สอนหนังสือเกินชั่วโมงที่กำหนด มีสิทธิรับค่าสอนเพิ่มหรือไม่?

05 ธ.ค. 2564 | 01:56 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ธ.ค. 2564 | 18:12 น.

สอนหนังสือเกินชั่วโมงที่กำหนด มีสิทธิรับค่าสอนเพิ่มหรือไม่? : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,737 หน้า 5 วันที่ 5 - 8 ธันวาคม 2564

การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 นอกจากจะส่งผล กระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนทั่วไปแล้ว ยังส่งผล กระทบกับเด็กนักเรียน นิสิต นักศึกษา และคุณครู หรือ อาจารย์ ที่ต้องจัดการเรียนการสอนกันทางออนไลน์ แทนการเรียนในสถานศึกษาตามปกติ ซึ่งการเรียนในรูปแบบออนไลน์นี้ มีความท้าทายทั้งผู้สอน ผู้เรียน รวมทั้งผู้ปกครอง ที่ต่างก็ต้องปรับตัวภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ โดยผู้ที่รับบทหนักในการสื่อสารถ่ายทอดความรู้ เห็นทีจะเป็นคุณครู หรือ อาจารย์ 

 

วันนี้นายปกครอง ... มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเรียนการสอนมาฝาก โดยเป็นกรณีของอาจารย์ที่ได้ทำการสอนเกินกว่าจำนวนชั่วโมงที่สถานศึกษากำหนดไว้ จะมีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนที่นอกเหนือไปจากเงินเดือนหรือค่าจ้างตามปกติหรือไม่?  

 

เรื่องนี้นับว่าเป็นแนวทางการใช้สิทธิเรียกร้องของอาจารย์อันเกิดจากการสอนเกินภาระงานตามปกติครับ... 

 

คดีนี้เกิดจาก... อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่ง ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ได้มีหนังสือขอเบิกเงินค่าสอนเกินภาระงานสอนที่กำหนดไว้ในแต่ละภาคการศึกษา ซึ่งได้รับแจ้งจากอธิการบดีว่า มีปัญหาการจัดสรรงบประมาณ และอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่ก็ไม่มีการจ่ายค่าสอนดังกล่าวเสียที

 

อาจารย์จึงนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลปกครองพิพากษาให้มหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งนั้น จ่ายเงินค่าสอนเกินภาระงานสอน พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

 

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในคดี คือ ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าสอนพิเศษและค่าสอนเกินภาระงานสอนในสถานศึกษาและสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2551 ข้อ 7 กำหนดให้เบิกจ่ายค่าสอนพิเศษและเงินค่าสอนเกินภาระงานสอนสำหรับการสอนในหลักสูตรปกติของสถานศึกษา หรือสถาบันอุดมศึกษา โดยมีค่าสอนพิเศษและค่าสอนเกินภาระงานสอนในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าอัตราชั่วโมงละ 400 บาท 

 

ข้อ 15 กำหนดให้ตำแหน่งวิชาการซึ่งทำหน้าที่สอนและวิจัยหรือทำหน้าที่วิจัยโดยเฉพาะ ได้แก่ศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และ อาจารย์ซึ่งสอนในระดับปริญญาตรีขึ้นไป หรือ เทียบเท่า มีสิทธิได้รับเงินค่าสอนเกินภาระงานสอนสำหรับจำนวนชั่วโมงที่ต้องทำการสอนในหนึ่งภาคการศึกษา 150 หน่วยชั่วโมง 

 

ข้อบังคับสภามหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งนั้น ว่าด้วยการกำหนดภาระงานสอนนักศึกษาภาคปกติระดับปริญญาตรีขึ้นไป พ.ศ. 2552 ข้อ 5 กำหนดว่า ผู้ทำการสอนที่เป็นข้าราชการประจำมหาวิทยาลัยที่ดำรงตำแหน่งวิชาการ ให้มีภาระงานสอน 150 หน่วยชั่วโมงต่อภาคการศึกษา

 

สอนหนังสือเกินชั่วโมงที่กำหนด มีสิทธิรับค่าสอนเพิ่มหรือไม่?

 

คดีมีประเด็นที่ศาลต้องพิจารณาว่า ผู้ถูกฟ้องคดี (มหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งนั้น) จะต้องรับผิดชำระเงินค่าสอนเกินภาระงานสอนให้แก่ผู้ฟ้องคดี (อาจารย์) หรือไม่ เพียงใด? 

 

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีมีภาระงานสอนตามข้อ 5 ของข้อบังคับฯว่าด้วยการกำหนดภาระงานสอนนักศึกษาภาคปกติฯ จำนวน 150 หน่วยชั่วโมงต่อภาคการศึกษา โดยผู้ฟ้องคดีได้ทำการสอนใน 2 ภาคการศึกษา คือ จำนวน 276 ชั่วโมงและจำนวน 240 ชั่วโมง อันเป็นการสอนเกินภาระงานสอนจำนวน 126 ชั่วโมง และ 90 ชั่วโมงตามลำดับ

 

ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าสอนเกินภาระงานสอน ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าสอนพิเศษ และค่าสอนเกินภาระงานสอนในสถานศึกษาและสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2551 ข้อ 15 ซึ่งเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งนั้น ที่จะต้องเบิกจ่ายค่าสอนให้แก่ผู้ฟ้องคดี และถือเป็นความรับผิดอย่างอื่นที่ผู้ฟ้องคดีจะเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งนั้นรับผิดต่อผู้ฟ้องคดีได้ 

 

การที่มิได้ดำเนินการเบิกจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ พิพากษาให้มหาวิทยาลัยราชภัฏดังกล่าว ชำระเงินค่าสอนเกินภาระงานสอน พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายให้แก่ผู้ฟ้องคดี (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 1182/2563)

 

คดีนี้ถือเป็นแนวทางการปฏิบัติราชการที่ดี... เกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินค่าสอนเกินภาระงานสอนของอาจารย์หรือผู้ทำการสอนในสถานศึกษา หรือ สถาบันการศึกษาต่างๆ ว่า หากมีการสอนเกินกว่าจำนวนชั่วโมงที่ระเบียบข้อบังคับของสถาบันการศึกษากำหนดไว้ต่อภาคการศึกษาแล้ว ผู้ทำการสอนมีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าสอนในส่วนที่เกินกว่าภาระงานสอนปกติ อันเป็นสิทธิที่กฎหมายรับรองไว้ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าสอนพิเศษและค่าสอนเกินภาระงานสอนในสถานศึกษาและสถาบันอุดม ศึกษา พ.ศ. 2551  

 

ทั้งนี้ จะต้องเป็นการสอนในหลักสูตรปกติ (มิใช่หลักสูตรภาคฤดูร้อนหรือหลักสูตรเสริมพิเศษเฉพาะด้าน) และเป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษาที่จะต้องเบิกจ่ายเงินค่าสอนให้ นับตั้งแต่การสอนเสร็จสิ้นในภาคการศึกษานั้นๆ โดยไม่อาจอ้างข้อขัดข้องด้านเงินงบประมาณมาเป็นเหตุปฏิเสธการจ่ายเงินได้ 

 

สำหรับการใช้สิทธิฟ้องเพื่อเรียกร้องค่าสอนดังกล่าวนั้น ต้องยื่นฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี เนื่องจากเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ... ครับ

 

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นเรื่องอื่นๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)