ผมเคยแซวรุ่นน้องว่า “สังคมเรามักจะถามหาตัวอย่างกันตะพึด คิดจะแต่งงานกับใครวันใดวันหนึ่ง ก่อนจะส่งตัวเข้าห้องหอ อย่าลืมชวนผมไปสาธิตเป็นตัวอย่างนำร่องด้วยนะ” (ฮา)
ใครจะเอามุกนี้ไปพูดเล่นกับคนคุ้นเคยผมไม่หวงลิขสิทธิ์ ขอแค่พึงระวังอุปนิสัยว่า เขาสบายๆ หรือจริงจัง เผลอพูดล้อเล่นไม่ระมัดระวังประเดี๋ยวเขาจะเปลี่ยนจาก “แฟนคลับ” เป็น “กิ๊กคลับ” เกมชีวิตจะพลิกด้านจากการ “ดับทุกข์” กลายเป็น “จุดทุกข์” ไม่งั้นจะโดนแซะว่า ไม่สนใจการประเมินจึงมองข้ามการประมาณ
“หนุ่มยุคหิน” ไม่ต่างไปจาก “เด็กยุคพลาสติก” ตรงที่คนสองยุคต่างล้วนเอาแต่ใจตนเองเป็นหลัก หนุ่มยุคหิน มี “กระบองซึ่งมีรูปทรงคล้ายสาก” เห็นผู้หญิงเดินผ่านมารู้สึกว่าน่ารักก็ใช้กำลังกระชาก แล้วก็ใช้ “กระบาก” คือ กระบอง + สาก (ฮา) ทุบหัวโดยใช้โมเมนตัมประมาณไม่หนักไม่เบากะเอาแค่สลบ จากนั้นก็อุ้มสาวเข้าถ้ำ ไม่คิดจะปลุก สนใจแต่จะปล้ำ (ฮา)
ถ้าเรียกให้มาลงทรงเพื่อถามว่า “ทำอะไรทำไมไม่รู้จักคิด” เขาคงจะอ้างว่า “ไม่มีสุภาษิตให้อ่านเฟ้ย” ฟังแล้วน่าเห็นใจเพราะยุคนี้ก็ไม่มี ประวัติศาสตร์ให้เด็กอ่าน (ฮา)
“หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน!” หรือ “ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่” และ “ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม!” ล้วนเป็น “การจัดระเบียบในด้านวัฒนธรรมนำชีวิต” ตลอดทั้ง “การจัดระดับความสามารถในด้านการงาน” ลงทุน สร้าง และ จ้าง ไปแล้ว จะ “ได้” หรือ“ เสีย” ดู “นิสัย” กับ “ฝีมือ” เป็นหลัก ถ้าไม่ใช่อย่างที่ว่าแล้ว เถ้าแก่จากแต้จิ๋วเขาจะแนะนำหัวหน้างานฝ่ายพัฒนาบุคลากรเอาไว้น่าสนใจฝุดๆ ได้ไงว่า
มี “พรสวรรค์” มิสู้มี “ความรู้ดี”
มี “ความรู้ดี” มิสู้มี “ฝีมือดี”
มี “ฝีมือดี” มิสู้มี “นิสัยดี”
“เด็กยุคพลาสติก” เขามี บิ๊กดาต้า ข้อควรฉุกคิดมีอยู่ว่า ถ้าเขา รู้จักใช้ให้คุ้ม รู้จักคัดและคุมให้เฉียบรู้จักเปรียบเทียบ ระหว่าง “หวัง” (ประเมินข้อมูลที่ผลิดอกออกผล) กับ “กะ” (ประมาณความน่าจะเป็นจากข้อมูลที่บ่งชี้) จะได้ ปักหมุดตรงจุดมุ่ง ให้มันถูกกลุ่ม ถูกที่ ถูกเวลา
วันใดสามารถพัฒนาทักษะใด้านการ แลเห็น เล็งเห็น และ คิดเห็น เขามีสิทธิ์จะกลายพันธุ์เป็น “เถ้าแก่ Gen Z!” ได้อย่างอัศจรรย์เกินคาด จะอะไรก็ตาม อย่าลืมธรรมชาติของ นักคิดสร้างสรรค์ มักจะมีอารมณ์ขันเป็นพิเศษ
“เด็กยุคพลาสติก” หลายคน แผลงฤทธิ์ตั้งแต่วัยเยาว์ย่างเข้า 1 ถึง 6 ขวบ นั่งก้มหน้าเริงร่าอยู่กับหน้าจอของมือถือไม่เป็นอันกินอันนอน แม่คว้ามือถือเอาไปเก็บ เพราะมันเป็นโทรศัพท์ที่แม่ซื้อมาให้เรียนรู้จะได้เป็นกูรูในเร็ววัน ไม่ได้ซื้อมาให้นั่งดูเอามันไม่ยอมพักสายตา
“เด็กยุคพลาสติก” ลงไปนอนดิ้นเรียกร้องความสนใจ แม่ไม่คืนให้ก็ลุกขึ้นมาชกแม่ ย่อหน้านี้อย่าเอาไปแชร์ไม่งั้นผมจะแย่กว่าแม่ของ เด็กยุคพลาสติก! (ฮา)
“จุดเริ่มต้นอย่างไม่เป็นทางการในการประเมินประสิทธิภาพ” เป็น ชุดความคิด ที่มุ่ง “พรวนจิตใจ” ให้สังคมวิชาชีพรีบลุกขั้นมาร่วมกัน “สร้างรั้ว” และ “ติดตั้งประตู” จะได้บันทึกสถิติจากข้อเท็จจริงโดยตรงเพื่อกำหนดข้อตกลงให้เข้าทางตรอกออกทางประตู ไม่ให้ใครลักลอบละเมิดปีนเข้าปีนออกทางธรรมชาติ! (ฮา)
รั้ว คือ ขอบเขตของข้อตกลง ประตู คือ วัน เวลา การติดต่อ ผู้ที่เข้าๆ ออกๆ จะต้องแสดงตัวตนให้ถูกหลักเกณฑ์ ย่อมเกี่ยวข้องกับ บุคลิกภาพ คุณสมบัติของลูกจ้าง ชุดความคิดการประเมินประสิทธิภาพอย่างไม่เป็นทางการนี้เป็นจุดสตาร์ทอัพ ในการทดสอบการปรับตัวให้เป็นสัดเป็นส่วนคล้ายๆกับเด็กอนุบาลที่ฉลาดกว่าเด็กอู้อยู่กับบ้าน
คลิปดังในดงติ๊กต่อกตามประสาวัยอนุบาล เด็กคุยกับเพื่อนว่า “เด็กสอบได้ กับ เด็กสอบตก ครูรักเด็กคนไหนมากกว่ากัน” เป็นไปได้ว่า ผู้ปกครองก็อาจจะตอบพลาด เด็กก็หอบมุกเอามาตอบว่า “รักเด็กสอบตกสิ ไม่เคยได้ยินคำนี้เหรอ รักนะ…เด็กโง่!” (ฮา)
ในอีกมุมหนึ่ง เจ้าบ่าว เจ้าสาว จัดงานแต่งขึ้น ณ สำนักงานศาล ของ คูเวต หลังจากก้าวผ่านขั้นตอนพิธีแต่งงานที่ถูกต้องสมบูรณ์แบบ ฉับพลันก็มีคลื่นกรรมแซกเข้ามาแยกคู่
ในขณะที่ทั้งสองเดินออกมาจากศาล เจ้าสาวสะดุดชายกระโปรงล้มลงกับพื้น นอกจากเจ้าบ่าวไม่ได้เข้าไปช่วย ยังจะหัวเราะผิดงาน แถมถ้อยคำที่สั้น จุ๊ดจู๋พูดซ้ำเติมเจ้าสาวเพียงคำเดียวว่า “โง่!” เจ้าสาวโกรธสุดจึงมุดกลับเข้าไปในศาล แล้วขอให้ผู้มีอำนาจช่วยยุติสถานะการสมรส เป็นคู่ชีวิตที่อยู่กันสั้นที่สุดหลังจากเป็นสามีภรรยากันเพียง 3 นาที (โธ่!)
“รูปแบบการประเมินลูกน้องในยุคโลหะ” มีเครื่องมือเยอะ มีมาตรการติดตามผลแยะ มีกิจกรรมทดสอบเยี่ยม ปรากฏว่า ดวงชะตาบริษัทโดนกระแสปีชงฟาด มือถือไฟลุกโชน ยางรถยนต์ใหม่เอี่ยมขับไปได้ไม่กี่น้ำก็ปริแตก รถไม่ได้ขนกันแต่ถุงลมนิรภัยโป่งออกมาเอง
นำเอามาเล่าเพียงเพื่อจะบอกว่า มือโปรมีทุกยุค ความพร่องมีกันทุกสมัย ตราบใดที่เรายังคง ประมาณเกิน หรือ ประเมินขาด “การประเมินไม่ให้เกินประมาณ!” ไม่ใช่หน้าที่ของใครฝ่ายเดียว
นักธุรกิจผลิตกล้องวงจรปิด ท่านใดเดินทางย้อนยุคเอาไปขาย สมัยพระเจ้าเหา ชาวบ้านเขาจะบอกด้วยความสงสารแหละว่า “พ่อคุณเอ๊ย อุตส่าห์ย้อนยุคมาพันปี ที่นี่เขาไม่มี บริษัทมหาชน นะคะ” (ฮา)