ฟ้องเพิกถอนมติให้พิมพ์ ‘ลอตเตอรี่’เพิ่ม!

12 ธ.ค. 2564 | 07:02 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ธ.ค. 2564 | 14:02 น.

ฟ้องเพิกถอน มติให้พิมพ์ ‘ลอตเตอรี่’เพิ่ม! : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,739 หน้า 5 วันที่ 12 - 15 ธันวาคม 2564

แม้จะรู้ว่าโอกาสหยิบเงินล้านจากการถูกรางวัลที่ 1 มีไม่มากนัก แต่ทุกวันที่ 1 และวันที่ 16 ของเดือน แผงลอตเตอรี่น้อยใหญ่ดูจะคึกคักคลาคลํ้าไปด้วยลูกค้าทุกเพศทุกวัยที่ต่างพกพาความหวังว่าสักวันบุญคงหล่นทับได้เป็นเศรษฐีเงินล้านกับเค้าบ้าง

 

จริงๆ แล้ว สลากกินแบ่งรัฐบาล หรือลอตเตอรี่ หรือที่ชาวบ้านคุ้นเคยกันดีในชื่อของ “หวย” คือ การที่ผู้เสี่ยงทายต้องเลือกหรือซื้อหมายเลขที่ตนต้องการแล้วรอการออกรางวัลนั้นมีมานานแล้ว เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งมักจะเล่นอยู่แต่ในกลุ่มชาวจีน เรียกว่า “ฮวยหวย” 

 

เล่ากันว่ารายได้จากอากรหวยมีจำนวนมาก และเป็นรายได้สำคัญของรัฐในยุคนั้นเลยทีเดียว และต่อมาในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ได้มีการออกลอตเตอรี่ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อหารายได้บำรุงการกุศล จากนั้นในปี พ.ศ. 2475 จึงได้ให้มีการออกลอตเตอรี่เป็นประจำ และในที่สุดได้มีการจัดตั้งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลขึ้นในปี 2482 

 

ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจจากพิษของโรคโควิด-19 หลากหลายธุรกิจพากันหยุดชะงักหรือต้องปิดกิจการลง แต่ธุรกิจค้า “ความหวัง” อย่างลอตเตอรี่กลับเติบโตสวนกระแส และเมื่อปริมาณความต้องการซื้อมีมากขึ้น ย่อมส่งผลให้ลอตเตอรี่เป็นที่ต้องการและราคาสูงขึ้นตามหลักเศรษฐศาสตร์

 

คดีที่จะคุยกันในวันนี้ จึงเป็นเรื่องของสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือลอตเตอรี่ ดังที่เกริ่นไว้ข้างต้นโดยเป็นการฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ให้พิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการขายสลากฯ ราคาสูง ว่าอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือไม่? เพราะเหตุใด? 

 

เหตุของคดีเริ่มมาจากในปี พ.ศ. 2558-2561 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้ดำเนินการตามมติของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยจัดพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น

 

ผู้ฟ้องคดีเป็นมูลนิธิซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตื่นตัวทางสังคมให้ตระหนักถึงโทษภัยของการพนัน และปกป้องคุ้มครองสังคมจากผล กระทบของการพนัน เห็นว่า มติที่ให้พิมพ์สลากฯ เพิ่มดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีผลโดย ตรงต่อการเพิ่มขึ้นของการซื้อสลากฯของประชาชน กลายเป็นการพนันที่ประชาชนเล่นมากที่สุด 

 

ทั้งที่เป็นเรื่องต้องมีการควบคุม อันขัดต่อความสงบเรียบ ร้อยของสังคม และยังขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 57 ที่บัญญัติให้ การดำเนินการของรัฐที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตหรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชน รัฐต้องดำเนินการศึกษาประเมินผลกระทบ และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนดำเนินการ ซึ่งมิได้มีการดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใด

 

ฟ้องเพิกถอนมติให้พิมพ์ ‘ลอตเตอรี่’เพิ่ม!

 

 

ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้พิพากษาเพิกถอนมติของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) และให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ดำเนินการควบคุมไม่ให้มีการขายสลากฯเกินราคาแทนการพิมพ์สลากฯ จำนวนเพิ่มมากขึ้น 

 

คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาก่อนว่า ... ข้อพิพาทดังกล่าวอยู่ในอำนาจของศาลปกครองหรือไม่ ซึ่งจะต้องพิจารณาให้ได้ความว่า มติของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล มีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครองหรือไม่  ถ้าเป็น ก็จะเป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง แต่ถ้าไม่เป็น ก็จะอยู่ในอำนาจของศาลอื่นคือศาลยุติธรรม ... นั่นเองครับ 

 

สำหรับลักษณะของคำสั่งทางปกครอง มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ได้ให้คำนิยามว่าคือ การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน 

 

กรณีมติของคณะกรรม การสลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าวถือเป็นคำสั่งทางปกครองหรือไม่ นั้น 

 

ศาลปกครองสูงสุดท่านได้พิจารณาว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นรัฐวิสาหกิจ  ที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติมีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการ ออกสลากกินแบ่งรัฐบาล และกระทำการอื่นใดที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีสถานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ 

 

แต่การจัดพิมพ์สลากฯ เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชน เพิ่มขึ้นนั้น เป็นเพียงการจัดการเกี่ยวกับการจำหน่ายสลากฯ ให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดเท่านั้น มิได้มีสภาพบังคับทางกฎหมายกับประชาชน หรือผู้ใดที่จะต้องกระทำการหรือไม่กระทำการใดโดยปราศจากความสมัครใจ จึงมิได้มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอนสงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล 

 

มติดังกล่าวจึงมิใช่คำสั่งทางปกครอง และการดำเนินการตามมติย่อมมิใช่การดำเนินการทางปกครองเช่นกัน กรณีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับคำสั่งทางปกครองและไม่ใช่คดีปกครองที่จะอยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1)  แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คร. 11/2563)

 

จะเห็นได้ว่า... คดีปกครองนั้น มิใช่แต่เพียงมีคู่กรณีเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น แต่จะต้องพิจารณาลักษณะของข้อพิพาทด้วยว่าเป็นคดีปกครองหรือไม่ ซึ่งข้อพิพาทที่เกี่ยวกับคำสั่งทางปกครอง ถือเป็นคดีปกครองประเภทหนึ่ง

 

ฉะนั้น มติหรือคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะอยู่ในอำนาจของศาลปกครองย่อมต้องมีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครองดังที่กล่าวไปแล้ว เมื่อมติของคณะกรรมการผู้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาเรื่องใด มิได้มีสภาพบังคับ หรือสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล หรือกระทบสิทธิของผู้ใด ย่อมไม่ถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลอื่น ... ครับ 

 

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่ ... สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสามารถศึกษาการใช้สิทธิฟ้องคดีทางอิเล็กทรอนิกส์และปรึกษาคดีออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ศาลปกครอง www.admincourt.go.th)