน นักศึกษาแห่งชาติ อ้างว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เนื่องจากนายที ซึ่งเป็นกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเทควันโด ไม่ให้ตนขึ้นชั่งน้ำหนักตัว (เห็นว่าสถานศึกษาไม่ชัดเจน เนื่องจากเคยแข่งขันในนามโรงเรียนอื่น) เป็นเหตุให้ไม่สามารถลงแข่งขันเทควันโดในรอบคัดเลือกตัวแทนเขตได้ 

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดโดยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ) ได้รับมอบหมายจากกรมพลศึกษาให้จัดการแข่งขันกีฬา การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ว่าฯ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่แทนผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เมื่อผู้ว่าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเทควันโด โดยมีรายชื่อนายที (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) รวมอยู่ในคณะกรรมการชุดดังกล่าว นายที และคณะกรรมการฯ รายอื่น 
จึงมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 

การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ ย่อมอยู่ในกำกับดูแลของสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด โดยมีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) เป็นส่วนราชการต้นสังกัด  

ดังนั้น เมื่อมีการกระทำละเมิดจากการกระทำของนายทีและคณะกรรมการฯ จึงต้องถือว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่คณะกรรมการฯ ได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน

กรณีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า นายทีได้กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีที่หน่วยงานต้นสังกัดต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่?

ศาลเห็นว่า การที่คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเทควันโดมีมติให้นายที เป็นผู้ตรวจสอบและหาหลักฐานยืนยันการเป็นนักเรียนสังกัดโรงเรียน ก. ของผู้ฟ้องคดี นายที ย่อมเห็นว่า ตนมีอำนาจหน้าที่จึงใช้ดุลพินิจไม่ให้ผู้ฟ้องคดีขึ้นชั่งน้ำหนักตัว และเรียกเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อ 23 และข้อ 24 ของระเบียบกรมพลศึกษา ว่าด้วยการแข่งขันกีฬานักเรียน นักศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2561 (ใช้บังคับขณะนั้น ปัจจุบันถูกยกเลิกแล้วและใช้บังคับตามระเบียบกรมพลศึกษา ว่าด้วยการแข่งขันกีฬานักเรียน นักศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2564 

การตรวจสอบคุณสมบัตินักกีฬาตัวแทนจังหวัดในการแข่งขันคัดเลือกตัวแทนระดับเขต ยังเป็นอำนาจของจังหวัดหัวหน้าเขต ซึ่งก็คือ จังหวัดที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่หัวหน้าเขตการแข่งขันกีฬาเช่นเดียวกัน)

                                      ไม่ให้ชั่งน้ำหนักแข่งเทควันโด ตัดสิทธิโดยไม่มีอำนาจ เหตุผิดพลาดที่ต้องชดใช้!

การที่ นายที ในฐานะกรรมการจัดการแข่งขันไม่ให้ผู้ฟ้องคดีขึ้นชั่งน้ำหนักตัว อันมีผลเป็นการตัดสิทธิในการเข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งเป็นอำนาจของจังหวัดหัวหน้าเขต จึงถือเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ และเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

ส่วนประเด็นที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีเพียงใดนั้น ศาลเห็นว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่จ่ายไปเพื่อเข้าร่วมแข่งขันกีฬาเทควันโด รอบคัดเลือกตัวแทนเขต แต่กลับไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขัน อันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดตามที่พิพาท ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 2,350 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี  

ทั้งนี้ สำหรับค่าใช้จ่ายในการฝึกซ้อมถือเป็นค่าใช้จ่ายตามปกติวิสัยของนักกีฬา ที่ต้องเตรียมตัวฝึกซ้อมก่อนเข้าร่วมแข่งขัน ส่วนค่าเสียหายทางจิตใจ เสื่อมเสียชื่อเสียง ศาลเห็นว่ามิใช่เป็นการใส่ความแต่เกิดจากการที่สถานศึกษาไม่ชัดเจน และสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ หากได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนเขตนั้น เป็นเพียงการคาดหมายของผู้ฟ้องคดี 

กรณีไม่ใช่ความเสียหายจากการกระทำละเมิดดังกล่าว จึงพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 2,350 บาท แก่ผู้ฟ้องคดี (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อร. 121/2567) 

คดีนี้ ... นับว่าเป็นอุทาหรณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ กรณีซึ่งมีกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนดผู้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาไว้ โดยการดำเนินการใดที่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลจำต้องพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันการกระทำโดยไม่มีอำนาจ และต้องรับผิดทางละเมิดเช่นในกรณีนี้ อันเกิดจากเหตุที่กรรมการจัดการแข่งขันได้พิจารณาตัดสิทธิการลงแข่งขัน เพื่อเป็นตัวแทนเขตของนักกีฬา เนื่องจากความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับคุณสมบัติของนักกีฬา อันเป็นอำนาจของจังหวัดหัวหน้าเขต ...นั่นเองครับ

(ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355)