หน้าที่ประการหนึ่งของพลเมืองที่เป็นชายไทย เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ก็คือ การเกณฑ์ทหาร หรือ การคัดเลือกเป็นทหารตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ซึ่งมีการดำเนินการมายาวนานรวมถึงในต่างประเทศบางประเทศด้วย
โดยในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา ... ประเด็นเรื่องการเกณฑ์ทหารนี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นนโยบายในทางการเมือง ว่าเหมาะสมที่จะยังมีระบบดังกล่าวต่อไปหรือไม่ ซึ่งก็มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่คัดค้านด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป
สำหรับคดีที่นายปกครองได้นำมาคุยกันในวันนี้นั้น ... ก็เป็นกรณีของชายไทยรายหนึ่งที่ได้รับหมายเรียกให้ไปเกณฑ์ทหาร หลังจากที่ได้เคยขอผันผ่อนเนื่องจากอยู่ระหว่างการศึกษา โดยเห็นว่า หมายเรียกดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนหมายเรียกให้ตนไปเกณฑ์ทหาร
เรื่องนี้ ... มีประเด็นน่าสนใจก่อนที่จะพิจารณาถึงเนื้อหาของคดีว่า “หมายเรียกให้ไปเกณฑ์ทหาร” มีลักษณะเป็น “คำสั่งทางปกครอง” ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน หรือ เสียหายแก่ผู้ที่รับหมายเรียกแล้วหรือไม่ เนื่องจากการเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อน หรือ เสียหายถูกกำหนดให้เป็นเงื่อนไขประการหนึ่งในการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งที่ผ่านมาศาลปกครองได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาด้วยเหตุดังกล่าวจำนวนไม่น้อย โดยคดีนี้ก็เช่นเดียวกัน !
มูลเหตุของคดีมีอยู่ว่า ... นายชายได้รับหมายเรียกให้เข้ารับราชการทหาร โดยระบุให้ต้องไปแสดงตน ณ อาคารอเนกประสงค์ขององค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่ง ตามวันและเวลาที่กำหนด (หลังจากที่เคยได้ขอผ่อนผันมาแล้ว) นายชาย เห็นว่า หมายเรียกดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม (อาศัยความแตกต่างทางเพศ โดยเพศชายต้องเกณฑ์ทหาร)
รวมทั้งมีลักษณะเป็นการบังคับ ทั้งที่ปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม มิได้มีเหตุก่อการร้าย อันเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน และยังเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย เพราะระบบบังคับเกณฑ์ทหารเป็นการบังคับให้ทำในสิ่งที่บุคคลนั้น ไม่ต้องการโดยไม่มีทางเลือก ซึ่งขัดกับมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
คดีมีประเด็นที่ศาลต้องพิจารณาก่อนว่า ผู้ฟ้องคดีถือเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองหรือไม่ ? โดยต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า หมายเรียกที่พิพาทมีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครอง ซึ่งกระทบสิทธิและก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีแล้วหรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า หมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (สด. 35) เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอน พร้อมทั้งขอให้ศาลทุเลาการบังคับตามหมายเรียกนั้น และขอให้ศาลส่งคำโต้แย้งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 212 ของรัฐธรรมนูญ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นคดีปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้นั้น จะต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อน หรือ เสียหายหรืออาจจะเดือดร้อน หรือเสียหาย โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจากการกระทำ หรือ การงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครอง หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งการออกหมายเรียกดังกล่าวเป็นเพียงการเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง อันเป็นการพิจารณาทางปกครอง เพื่อนำไปสู่การบรรจุแต่งตั้งให้บุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเข้ารับราชการทหารกองประจำการต่อไป
ดังนั้น การออกหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร จึงยังไม่มีผลกระทบต่อสิทธิ หรือ หน้าที่ของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด และมิใช่คำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 (การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือ มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิ หรือ หน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวร หรือชั่วคราว)
กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหาย หรือ อาจจะเดือดร้อน หรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ
การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณานั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คร. 352/2564)
สรุปได้ว่า … การที่ศาลปกครองจะรับคำฟ้องเรื่องใดไว้พิจารณาได้หรือไม่นั้น นอกจากจะต้องเป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ยังต้องเป็นไปตามเงื่อนไขการฟ้องคดี
กล่าวคือ ผู้ฟ้องคดีต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน หรือ เสียหายหรืออาจจะเดือดร้อน หรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องมาจากการกระทำ หรือ การงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครอง หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ
รวมทั้งคำขอท้ายฟ้องจะต้องมีผลเป็นการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับโดยตรง และเป็นคำขอที่ศาลมีอำนาจตามกฎหมายในการที่จะกำหนดคำบังคับได้ ทั้งยังจะต้องฟ้องคดีภายในกำหนดเวลาอีกด้วย
สำหรับการฟ้องขอให้เพิกถอนหมายเรียกให้ไปเกณฑ์ทหารนั้น เมื่อศาลวินิจฉัยว่า หมายเรียกดังกล่าวยังมิใช่คำสั่งทางปกครอง เพราะเป็นเพียงการเตรียมการเพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง ซึ่งก็คือคำสั่งบรรจุแต่งตั้งให้รับราชการทหารกองประจำการ จึงถือว่าผู้ได้รับหมายเรียกยังไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย
หากแต่จะถือว่าเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อน หรือ เสียหาย ก็ต่อเมื่อได้รับคำสั่งบรรจุแต่งตั้งให้รับราชการทหารกองประจำการ ... นั่นเองครับ!
(สามารถศึกษาความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับคดีปกครองได้ที่ “ศูนย์การเรียนรู้ศาลปกครองออนไลน์”) https://aclib.admincourt.go.th/